“โตโยต้า”จัดรถไฟฟ้าวิ่งในจุฬาฯ ชูนวัตกรรม”ฮาโม”แบ่งปันกันใช้

เคอิจิ ยามาโมโตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด เปิดเผยว่า โตโยต้า ได้พัฒนา ฮาโม (Ha:mo) เครือข่ายการเดินทางที่สอดประสานกันด้วยระบบการคมนาคมสำหรับยุคหน้า โตโยต้ามุ่งมั่นแก้ปัญหาการเดินทางด้วยการเชื่อมต่อรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ากับระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้การเดินทางสัญจรเป็นไปอย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ โตโยต้าเชื่อว่าการนำยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Ultra-compact Electrical Vehicle) มาให้บริการ ทำให้ผู้คนสามารถใช้ร่วมกันเพื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระโดยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้ ระบบการเดินทางแบบ Ha:mo จึงถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในโตโยต้าซิตี้ โตเกียว โอกายาม่า และโอกินาว่า ประเทศฝรั่งเศส ในเมืองเกรโนเบิล และล่าสุด ณ วันนี้ คือที่กรุงเทพฯ ถือเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่แรกที่โตโยต้าได้นำเอานวัตกรรมนี้มาใช้

Ha:mo คือการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กร่วมกัน เหมาะกับการเดินทางระยะสั้นในสังคมเมือง เมื่อขับรถไปถึงที่หมายแล้ว ผู้ใช้รถ Ha:mo สามารถจอดรถทิ้งเอาไว้ได้เลย ช่วยให้ผู้คนเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางได้ง่ายขึ้น การเปิดตัวในกรุงเทพฯ ถือเป็นการริเริ่มสร้างต้นแบบของแนวทางการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ ช่วยแก้ปัญหาการจราจรในประเทศตลาดเกิดใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยจะให้การยอมรับ Ha:mo โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในอนาคต

สำหรับโครงการนี้มีชื่อว่า ซียู โตโยต้า ฮาโม (CU TOYOTA Ha:mo) ถือกำเนิดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการก่อตั้งบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยจะทดลองระบบการแบ่งปันรถกันใช้ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (EV sharing) เพื่อวิ่งในระยะสั้นๆ ภายในพื้นที่โดยรอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวว่า ทางโครงการได้วางแผนเพื่อศึกษาและทดลองระบบการแบ่งปันรถกันใช้ ออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะเรียกว่าช่วงพัฒนา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2562 หลังเสร็จสิ้นระยะแรก ทางโครงการจะทบทวนและสรุปผล เพื่อเข้าสู่ระยะที่สองในรูปแบบทางธุรกิจเต็มตัว โดยจะเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุน เพื่อขยายการให้บริการออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ

Advertisement

โครงการจะเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ช่วงเริ่มต้นจะมีรถให้บริการทั้งหมด 10 คัน และมีแผนจะเพิ่มอีก 20 คันในกลางปีหน้า รวมจำนวนรถทั้งสิ้น 30 คัน ให้บริการในช่วงระยะเวลา 2 ปี พื้นที่การให้บริการจะครอบคลุมในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสองฝั่ง ทางโครงการจะเตรียมสถานีจอดรถไว้ทั้งหมด 12 สถานี กระจายครอบคลุมเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน พร้อมทั้งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 สถานี และมีจำนวนช่องจอดรถให้บริการทั้งหมด 33 ช่องจอด อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าทั้ง BTS, MRT และรถโดยสารประจำทาง กลุ่มเป้าหมายคือ นิสิต อาจารย์ บุคลากรและประชาชนทั่วไป ผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์หรือมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการที่ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่าบริการเริ่มต้นที่ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที

นอกจากนี้ โครงการยังวางแผนให้ ซียู โตโยต้า ฮาโม เป็นเวทีเปิด เพื่อร่วมพัฒนาสู่นวัตกรรมการเดินทางของสังคมในอนาคต มุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากบุคคลและภาคประชาสังคมในเรื่องระบบการแบ่งปันรถกันใช้ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาสังคม การเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัทที่สนใจ นิสิต นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ และองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ช่วยให้สามารถรวบรวมแนวคิดต่างๆ คัดเลือกแนวทาง พัฒนาแผนโครงการ ตลอดจนทดลองใช้ในพื้นที่จริง เป็นแนวทางต่ออนาคตของระบบการแบ่งปันรถกันใช้ในประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image