แนวโน้ม การเมือง หลังคดี ‘พันธมิตร’ ชุมนุม ถึง คดี ‘จำนำข้าว’

หลังผ่านการอ่านคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ปฏิกิริยาซึ่งมาจาก “พันธมิตร” เข้มข้น

เป็นปฏิกิริยาอันเด่นชัดยิ่งว่า ไม่ว่าหลังการอ่านคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะออกมาอย่างไร

“ปฏิกิริยา” ย่อมบังเกิดตามมาอย่างแน่นอน

Advertisement

เป็นปฏิกิริยาที่คือตะกอนนอนก้นทางการเมืองจากก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ตกอยู่บนบ่า “คสช.” มิใช่ใครที่ไหน

กรณีคดีความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเท่ากับเป็นการสะท้อนลักษณะ “รวมศูนย์” ในทางการเมืองในห้วง 1 ทศวรรษหลังของสังคมประเทศไทย

Advertisement

จะแหวก “ม่าน” แห่งความขัดแย้งได้หรือไม่

แม้ว่าในที่สุดแล้ว “เป้าหมาย” ใหญ่ในทางการเมืองจะคือ การรุกและขับต้อนพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน รวมถึงพรรคเพื่อไทยเข้าสู่มุมอับ

แต่ในแต่ละ “ขั้นตอน” ของปฏิบัติการก็ไม่ควรมองข้าม

ถามว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพื่อโค่นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยใครมีบทบาทในการปูทางและสร้างเงื่อนไข

ตอบได้เลยว่า “พันธมิตร”

ถามต่อไปอีกว่าก่อนกระบวนการรัฐประหารผ่าน “ตุลาการภิวัฒน์” ในเดือนสิงหาคมและในเดือนธันวาคม 2551 เพื่อโค่น

นายสมัคร สุนทรเวช และพรรคพลังประชาชนจะประสบความสำเร็จใครมีบทบาทในการปูทางและสร้างเงื่อนไข

ตอบได้เลยว่า “พันธมิตร”

สถานการณ์ที่ “พันธมิตร” ประสบหลังอ่านคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551 จึงเท่ากับเป็นการสะกิดแผลเก่า

แผลเก่าจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างนี้แหละ คือ สัญญาณอย่างสำคัญต่อผลจากคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เพราะอย่างน้อยก็มี 2 กลุ่มทางการเมืองให้ความสนใจเป็นอย่างสูง

พรรคเพื่อไทยและ นปช.อันเป็นพันธมิตรของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นตัดออกไปได้เลย เพราะถูกตัดแขน ตัดขาแล้วอย่างแทบจะหมดสิ้น

แต่ “พันธมิตร” และ “กปปส.” ต่างหากที่ทรงความหมาย

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจมีบทบาทเป็นอย่างสูงห้วงก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เช่นเดียวกับ กปปส.มีบทบาทเป็นอย่างสูงในห้วงก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

แต่จะ “ตัด” รัฐประหาร 2 รัฐประหารนี้ออกจากกันได้ละหรือ

ไม่ว่าในที่สุด คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะออกมาอย่างไร

ล้วนมีแรงสะเทือนทาง “การเมือง”

เป็นแรงสะเทือนที่ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะมองเห็นเส้นทางยุติ ตรงกันข้าม กลับจะยิ่งขยายความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมา 10 กว่าปีทอดยาวออกไปอีก

เส้นทางการเมืองนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 จึงเป็นเส้นทางที่มีปัญหาทางด้านการจราจรทางการเมืองปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัด

อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

เพราะแม้จะมี “ไฟแดง” ประสานกับ “ไฟเหลือง” และแม้จะมี “ไฟเขียว” แต่ดูเหมือนว่าคนขับขี่ยวดยานจะให้ความเชื่อถือน้อยมาก

เป็นจราจรทางการเมืองที่โน้มเอียงไปในทาง “อนาธิปไตย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image