เหตุเกิดที่จุฬาฯ : ความท้าทายในปีที่ 100 โดย สุรชาติ บำรุงสุข

ในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เริ่มเห็นได้ชัดว่า จุฬาฯกำลังเผชิญกับความท้าทายประการสำคัญที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่มีความคุ้นเคยมาก่อน ว่าที่จริงแล้วความท้าทายเช่นนี้ ใช่ว่าจะเกิดกับจุฬาฯเท่านั้น มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เผชิญไม่แตกต่างกัน เป็นแต่เพียงวันนี้ภาพของความท้าทายที่จุฬาฯอาจจะปรากฏให้เห็นชัดเจนกว่าที่อื่น

ความท้าทายในระดับมหภาคเช่นนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองไทยที่มีความพยายามถอยประเทศไทยกลับสู่การเมืองภายใต้การควบคุมของระบอบทหารสายอนุรักษนิยมดังเช่นในยุคเก่าๆ จนอาจกล่าวได้ว่าในการพาประเทศกลับสู่ “โลกเก่า” ของการเมืองไทยนั้น พวกเขาเชื่อมั่นว่าเสียงเรียกร้องหาเสรีภาพและประชาธิปไตยจะถูก “กดทับ” ด้วยการใช้อำนาจปืนในการควบคุมสังคม

ดังจะเห็นได้ว่ารัฐประหาร 2557 พาการควบคุมทางการเมืองของกองทัพในรูปแบบต่างๆ ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด จนเกิดความเชื่อว่าภายใต้การควบคุมเช่นนี้ เสียงเรียกร้องหาเสรีภาพจากหนุ่มสาวจะเป็นเพียง “เสียงนกเสียงกา” ที่ไม่มีพลังและไม่ควรต้องใส่ใจ

สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่มีความหมายเลยก็ว่าได้ ถ้าอำนาจในการควบคุมทางการเมืองของกองทัพมีประสิทธิภาพจริง แต่ในความเป็นจริง อำนาจดังกล่าวเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะรัฐบาลทหารก็ถูกกดดันด้วยพลังต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังที่มาจากเสียงต่อต้านการรัฐประหารและการปฏิเสธรัฐบาลทหาร ซึ่งพลังเช่นนี้นับวันจะยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งความเข้มแข็งเช่นนี้เป็นผลมาจากสภาวะของรัฐบาลทหารที่ขาดความชอบธรรมในตนเองตั้งแต่ต้น และความชอบธรรมเช่นนี้ยิ่งลดลงเป็นลำดับจากขีดความสามารถในการบริหารงานในระดับมหภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจมหภาค หรือการเมืองมหภาคก็ตาม

Advertisement

ในสภาพเช่นนี้ การเรียกร้องหาเสรีภาพจึงดังขึ้นจากคนกลุ่มต่างๆ และสำหรับคนหนุ่มคนสาวที่เติบโตมากับโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีกระแสเสรีนิยมเป็นแรงขับเคลื่อนแล้ว การกำเนิดของรัฐบาลทหาร 2557 เป็น “ความแปลกแยก” ทางการเมืองอย่างยิ่ง แม้ในส่วนหนึ่งกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งจะพยายามโหมกระแสต่อต้านประชาธิปไตย ด้วยการชูประเด็นเรื่องการโกง การคอร์รัปชั่น และความไม่สะอาดของนักการเมือง

กลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสร้างกระแสเช่นนี้จะเป็นความชอบธรรมในตัวเองให้แก่การคงอยู่ของระบอบเผด็จการ และขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสให้ชุดความคิดแบบอนุรักษนิยมดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานในทุกพื้นที่ของสังคมไทย

Advertisement

ในเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่มหาวิทยาลัยจะถูกปรับให้กลายเป็น “ฐานที่มั่น” ของกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ว่าที่จริงแล้ว การเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัย มีบทบาททางการเมืองแบบอนุรักษนิยมนั้น ดูจะขัดแย้งกับปรัชญาพื้นฐานของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง หากย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยแทบจะทุกแห่งทั่วโลก ล้วนถือกำเนิดจากการผลักดันของกระแสเสรีนิยม ไม่ใช่กระแสอนุรักษนิยม จนอาจกล่าวได้ว่า ฐานรากของความเป็นมหาวิทยาลัยคือลัทธิเสรีนิยม ที่เชื่อมั่นว่าเสรีภาพในทางความคิดจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง… มหาวิทยาลัยไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากการปิดกั้นเสรีภาพของผู้แสวงหา

แต่ภายใต้เงื่อนไขของความขัดแย้งในการเมืองไทย เรากลับพบว่ามหาวิทยาลัยถอยห่างออกจากเสรีภาพและประชาธิปไตย ในสภาพเช่นนี้ มหาวิทยาลัยเลือกที่จะยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม มากกว่าที่จะผูกพันอยู่กับอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเสรีนิยม ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจในสภามหาวิทยาลัย หรือกลุ่มผู้บริหารล้วนแต่เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของลัทธิอนุรักษนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า “สภาผู้แทนอนุรักษนิยม” ที่วนเวียนอยู่กับการควบคุมอำนาจในมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่จะเห็นได้ชัดเจนว่า อุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมกลายเป็น “กระแสหลัก” ที่ครอบงำกลุ่มอำนาจในทุกมหาวิทยาลัยไทย ไม่ได้แตกต่างไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม จนอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยทั่วโลกนั้นจะสามารถบรรจุประเด็นเรื่องเสรีภาพและบทบาทในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยให้เป็นหนึ่งในดัชนีของการจัดลำดับเช่นนี้ได้หรือไม่

ในบริบทของจุฬาฯ อาจจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นด้วยว่า ในท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น กลุ่มผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยประกาศตัวชัดเจนที่จะเข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะการแสดงตัวเป็น “เจ้าภาพหลัก” ในการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในพื้นที่การชุมนุมที่อยู่ใกล้เคียงกับจุฬาฯ

การแสดงตัวอย่างชัดเจนเช่นนี้สะท้อนถึงการปฏิเสธแนวทางการเมืองแบบรัฐสภา และเชื่อว่าการเมืองแบบการเลือกตั้งเป็นความเลวร้ายที่จะต้องโค่นลงให้ได้ โดยไม่คำนึงว่าบทบาทเช่นนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรกับอนาคตของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในการเคลื่อนไหวเช่นนี้ กลุ่มผู้บริหารละทิ้งโอกาสที่จะใช้มหาวิทยาลัยเป็น “เวทีกลาง” ของการแสวงหาทางออกให้แก่สังคมไทยไปอย่างน่าเสียดาย การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่ามหาวิทยาลัยจะต้องเป็นกลาง แต่อย่างน้อยมหาวิทยาลัยสามารถเปิด “พื้นที่ใหม่” ที่เป็นกลางของการหาคำตอบเพื่อพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งได้บ้าง มิใช่มหาวิทยาลัยตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นผู้ร่วมสร้างความขัดแย้งเช่นที่เกิดขึ้นไปด้วย และเมื่อมหาวิทยาลัยแสดงบทบาทในลักษณะเช่นนี้ ก็ย่อมส่งผลให้บรรดาอาจารย์บางท่านและกลุ่มผู้มีอำนาจบางส่วนในมหาวิทยาลัยมองผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองเป็นดัง “ฝ่ายตรงข้าม” หรือหากกล่าวแบบสุดขั้วก็คือ คนเหล่านั้นเป็นดัง “ศัตรู” ที่จะต้องถูกขจัด หรืออย่างน้อยก็ “ไล่ออก” ให้พ้นๆ ไปจากรั้วมหาวิทยาลัย จนดูราวกับว่ามหาวิทยาลัยไม่มีพื้นที่สำหรับผู้เห็นต่างทางความคิด

อย่างน้อยปรากฏการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดเมื่อนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล สอบเข้าเป็นนิสิตใหม่ของคณะรัฐศาสตร์ได้ ก็มีเสียงเรียกร้องอย่างมากให้ต่อต้านหรือ “เอาออกไป” จากจุฬาฯ และยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ “ล็อกคอ” นิสิต (ซึ่งรายละเอียดดังปรากฏเป็นข่าวแล้ว) ก็ยิ่งสะท้อนว่า วันนี้กลุ่มอาจารย์บางส่วนยังมองโลกด้วย “แว่นตาอนุรักษนิยม” อะไรที่ผิดไปจากวิถีและความเชื่อของพวกเขาแล้วเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และจะต้องจัดการไม่ให้เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนพวกเขาจะลืมไปว่า คนรุ่นใหม่บางส่วนเติบโตในอีกบริบทหนึ่ง และไม่ได้ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมที่อาจารย์เหล่านี้ยึดถือ และบางทีอาจารย์บางท่านก็อาจจะลืมไปว่า เราเป็นอาจารย์ ไม่ได้เป็นรุ่นพี่ในระบบ “โซตัสเก่า” ที่มีอภิสิทธิ์ในการจัดการกับรุ่นน้องที่เห็นต่างในแบบที่ต้องการได้ ซึ่งโลกสมัยใหม่ไม่ได้อนุญาตให้ทำเช่นกรณีแบบ “โยนบก” ในยุคของจิตร ภูมิศักดิ์ อีกต่อไปแล้ว

ปรากฏการณ์ความท้าทายเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เผชิญกับ “โจทย์ใหม่” ของบทบาทนิสิตนักศึกษาในยุคนั้นมาแล้ว แต่ต้องยอมรับถึงบทบาทของอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ที่พยายามพูดคุยและทำความเข้าใจพวกเราที่เป็นนักกิจกรรม จนทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างสามารถแก้ไขได้ ซึ่งต้องขอยกย่องบทบาทอย่าง รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ (รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต) ในขณะนั้น จนบัดนี้เวลาของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านไปแล้วมากกว่า 40 ปี แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผม (ในฐานะผู้แทนสโมสรนิสิตฯ ที่ตึกจักรพงษ์) กับอาจารย์ก็ยังเป็นไปด้วยดีจวบจนปัจจุบัน

บางทีวันนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย (อาจจะไม่ใช่เพียงแค่จุฬาฯ) อาจจะต้องทำความเข้าใจว่า นิสิตนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำกิจกรรมกำลังเติบโตในกระแสการเมืองชุดใหม่ และไม่ใช่มีแค่ในไทยเท่านั้น หากมองออกไปนอกบ้าน คนรุ่นใหม่อย่างเนติวิทย์และเพื่อนๆ เดินคู่ขนานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างโจชัว หว่อง ในฮ่องกง หรือกระแสคนหนุ่มสาวในไต้หวันและเกาหลีใต้ พวกเขากำลังเป็นพลังในระดับภูมิภาคของการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย คนเหล่านี้ไม่ใช่ลูกค้าที่ยอมซื้อวาทกรรมเก่าที่ถูกเร่ขายโดยกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างง่ายๆ ต่อไปอีกแล้ว

คนรุ่นใหม่และกระแสการเมืองชุดใหม่เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจจะต้องทำความเข้าใจ และอาจจะต้องเลิกความเชื่อว่านิสิตนักศึกษาเป็นเด็ก คิดอะไรเองไม่ได้ และจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุม หรือมองว่านิสิตนักศึกษาคิดเรื่องเสรีภาพเองไม่ได้ ถ้าคิดได้ก็เป็น “พวกป่วน” เป็นต้น ความเชื่อเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ไม่เข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเข้ามาเป็นนิสิตนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่จะทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมองนิสิตเหล่านี้ด้วยความรู้สึกต่อต้าน และจะยิ่งสร้างบรรยากาศของ “ความเป็นศัตรู” ให้เกิดขึ้น

ผมไม่เชื่อว่าผู้นำทหารหัวเก่า ชนชั้นนำสายอนุรักษนิยม และผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งทั้งหลายจะเข้าใจถึงบริบทของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังไม่เข้าใจ และเชื่อว่าคนเหล่านี้เข้ามาเพื่อ “ป่วน” ประเพณีที่ถูกสร้างขึ้น (ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากระบบ “โซตัสเก่า”) หรือมองว่าคนเหล่านี้เป็น “ตัวป่วน” แล้ว พวกเขาจะยิ่งพบกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าที่จริงแล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจจะต้องกลับไปศึกษาปัญหาและบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งกระแสเรียกร้องเสรีภาพรุนแรงกว่าปัจจุบันอย่างมาก

วันนี้ผู้บริหารจุฬาฯ ในปีที่ 100 อาจจะต้องตระหนักว่ามหาวิทยาลัยพัฒนาไปไม่ได้โดยปราศจากการเสริมสร้างการเรียนรู้ของนิสิต และการเรียนรู้นี้เกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากเสรีภาพในการคิดและสิทธิในการตั้งคำถาม เพราะแม้ในประเทศที่เผด็จการที่สุดก็ไม่ได้มีความสามารถมากเพียงพอที่จะปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดในมหาวิทยาลัยได้ เพราะมหาวิทยาลัยกำเนิดบนรากฐานของเสรีภาพ มหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่ป้อมปราการของระบบอนุรักษนิยม พลังอนุรักษนิยมในรั้วมหาวิทยาลัยแม้จะสามารถดำรงอยู่ได้ แต่ก็เป็นความ “เปราะบาง” อย่างยิ่ง เพราะเป็นพลังที่ยึดโยงอยู่กับโลกชุดเก่าที่ไม่มีความยั่งยืนในตัวเอง…

ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นพื้นที่ของเสรีชน เป็นดินแดนของการแสวงหาและเรียนรู้ในการสร้างอนาคตของประเทศและประชาชน !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image