ททท.เปิดจุดขายท่องเที่ยวชายฝั่งตะวันออกปี’61 ชูกิจกรรม‘อาหารถิ่นทัวร์ชุมชน’ชลบุรี-จันท์-ระยอง

ในปีงบประมาณ 2561 “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) วางกลยุทธ์เพิ่ม “กิจกรรมการท่องเที่ยว” ขานรับนโยบายเดินหน้าประเทศไทยของรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งประกาศใช้ยุทธศาสตร์ “โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) พัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตอีก 20 ปี โดยมี “ท่าอากาศยานอู่ตะเภา” เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ทางด้านบริการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม

“ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าปี 2561 วางแผนสร้างกิจกรรมในบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ชายฝั่งตะวันออกหรือ EEC ด้วยไฮไลต์การท่องเที่ยวชุมชนและอาหารถิ่น กระตุ้นรายได้เพิ่มโดยตรงเข้าสู่ท้องถิ่นและภาคการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบอัตลักษณ์ของอาหารแต่ละพื้นที่ทุกภาคของประเทศ

หลังจากกระแสตอบรับ “เที่ยวข้ามถิ่น กินข้ามภาค @บางแสน” ระหว่างวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2560 ณ หาดแหลมแท่น บางแสน จังหวัดชลบุรี ททท.ประสบความสำเร็จมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท กระจายสู่ร้านค้า ร้านอาหาร 5 ภูมิภาค ที่นำอาหารถิ่นมาจำหน่ายจากทั้งภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ ประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมปี 2560 ททท.เตรียมจัดกิจกรรมตลาดการขายต่อเนื่องด้วยโครงการ “เที่ยวอาหารถิ่น กินตามตำนาน” ต่อยอดนำเรื่องราวของอาหารแต่ละชนิดในแต่ละภาคร้อยเรียงเรื่องราวจากต้นน้ำถึงปลายน้ำมาถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวรับรู้ความลึกซึ้งของอาหารถิ่นวิถีไทย

Advertisement

“นายนพดล ภาคพรต” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท.ย้ำว่า รายได้หมวดอาหารจากการบริโภคของนักท่องเที่ยวแต่ละปีมีส่วนแบ่งสูงราว 20-30 % ของรายได้ยอดรวมแต่ละปีราว 2.7-3.0 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึงอาหารในประเทศมีรายได้เกินกว่าปีละ 500,000 ล้านบาท การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารถิ่นในตลาดการท่องเที่ยวจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องทำคู่ขนานไปกับกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต การซื้อสินค้าประชารัฐหรือโอท็อปที่ได้ทยอยออกแบบตามมาตรฐานสากลทั้งของกิน แฟชั่นผ้าไทย และอื่น ๆ

“กิจกรรมที่จะประกาศความยิ่งใหญ่ของผ้าไทยแต่ละภาคจะปรากฏในงาน “มหัศจรรย์ผ้าไหมไทย เทิดไท้ราชินี” ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2560 จัด ณ หอคำหลวง อุทยานราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ดีไซเนอร์ชั้นนำเลือกผ้าคุณภาพมาออกแบบใช้ในชีวิตประจำวัน ใส่ออกงานได้เป็นอย่างดี เพราะผ้าไทยมีความหลากหลาย จึงหยิบยกผ้าแต่ละชนิดมาออกแบบบอกเล่าเรื่องราวจากต้นน้ำคือแหล่งผลิตไปจนถึงปลายน้ำเป็นผืนผ้าใช้งานในชีวิตได้”
สำหรับผ้าไทยที่นำมาจัดทำเป็นไฮไลต์ในงานดังกล่าว ได้แก่ “ผ้าลาวครั่ง” จังหวัดสุพรรณบุรี รูปแบบผ้าภูมิปัญญาไทย “ผ้าทอมือหนองบัวแดง” จังหวัดชัยภูมิ “ผ้าทอหมื่นศรี” จังหวัดตรัง “ผ้าทอสันกำแพง” จังหวัดเชียงใหม่ น่าสนใจอย่างมากเพราะแทบจะเป็นผ้าชุดแรก ๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินารถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงประทับสวมใส่ผ้าดังกล่าวไปร่วมงานตั้งแต่ปี 2503 และ “ผ้าย้อมคราม” จังหวัดสกลนคร ที่รวมเรื่องราวสะท้อนถึงชุมชนดั้งเดิมในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมชาติงดงามมาก จะเป็นผ้าอีกชนิดจากอีสานที่สามารถก้าวเข้าสู่กระแสความนิยมในวงการแฟชั่นผ้าไทยได้อย่างสง่างาม

“นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์” ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานพัทยา กล่าวว่า ททท.จะร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ จะต่อยอดการท่องเที่ยวรอบ EEC “ขยายเมืองพัทยาให้ใหญ่ขึ้น” หรือ Greater Pattaya โดยพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวไปยัง บางสะเหร่ นาจอมเทียน และจังหวัดใกล้เคียง คือ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะช่วยปรับภาพลักษณ์พัทยาจากเมืองเอนเตอร์เทนเมนต์ไปสู่การท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว ครอบคลุมโซนทางทะเลทั้งหมด ได้แก่ บางแสน พัทยา เกาะสีชัง และมีกิจกรรมเสริมทางด้านอีเวนต์ท่องเที่ยวเชิงกีฬานานาชาตินิยมจัดแข่งกีฬาต่อเนื่องระดับนานาชาติหลายชนิด เช่น ไตรกีฬา วิ่งฮาล์ฟมาราธอน

ปี 2561 นโยบายหลัก ททท.พัทยา เตรียมบูม “เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร” โดยกำลังรวบรวมเรื่อง Food ทั้งหมด ทั้งฝั่งพัทยา แยกเป็นอาหารถิ่น อาหารหรูหรา จัดทำเป็น FOOD MAP ให้นักท่องเที่ยวใช้แผนที่เส้นทางค้นหาอาหารถิ่นตามชุมชนรับประทาน อีกทั้งจะนำ“ชุมชน” ร่วมออกบูธเพื่อบ่งบอกตัวตนของอาหารพื้นถิ่นนั้น ๆ จากนี้ไป ททท.พัทยา จะเน้น 3 เรื่อง ได้แก่
เรื่องแรก “ท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ลงทุนผลิตแผนที่การท่องเที่ยวเชิงอาหารหลากหลาย และอาหารถิ่น เรื่องที่ 2 “ขยายตลาดจัดประชุมสัมมนา” ในพัทยา ชลบุรี เพราะปีหน้าทางสวนนงนุชเตรียมเปิดบริการศูนย์ประชุมนานาชาติขนาดใหญ่ ผนวกกับรอบชลบุรีมีโรงแรมรีสอร์ตทุกระดับมากเพียงพอรองรับได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย เรื่องที่ 3 “เจาะกำลังซื้อกลุ่มศักยภาพ” โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง และกลุ่มครอบครัว เน้นขายกิจกรรมความงาม พักผ่อนสปา กิจกรรมไฮเอนด์ล่องเรือยอร์ช โดยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเป็นผู้หญิงต่างชาติใช้จ่ายเงินสูง ได้แก่ จีน เอเชียใต้จากอินเดียมีพฤติกรรมคล้ายคนไทยช้อปปิ้งสินค้าไทย ชมสถานที่ท่องเที่ยว และจัดงานใหญ่ ๆ เช่น แต่งงาน เป็นต้น

ส่วนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในพัทยา มีโครงการล่าสุด “KAAN SHOW” เปิดตัวอาณาจักรโชว์สมัยใหม่แบบครบวงจร ใช้เงินลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านบาท ในพื้นที่ติดถนนใหญ่กว่า 10 ไร่ ด้านหน้ามีลานกิจกรรมกว้าง และอาคารโรงละครนวัตกรรมใหม่ตั้งเป้าเทียบชั้นลาสเวกัสขนาด 1,400 ที่นั่ง จำหน่ายบัตรเข้าชมเริ่มต้นที่นั่งละ 2,500 บาท 3,000 บาท และ 4,000 บาท ช่วงตุลาคม 2560 KAAN SHOW จะเพิ่มโซน Street Food กลางแจ้ง นำอาหารถิ่นขึ้นชื่อภาคตะวันออก มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าของ KAAN SHOW จะเป็นคนไทย 70 % รัสเซีย 20 % และนานาชาติ 10 % ต่อไปจะเพิ่มตลาดจีน เพราะยอดดูโชว์หลังเปิดบริการได้ 4 เดือน วันธรรมดา จันทร์-พฤหัสบดี เฉลี่ย 300-400 ที่นั่ง ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ยอดจองเกิน 1,000 ที่นั่ง

ทางด้าน “กนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร” ผู้อำนวยการ กับ “เกตน์สิริ สมบูรณ์ศิลป์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานระยอง ร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอกชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบจันทบุรี ระยอง ตราด รณรงค์ให้ “ชุมชน” หันมาสร้างมาตรฐานนำ “อาหารและอาชีพท้องถิ่น” ต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้ามาสร้างประสบการณ์เรียนรู้วิถีไทยภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งในระยะยาว

ขณะนี้มีชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรีกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ได้แก่ “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน-ชุมชนบางชัน” แพริมน้ำจันทบุรีที่ดำรงชีพอยู่กันมากว่า 100 ปี ด้วยการ “งมหอยนารม” จากใต้น้ำกร่อยลึกมาขายตามร้านอาหารให้นักท่องเที่ยว ในราคาตัวละ 50-100-150 บาท โดยมี “ลุงชม-บรรทม บุตรฉัยยา” นักงมหอยนางรมวัย 68 ปี” ปราชญ์ชาวบ้านดีกรีนักวิจัย ผู้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเลี้ยงชีพด้วยการงมหอยในเขตน้ำกร่อยลึก 6 เมตร ครอบครัวลุงชมกับภรรยางมหอยนางรมขายมีรายได้ปีละ 150,000 บาท
ส่วน “ชุมชนขนมแปลก-คลองหนองบัว” ติดแม่น้ำจันทบุรี อายุกว่า 200 ปี เมื่อครั้งอดีตชาวจีน เวียดนาม อพยพมาตั้งรกรากผสมกลมกลืนกับคนไทย ทุกวันนี้จึงกลายเป็นหมู่บ้านรวม 3 เชื้อชาติ ซึ่งมีวิถีวัฒนธรรมการทำอาหารคาวและหวานแปลกแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ

ของหวานขึ้นชื่อคือ “ขนมควยลิง” (เป็นชื่อเฉพาะขนมชนิดนี้ที่ชาวบ้านตั้ง) เจ้าของตำรับขนมคือยายลิ วัย 78 ปี ทำจากข้าวเหนียวดำปั้นแล้วนำไปต้มในน้ำเดือดพอสุกจะลอยขึ้นมาลักษณะคล้ายอวัยวะเพศลิงก่อนจะขายต้องนำไปคลุกมะพร้าวขูดฝอยกับน้ำตาลทรายขาวผสมงาดำ รสชาติหวานมันเค็ม นักท่องเที่ยวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ไปชุมชนคลองหนองบัวพากันแวะไปเข้าคิวรอซื้อกันทุกคน
ชาวบ้านชุมชนคลองหนองบัวได้ใช้พื้นที่บริเวณหน้าบ้านพักอาศัยเปิดร้านขายขนมและอาหารท้องถิ่นยอดนิยมอื่น ๆ ก็มี หอยพอกย่าง กุ้งทอดน้ำจิ้มถั่ว หอยหลุม (ทอดมัน) ส่วนของหวาน อาทิ ขนมอี๋น้ำเยี่ยววัว ขนมจ้าง ตังเมโบราณ (ทำจากน้ำตาลอ้อยบรรจุในกระป๋องนม) หมี่กรอบผสมสีพืชผลไม้ประจำถิ่น

ปี 2561 ททท.สำนักงานระยอง เตรียมบูมการท่องเที่ยวชุมชนไฮไลต์ในระยองอีก 2 แห่ง ได้แก่
แห่งแรก “ชุมชนบ้านทะเลน้อย” แหล่งเพาะปลูกผักกระชับแห่งเดียวในประเทศไทย ที่นำมาทำอาหารถิ่น “แกงส้มผักกระชับ” นักท่องเที่ยวแห่แหนกันไปกิน พร้อมกับช้อปปิ้งสินค้าชุมชนแห่งนี้ทั้ง กะปิ น้ำปลา ปลาเค็ม และอื่น ๆ
แห่งที่ 2 “ชุมชนปากน้ำประแส” อำเภอแกลง เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ติดริมน้ำ เป็นหมู่บ้านทำประมงขนาดใหญ่ศูนย์รวมแหล่งการค้าอาหารทะเลแลเกษตรกรรมที่ทำสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นที่มีเรื่องราวสำคัญน่าแห่งการท่องเที่ยวชุมชนภาคตะวันออกของไทย

เรื่องโดย – เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน : บล็อกเกอร์ gurutourza
ภาพจาก – การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image