Cloud Lovers : อากาศระดับสูงชื้นแค่ไหน…ให้ดู‘คอนเทรล’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

อากาศแห้ง : คอนเทรลอายุสั้น (สังเกตว่าส่วนปลายเริ่มจางลงจนเกือบหายไป) ภาพโดย ฐานิสา เกิดภู่
อากาศชื้น : คอนเทรลคงตัว
ภาพโดย ทิพพา อ่ำเอี่ยม

แหงนหน้ามองฟ้า บางครั้งอาจเห็นเส้นสีขาวพาดอยู่สูงลิบ บางเส้นก็สั้นจุ๊ดจู๋เกาะติดไปกับเครื่องบิน บางเส้นก็พาดยาวข้ามฟ้า แม้เครื่องบินต้นเหตุจะลับตาไปแล้ว แต่บางเส้นกลับแผ่ขยายออกไปข้างๆ ดูคล้ายขนนก ถนนบนฟ้า ฯลฯ แล้วแต่จินตนาการจะพาไป

เส้นสีขาวนี้คืออะไร? แล้ว “สั้น-ยาว-แผ่ออกข้าง” บอกอะไร? จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องเข้าใจการเกิดก่อนครับ

ก่อนอื่นเลย…บางคนนึกว่าเส้นนี้คือควัน แต่ไม่ใช่ เพราะแท้จริงแล้ว มันคือ “เมฆ” รูปแบบหนึ่ง หากใช้แว่นขยายส่องได้ เราจะเห็นผลึกน้ำแข็งเม็ดจิ๋วๆ มากมายมหาศาล

ผลึกน้ำแข็งที่ว่านี้มาจากไหน? ตอบสั้นๆ ว่า อากาศมีไอน้ำ หรือโมเลกุลน้ำอยู่ปริมาณหนึ่งแล้ว แต่โมเลกุลเหล่านี้เคลื่อนที่ว่องไว และอยู่กระจัดกระจาย ทีนี้หากมีเครื่องบินไอพ่นบินผ่าน ฝุ่นผงจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์จะทำตัวคล้ายๆ “แกนนำม็อบ” ดึงดูดโมเลกุลของน้ำที่อยู่รอบๆ ให้มารวมกลุ่มกัน ภาษาวิทย์เรียกว่า การควบแน่น

Advertisement
อากาศชื้นมาก : คอนเทรลคงตัวและแผ่กระจาย
ภาพโดย ทิพาพร เหมือนสมัย

แต่ความสูงระดับเครื่องบิน ราวๆ 8-10 กิโลเมตรนี่ อากาศเย็นจัดถึง -40 องศาเซลเซียส ผลก็คือ โมเลกุลของน้ำจะเกาะกลุ่มกันกลายเป็นผลึกน้ำแข็งโดยตรง ผลึกน้ำแข็งจิ๋วๆ จำนวนมหาศาลนี้หากมองในภาพรวมก็คือ เมฆ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ชื่อของเมฆเส้นนี้จึงเรียกว่า คอนเทรล (contrail) ย่อมาจากคำว่า condensation (การควบแน่น) + trail (แนวเส้น) นั่นเอง

แล้วเรื่องที่คอนเทรล “สั้น-ยาว-แผ่ออกข้าง” ล่ะ? หลักการเรียบง่ายครับ คือ ณ ระดับความสูงของเครื่องบิน….

Advertisement

☐ ถ้าอากาศแห้ง : เส้นจะสั้น เรียกว่า คอนเทรลอายุสั้น (short-lived contrail)
☐ ถ้าอากาศชื้น : เส้นจะยาวและอยู่นาน เรียกว่า คอนเทรลคงตัว (persistent contrail)
☐ ถ้าอากาศชื้นมาก : เส้นจะแผ่ออกด้านข้าง เรียกว่า คอนเทรลคงตัวและแผ่กระจาย (persistent spreading contrail)

คุณผู้อ่านลองดูภาพที่เพื่อนๆ สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆเก็บมาฝาก แล้วจินตนาการไปถึงระดับความชื้นในอากาศขณะนั้นสิครับ

แถมให้อีกภาพคือ เส้นคอนเทรลอาจขาดๆ แหว่งๆ แบบนี้เรียกว่า คอนเทรลคงตัวแต่ขาดวิ่น (intermittent persistent contrail) เกิดจากอากาศมีปริมาณไอน้ำไม่สม่ำเสมอ ตรงไหนมีไอน้ำน้อย เส้นก็ขาดหายไป ตรงไหนมีไอน้ำมาก เส้นก็หนาคมชัด

คอนเทรลคงตัวแต่ขาดวิ่น
ภาพโดย Nann G Hathaigahn

 

บางท่านอาจสงสัยว่า เราจะสนใจคอนเทรลไปทำไมกัน?

อะแฮ่ม!…ผมขออ้างถึง NASA เพื่อให้ขลัง นักวิทย์ของ NASA สนใจคอนเทรลคงตัว เพราะว่ามันกลายเป็นเมฆซีร์รัสได้ บางทีเรียก contrail cirrus เรื่องของเรื่องก็คือ รู้กันมาพักหนึ่งแล้วว่าเมฆซีร์รัสสามารถทำให้โลกอุ่นขึ้น ดังนั้น หากมีคอนเทรลคงตัวมาก ก็ย่อมมีเมฆซีร์รัสมากตามไปด้วย ยิ่งเดี๋ยวนี้ผู้คนชอบเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของคอนเทรลเข้าไปอีก

ส่วนภาพที่ใหญ่กว่าก็คือ เมฆมีผลกระทบต่อเรื่องโลกร้อน และเป็นตัวแปรที่ยังต้องศึกษาอีกมากนี่ เอาไว้ผมจะหาจังหวะเหมาะๆ มานำเสนอนะครับ

แถมให้อีกนิดว่า International Cloud Atlas ของ WMO หรือ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ล่าสุดได้กำหนดให้เรียก คอนเทรลคงตัวที่อยู่นานอย่างน้อย 10 นาทีว่า Cirrus homogenitus (ซีร์รัส โฮโมเจนิตัส) แปลว่า เมฆซีร์รัสที่เกิดจากมนุษย์

คำว่า homo คือ มนุษย์ + genitus คือ ให้กำเนิด นึกถึงคำว่า generate ที่แปลว่า ผลิต ก็ได้ครับ
แต่หากคอนเทรลคงตัวได้เปลี่ยนรูปร่างไปมาก จนกลายเป็นเมฆซีร์รัสบางรูปแบบ ก็จะเรียกว่า Cirrus ตามด้วย ชื่อชนิด/พันธุ์/ลักษณะเสริม ตามด้วย homomutatus (โฮโมมิวเตตัส) ปิดท้าย เช่น Cirrus fibratus homomutatus (ซีร์รัส ไฟเบรตัส โฮโมมิวเตตัส) เป็นต้น

คำว่า mutatus หมายถึง กลายพันธุ์ นึกถึงคำว่า mutant หรือ มนุษย์กลายพันธุ์ในหนังเรื่อง X-men ก็ง่ายดีน

เห็นคอนเทรลเมื่อไหร่ อย่าลืมคว้ากล้องขึ้นมาแชะ โพสต์ภาพในโซเชียลมีเดีย พร้อมกำกับชื่อเรียกเท่ๆ เอาไว้ให้เพื่อนๆ ได้ทึ่งเล่น….ดีมั้ยครับ?

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

ขอแนะนำเว็บ Contrail Education
ของ NASA Langley Reseach Center
ที่ https://science-edu.larc.nasa.gov/contrail-edu/
หรือสแกน QR Code

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image