ปฏิกิริยา ข้างเคียง จาก พันธมิตร สู่ ‘นปช.’ การเมือง สะเทือน

สังคมค่อยๆ รับรู้มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับจากผลสะเทือนและแรงกระทบเนื่องแต่ “ปฏิกิริยา” ต่อคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ของพันธมิตร

รับรู้ในความไม่พอใจของ “พันธมิตร”

ไม่ว่าจะเป็นบริเวณพื้นที่หน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในวันต่อมา

สรุปได้อย่างรวบรัดว่า “ร้อนแรง”

Advertisement

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสารจากโรงเรียนนายร้อย จปร.เขาชะโงก นครนายก ปรามมิให้พันธมิตรเคลื่อนไหวในลักษณะ “ชุมนุม”

ปฏิกิริยาจาก “พันธมิตร” ยิ่งดุเดือด เข้มข้น

ผลก็คือ สังคมได้นำเอาปฏิกิริยาและท่าทีของ “พันธมิตร” ไปเปรียบเทียบกับปฏิกิริยาและท่าทีของพรรคเพื่อไทยและ นปช.คนเสื้อแดงโดยอัตโนมัติ

Advertisement

อัตโนมัติในความแตกต่าง

ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยและ นปช.คนเสื้อแดงอยู่ในสถานะที่ถูกกระทำ ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เห็นได้จากการถูก “ถอดถอน” เห็นได้จากการถูก “จำคุก”

ไม่ว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ไม่ว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ล้วนถูกอย่างถ้วนหน้า ยิ่ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ยิ่งอยู่ในเรือนจำ

แม้รู้สึกว่าการดำเนินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขัดกับความรู้สึกอย่างยิ่ง

เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำในฐานะรัฐบาล และดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญครบถ้วน

แต่อย่างมากที่ “มวลชน” สำแดงออกคือให้ “กำลังใจ”

ไม่มีการยกป้ายเต็มไปด้วยข้อความอันเคียดแค้นและอาฆาต การไปบริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีแต่เพียงดอกไม้

เคารพศาล ให้เกียรติตำรวจอย่างเต็มที่

สถานการณ์บริเวณหน้าศาลในวันที่ 2 สิงหาคม จึงแตกต่างไปจากสถานการณ์บริเวณหน้าศาลในวันที่ 1 สิงหาคม อย่างสิ้นเชิง

คำถามจึงเสนอไปยัง 1 คสช.และ 1 รัฐบาล

อาการ “ป้องปราม” อันมาจาก “แผนกรกฎ 52” ต่อพรรคเพื่อไทยและ นปช.กับต่อพันธมิตรดำเนินไปอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกันหรือไม่

รูปธรรม 1 เห็นได้จากการต้องข้อกล่าวหาของ นายวัฒนา เมืองสุข

ไม่เพียงแต่จะนำเอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือ หากแต่ยังไปไกลถึงขนาดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

รุนแรงถึงขั้นอาจนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาล

มีการแจ้งข้อกล่าวหาในเรื่อง พ.ร.บ.การจราจรกับรถ 21 คัน ที่นำมวลชน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแต่ไม่เคยเอ่ยถึงมวลชนพันธมิตรที่มายกป้าย ด่าทอ อดีตนายกรัฐมนตรี

ยิ่งกว่านั้น ท่าทีของ ป.ป.ช.ต่อคดีก็ไม่เหมือนกัน

โดยเฉพาะระหว่างคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551 กับคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

นับวันข้อเปรียบเทียบจะยิ่งลงลึก

เหมือนกับปัญหาอันเนื่องแต่คดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551 จะอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.อย่างเป็นด้านหลัก

นั่นก็คือ จะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์

แต่การกดดันของ “พันธมิตร” นำไปสู่ความรู้สึกร่วมของ “นปช.คนเสื้อแดง” เพราะความเสียหายของคดีมีความแตกต่างอย่างเด่นชัด

ในที่สุด ทั้งหมดจะรวมศูนย์ไปยัง “คสช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image