สุจิตต์ วงษ์เทศ:ท้องถิ่นสิ้นเสน่ห์ ไม่เก๋ไก๋ เพราะถูกทำลายเหี้ยนด้วยอำนาจของ “แห่งชาติ”

ท้องถิ่นสิ้นเสน่ห์ ไม่เก๋ไก๋ เพราะถูกทำลายเหี้ยนด้วยอำนาจของ “แห่งชาติ”

จากประตูชัยด้านในเมือง มีถนนตรงสู่ประตูปราสาทพิมาย เป็นแกนนำสายตาบนเส้นทางหลักของเมืองพิมาย แต่ขาดคำแนะนำให้คนทั่วไปรับรู้แลนด์มาร์กนี้ซึ่งมีเสน่ห์เก๋ไก๋

 

ท้องถิ่นไทยส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด ล้วนมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นทรัพยากรท่องเที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋อย่างยิ่ง

แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเหล่านั้นถูกลดทอนบ่อนทำลาย จนถึงถูกกำจัดโดยประวัติศาสตร์แห่งชาติแบบอาณานิคม ด้วยอำนาจผูกขาดความรู้ของรัฐราชการ (ได้แก่กระทรวงศึกษาและกระทรวงวัฒนธรรม)

Advertisement

เมืองพิมาย

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในไทย ซ้อนทับด้วยประวัติศาสตร์ราชธานีที่ได้จากประวัติศาสตร์แห่งชาติแบบอาณานิคม ในที่สุดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็ล่มจมล่มสลายหายไปไม่เหลือซาก

มีตัวอย่างสำคัญมาก คือ เมืองพิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา

Advertisement

แห่งชาติอาณานิคม

ประวัติศาสตร์แห่งชาติแบบอาณานิคม โดยสรุปว่าเมืองพิมายมีปราสาทพิมายเป็นศูนย์กลาง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบขอมสมัยลพบุรี เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรกัมพูชา ราว พ.ศ. 1650 ต่อมาเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ราว พ.ศ.1750

หนังสือนำชมทั้งเล่มพรรณนาอย่างละเอียดถึงศิลปกรรมของซากโบราณสถาน ตามประวัติศาสตร์ศิลปะแบบอาณานิคม โดยไม่บอกประวัติศาสตร์สังคมเกี่ยวกับพัฒนาการของเมืองพิมายด้านต่างๆ เช่น ศาสนาการเมือง, เศรษฐกิจการเมือง และวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นๆ

แห่งท้องถิ่น

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองพิมาย มีอย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มร่วมสมัย กับกลุ่มชาวบ้าน

  1. กลุ่มร่วมสมัย มีคำอธิบายได้จากการศึกษาค้นคว้าตามหลักฐานพบใหม่ เมือง พิมายมีความเป็นมา ดังนี้

(1) บรรพชนเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม ตั้งชุมชนราว 3,000 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นมีการค้าทางไกล จนค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นเมือง

(2) เจ้าเมืองพิมายเป็นบรรพชนกษัตริย์กัมพูชาที่สร้างนครวัดนครธม แล้วเป็นเครือญาติรัฐละโว้ รัฐอยุธยา

(3) พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาขยายอำนาจขึ้นไปครอบครองดินแดนเมืองพิมาย ตั้งแต่เรือน พ.ศ. 2000 แล้วสร้างเมืองนครราชสีมา ทำให้คนพิมายพูดสำเนียงโคราชเหมือนสำเนียงอยุธยา มีเพลงโคราชเหมือนเพลงฉ่อยของภาคกลาง

(4) หลังกรุงแตกมีก๊กเจ้าพิมาย และมีนิทานกลอนตำนานเมืองพิมายเป็นต้นแบบกลอนสุนทรภู่ จนถึงยักษ์สุข ปราสาทหินพิมาย นักมวยลือชื่อ กับเรื่องอื่นๆ อีกมาก

ฯลฯ

  1. กลุ่มชาวบ้าน มีคำบอกเล่าเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม ตกทอดจากความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2000 (แพร่หลายในรัฐอยุธยา ดูจากโคลงทวาทศมาศ)

คำบอกเล่านี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์เมืองพิมายที่เป็นจริง แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดร่วมกันของคนพิมายที่มีชีวิตร่วมยุคที่บอกเล่า โดยแสดงความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมเชื่อมโยงถึงลาวและเขมร ซึ่งมีค่าอย่างยิ่ง

เก๋ไก๋อย่างยิ่ง และอย่างยั่งยืนมาแล้วหลายร้อยปี

แต่แล้วด้วยคำสั่งของรัฐราชการไทยไม่สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีกิจกรรมในเมืองพิมายเกี่ยวข้องนิทานเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม ซึ่งถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งนายกฯ จะคัดข่าวมาแบ่งปัน ดังนี้

ศธ. รับลูกนายกฯ เสริมความรู้ท้องถิ่น ทั้งดูงาน-สอน “แอ๊กทีฟเลิร์นนิ่ง

จากกรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่น ที่ปลูกฝังจิตสำนึกรักบ้านเกิดผ่านกระบวนการการจัดการเรียนการสอน ให้กับนักเรียนในพื้นที่นั้นๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง เช่น เมืองนารา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น มีการจัดเรียนการสอนวิชานาราศึกษา

นายกฯ ได้มอบหมายให้ นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. พิจารณาให้สถานศึกษาที่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ จัดการเรียนการสอนท้องถิ่นศึกษาขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น นพ. ธีระเกียรติ จึงมอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั่วประเทศ ส่งเสริมให้สถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ จัดการเรียนการสอนตามนโยบายนายกฯ

นพ. ธีระเกียรติกล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะมอบหมายให้ ศธจ. ทั่วประเทศ ร่วมกับครูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวบรวมข้อมูลความรู้ของแต่ละจังหวัด เพราะปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงานต่างๆ ทำไว้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ด้านวัฒนธรรม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกมิติของจังหวัดโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม หรือด้านเทคโนโลยี

ศธ. จะมอบหมายให้ ศธจ.โดยศึกษานิเทศก์ออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนในรูปแบบแอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง เช่น ให้เด็กได้ไปทัศนศึกษา ลงมือปฏิบัติจริง มีเวทีแสดงความคิดเห็น หรือได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ จากนั้นจะประเมินผลจากความรู้ความเข้าใจของตัวเด็ก ไม่มีการประเมินโดยข้อสอบข้อเขียน โดยตั้งเป้าจะเริ่มจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2/2560 เป็นต้นไป

(ที่มา : ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 หน้า 19)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image