สรุปยอดต่างด้าว7.7แสนคน เริ่มขั้นตอนพิสูจน์ความสัมพันธ์

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 8 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงานได้เปิดการพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง ลูกจ้างต่างด้าวสัญชาติพม่า กัมพูชา และลาว เป็นวันแรกภายหลังจากที่ได้มาแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ถึงวันที่ 7 สิงหาคม โดยบรรยากาศที่จุดพิสูจน์ความสัมพันธ์ฯ 30 โต๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ที่กระทรวงแรงงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีนายจ้างพาลูกจ้างที่เป็นต่างด้าวไปรอรับการพิสูจน์ความสัมพันธ์เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกพบว่ามีปัญหาในเชิงเทคนิคจึงทำให้เปิดบริการไม่ครบทุกโต๊ะ อีกทั้งยังมีขั้นตอนการสัมภาษณ์ที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นที่กระแรวงแรงงานตั้งเป้าจะพิสูจน์ให้ได้วันละ 500 คิว จึงค่อนข้างยาก

เวลา 10.30 น.นายอนันชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงผลการดำเนินการของศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ถึง วันที่ 7 สิงหาคม ทั้งในระบบยื่นเอกสาร ณ จุดบริการ 100 ศูนย์ทั่วประเทศ และระบบออนไลน์ พบว่า มีนายจ้างยื่นคำขอใช้แรงงานต่างด้าว จำนวน 216,410 ราย รวมแรงงาานทั้ง 3 สัญชาติ จำนวน 771,371 ราย แบ่งเป็น สัญชาติพม่า 447,623 ราย กัมพูชา 226,826 ราย และ ลาว 96,922 ราย จังหวัดที่มีการขอยื่นใช้แรงงานต่างด้าวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 153,164 ราย ชลบุรี 60,815 คน ตาก 41,499 ราย สมุทรปราการ 40,804 ราย และเชียงใหม่ 37,154 ราย และจังหวัดที่มีนายจ้างยื่นคำขอใช้แรงงานต่างด้าวน้อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยโสธร 104 ราย อุตรดิตถ์ 157 ราย ร้อยเอ็ด 161 ราย อำนาจเจริญ 167 ราย และ มหาสารคาม 184 ราย ประเภทกิจการที่ยื่นคำขอมากที่สุด ได้แก่ กิจการก่อสร้าง ภาคเกษตรและปศุสัตว์ และกิจการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

นายอนันชัย แถลงอีกว่า การพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม ถึง วันที่ 6 กันยายน 2560 โดยหลังจากได้เปิดให้นายจ้างยื่นคำขอใช้แรงงานในขั้นตอนที่ 1 นายจ้างจะได้รับใบนัดเพื่อนำแรงงานต่างด้าวไปพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 โดยขอให้นายจ้างและผู้ประกอบการไปตรงตามเวลาที่นัดหมาย ซึ่งในแต่ละหน่วยบริการจะเปิดรับให้บริการวันละ 500 คนและให้บริการอย่างสมบูรณ์จนถึงคนสุดท้ายในแต่ละวัน สำหรับนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องเดินทางมาด้วยตนเองเท่านั้น และหากนายจ้างเป็นผู้ประกอบการห้างร้าน (นิติบุคคล) สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทนได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจ 1 ฉบับ สำหรับการพิสูจน์สัญชาติต้องนำลูกจ้างมาตามคำขอด้วย

“สำหรับกระบวนการพิสูจน์จะแบ่งเป็นการพิสูจน์ ดังนี้ 1.พิสูจน์จำนวนตามที่ยื่นคำขอไว้ในขั้นตอนที่ 1 เพื่อแสดงว่ามีลูกจ้างตามจำนวนจริง 2.บุคคลได้ตรงตามรูปถ่ายที่ยื่นคำขอใช้แรงงานต่างด้าวหรือไม่ 3.ได้เป็นนายจ้างหรือลูกจ้างจริงหรือไม่ โดยไม่ใช่การแอบอ้างการเป็นนายจ้างและลูกจ้าง และ 4.ไม่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยหากเป็นเด็กในระหว่างอายุ 15-18 ปีจะตรวจสอบว่าเป็นงานที่ทางกฎหมายได้อนุญาตให้ทำหรือไม่ หลังจากพิสูจน์ความสัมพันธ์แล้ว เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือรับรองการจ้างให้แก่แรงงานต่างด้าวแต่ละคน พร้อมติดรูปถ่ายบนเอกสาร ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะต้องนำเอกดังกล่าวไปสู่ขั้นตอนที่ 3 การพิสูจน์สัญชาติ” นายอนันตชัย กล่าวและว่า ในส่วนของขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ สำหรับพม่าและกัมพูชา สามารถเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติยังศูนย์ตรวจสัญชาติที่ประเทศต้นทางได้เปิดให้บริการ โดยพม่าได้เปิดบริการแล้วใน 5 จังหวัด 6 ศูนย์ ได้แก่ จ.สมุทรสาคร 2 ศูนย์ จ.สมุทรปราการ จ.ระยอง อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย และในอนาคตจะเปิดเพิ่มอีก 3 ศูนย์ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.นครสวรรค์และ จ.สงขลา โดยนายจ้างสามารถให้แรงงานที่ได้ผ่านการคัดกรองในขั้นตอนที่ 2 สามารถไปชำระเงินได้ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นชำระค่าธรรมเนียม (CI) ในอัตรา 310 บาท ก่อนที่จะออกวันเวลาสถานที่แนบท้ายใบเสร็จเพื่อให้ศูนย์ตรวจสัญชาติต่อไป ส่วนกัมพูชาได้ยืนยันว่าจะเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง จ.สงขลา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาสถานที่และเตรียมอุปกรณ์ในการออกเอกสารในปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยศูนย์พิสูจน์สัญชาติจะเป็นไปแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนสัญชาติลาว จนถึงขณะนี้ ทางการลาวยังไม่แจ้งว่าจะเข้าเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติในประเทศไทย

Advertisement

“ดังนั้น เบื้องต้นหลังจากที่ผ่านการคัดกรองแล้ว จะต้องไปติดต่อยังสถานฑูตลาวในกรุงเทพฯ และกงศุลลาวใน จ.ขอนแก่น เพื่อขอหนังสือรับรองไปยังประเทศต้นทางและกลับเข้ามาทำงานแบบเอ็มโอยู อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปเจรจรากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของ สปป.ลาว ขอให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสัญชาติ ล่าสุด สปป.ลาว รับปากจะไปหารือร่วมกับรัฐบาลอีกครั้ง จากนั้นจะแจ้งให้ทางการไทยรับทราบต่อไป” นายอนันตชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แรงงานต่างด้าว 7.7 แสนคน เป็นไปตามเป้าหรือไม่ นายอนันตชัย กล่าวว่า ในช่วงแรกหลัง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ประกาศใช้ ทางผู้ประกอบการและสมาคมได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยผ่อนผัน โดยภาคเอกชนได้ประเมินว่ามีแรงงานต่างด้าว ประมาณ 2-3 ล้านคน ในขณะที่กรมการจัดหางาน (กกจ.) ประมาณการณ์ไว้ไม่เกิน 8 แสนคน หลังเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงาน ผลปรากฎว่าจำนวนแรงงานมีจำนวนใกล้เคียงกับที่ กกจ.คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกัน คาดว่ายังมีนายจ้างที่ยังไม่เดินทางไปแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงแรงงานขอยืนยันจะไม่ขยายเวลาอีกแล้ว ฉะนั้น นายจ้างต้องให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตเดินทางกลับประเทศ เพื่อพิสูจน์สัญชาติและกลับมาทำงานในรูปแบบเอ็มโอยูเท่านั้น

นายอนันตชัย แถลงอีกว่า คสช.ได้ชะลอบทลงโทษไว้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เท่านั้น หลังจากนั้นนายจ้างที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาต แต่ไม่ตรงกับท้องที่ และผู้ถือบัตรสีชมพู ที่ผ่านการตรวจสัญชาติแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นคำขอทำงาน (Work Permit) จะอนุโลมให้จนถึงสิ้นปีนี้เช่นเดียวกัน

Advertisement

เมื่อถามอีกว่าจะขยายเวลาในขั้นตอนที่สองหรือไม่ เพราะคิววันละ 500 ราย เจ้าหน้าที่อาจทำงานไม่ทัน นายอนันตชัย กล่าวว่า จะประเมินสถานการณ์ต่อไปว่าสามารถดำเนินไปตามเป้าหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้า อาจต้องขยายเวลาออกไปเพื่อให้เสร็จสิ้นการดำเนินการจนครบจำนวน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image