นักวิจัยเตือน ‘ฟองน้ำล้างจาน’ สุดสกปรก มีแบคทีเรียหนาแน่นพอๆ กับ ‘อุจจาระ’

ฟองน้ำล้างจาน มีแบคทีเรียหนาแน่นพอๆ กับอุจจาระ (ภาพ- Massimiliano Cardinale et. al

ทีมวิจัยจากเยอรมนีเผยแพร่ผลงานการวิจัยชิ้นใหม่ ผ่านวารสารวิชาการ เจอร์นัล ไซน์ทิฟิก รีพอร์ท เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุ ฟองน้ำสำหรับใช้ล้างจานในครัว อาจถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่สกปรกที่สุดภายในบ้าน และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่เคยคิดกัน

ทีมวิจัยเยอรมันระบุไว้ในรายงานดังกล่าวว่า งานวิจัยใหม่นี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ฟองน้ำล้างจาน (คิทเชน สปอนจ์) เป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียที่มีชีวิตใหญ่ที่สุดเท่าที่มีในบ้านหลังหนึ่ง

ผลงานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของ ชัค เกอร์บา นักจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ที่ระบุไว้ในปี 2012 ว่า ฟองน้ำล้างจาน สกปรกกว่าแท่นรองนั่งชักโครกถึง 200,000 เท่า

แสดงกลุ่มแบคทีเรียในชิ้นฟองน้ำตัวอย่าง 9บี (ภาพ- Massimiliano Cardinale et. al)

งานวิจัยชิ้นใหม่ใช้วิธีเก็บตัวอย่างฟองน้ำล้างจานใช้แล้วจำนวน 14 ชิ้น มาตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดเล็กเพื่อใช้เป็นชิ้นตัวอย่างในการวิจัยรวม 28 ชิ้น โดยตั้งเป้าในการวิจัยไว้ว่าต้องการตรวจสอบชนิดของแบคทีเรียที่เจริญเติบโตอยู่ในฟองน้ำ เพื่อดูว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่อย่างไร โดยใช้วิธีการตรวจสอบและจำแนกดีเอ็นเอของแบคทีเรียที่พบ ซึ่งทำให้ในเวลาเดียวกันก็สามารถทราบปริมาณของแบคทีเรียเหล่านั้นพร้อมกันไปด้วย ทำให้งานวิจัยใหม่นี้ถือเป็นงานวิจัยและวิเคราะห์แบคทีเรียในฟองน้ำล้างจานที่ครอบคลุมมากที่สุด

Advertisement

ทีมวิจัยพบข้อมูลน่าตกใจว่า ในชิ้นตัวอย่างของฟองน้ำล้างจานซึ่งมีขนาดเท่ากับก้อนน้ำตาลก้อนสี่เหลี่ยมหนึ่งก้อน มีเซลล์แบคทีเรียปนเปื้อนอยู่มากถึง 54,000 ล้านเซลล์ ความหนาแน่นของแบคทีเรียในระดับสูงมากดังกล่าว พบอีกเพียงที่เดียวเท่านั้นคือใน “อุจจาระ”

ฟองน้ำล้างจาน กลายเป็นแหล่งสะสมและเจริญเติบโตชั้นดีของแบคทีเรีย เพราะมักจะเปียกชื้น ไม่เย็นจัดเกินไปและมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ซึ่งกลายเป็นอาหารชั้นดีของแบคทีเรียเหล่านี้ ในการวิจัยพบว่า แบคทีเรียในฟองน้ำล้างจานมีความหลากหลายมากกว่าที่เคยคิดกัน โดยพบแบคทีเรีย 5 ใน 10 ชนิดซึ่งเป็นกลุ่มของแบคทีเรียที่มีความสามารถในการก่อโรคซึ่งพบเห็นบ่อยที่สุด รวมทั้ง อาซีเนโทแบคเทอร์ จอห์นโซนี (Acinetobacter johnsonii), ครายเซโอแบคทีเรียม โฮมินีส (Chryseobacterium hominis) และ โมแรกเซลลา ออสโลเอนซิส (Moraxella osloensis) และพบเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ในกลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการคออักเสบ (สเตรป อินเฟคชั่น) อีกด้วยแม้จะไม่มากมายเท่ากลุ่มอื่นๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมวิจัยพบด้วยว่า ไม่มีวิธีการทำความสะอาดใดที่ทำให้ปริมาณแบคทีเรียในฟองน้ำล้างจานลดลงมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่แม้แต่กระทั่งการนำเอาฟองน้ำล้างจานเข้าเตาไมโครเวฟ หรือนำไปต้มในน้ำเดือด เหตุผลที่ทีมวิจัยสันนิษฐานก็คือ เป็นเพราะแบคทีเรียส่วนหนึ่งสามารถทนทานต่อกระบวนการทำความสะอาดสุดโต่งเหล่านั้นได้ และจากนั้นก็เริ่มแบ่งตัว สร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นในฟองน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ยิ่งนานไปยิ่งยากที่จะลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียลง

เมื่อนำฟองน้ำล้างจานใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้มาทดสอบหาเชื้อแบคทีเรีย ทีมวิจัยพบว่า ฟองน้ำใหม่ปกติแล้วจะปลอดเชื้อแบคทีเรียโดยสิ้นเชิง

คำแนะนำของทีมวิจัยก็คือ ให้เปลี่ยนฟองน้ำล้างจานบ่อยๆ เป็นประจำ เช่นสัปดาห์ละครั้ง อาจช่วยลดปัญหาลงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image