เอ็นจีโอ ประชาสังคม กับระบบหลักประกันสุขภาพ :โดย สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

เอ็นจีโอ คือคนที่เลือกประกอบอาชีพทำงานแบบสังกัดองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ จึงถูกเรียกว่าเอ็นจีโอ NGO : Non Government Organisation อาจทำงานอิสระเป็นฟรีแลนซ์ไม่สังกัดองค์กรก็ได้ จึงเป็นกลุ่มคนจำนวนหนึ่งไม่มากนักที่เลือกไม่รับราชการแม้จะเรียนจบปริญญาและพ่อแม่ครอบครัวคาดหวังต้องรับราชการทำงานองค์กรรัฐ จีโอ : GO: Government Organisation เพื่อให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน (มายาคติที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมายาวนาน) หรือทำงานสังกัดองค์กรโดยเป็นองค์กรที่ทำงานไม่หวังผลกำไรมาแบ่งปันกัน เพียงทำงานมีรายได้พอเลี้ยงตัว ไม่มุ่งหวังสร้างผลกำไร จึงต่างจากองค์กรธุรกิจ

การเลือกทำงานแบบเอ็นจีโอในไทยยุคแรกๆ มักเป็นกลุ่มคนที่ต้องการทำงานด้านการพัฒนาสังคม การนำเสนอแนวคิด วิธีการพัฒนาสังคม ที่แตกต่างจากกระแสหลักที่ยึดระบบทุนนิยม เอ็นจีโอนำเสนอการพัฒนาแบบชุมชนเป็นฐาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากร ปกป้องดูแลท้องถิ่น ดิน น้ำ ป่า แบบที่มักจะขัดแย้งกับนโยบายของรัฐที่มุ่งการพัฒนาบนฐานอุตสาหกรรม การนำเสนอเรื่องสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า การจัดรัฐสวัสดิการ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักจะสวนทางกับรัฐที่เน้นการจัดการเฉพาะเจาะจงกลุ่มคนจน การควบคุมกำกับประชาชนแม้จะละเมิดสิทธิมนุษยชน

แรงจูงใจสำคัญและเป็นหลักยึดโยงของคนทำงานเอ็นจีโอคือ “ความเป็นธรรม” “การลดความเหลื่อมล้ำ การลดความจน” และยึดชีวิตมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ยุคปัจจุบันการเลือกทำงานแบบเอ็นจีโอ ถือเป็นอาชีพหนึ่ง ที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานที่มีส่วนรับผิดชอบสังคม และสร้างกิจกรรมที่เป็นการประกอบการเพื่อสังคม เพราะไม่ได้ต้องการตกอยู่ใต้กระแสการทำงานแบบธุรกิจที่ต้องการกำไรสูงสุดจนละเลยคุณภาพชีวิต การเลือกดำรงชีวิตแบบเข้าใจธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนกันและกัน

การทำงานแบบเอ็นจีโอจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิตและสังคม การทำงานแบบเอ็นจีโอเป็นการทำงานแบบลงลึกในเนื้องาน ในเชิงพื้นที่ ในเชิงเนื้อหา แต่ละคนก็เลือกทำงานตามที่ตนเชื่อ ซึ่งการทำงานลงลึก เข้าถึงปัญหา เกาะติดปัญหา จึงเป็นส่วนเสริมให้ภาครัฐ กระบวนการทำงานแบบเอ็นจีโอจึงเป็นกระบวนการภาคประชาสังคมด้วย

Advertisement

ในสากลประเทศต่างๆ ก็มีเอ็นจีโอจำนวนมากและหลากหลาย และรัฐก็จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำงานของเอ็นจีโอตรงไปตรงมาด้วย การวิพากษ์วิจารณ์เอ็นจีโอสามารถกระทำได้ แต่ไม่ควรด่ากราด และมโนเอาเองว่าพวกนี้คือพวกนายหน้าค้าความจน พวกรับเงินต่างชาติ พวกบ่อนทำลาย พวกหาประโยชน์ให้ตนเอง เพราะทุกอาชีพก็มีความเป็นมืออาชีพเหมือนกัน คนทำงานก็มีทั้งดี ทั้งมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เอ็นจีโอตัวจริงเสียงจริงคือคนที่ทำงานอย่างเชื่อมั่นและเกาะติดปัญหา การรณรงค์สื่อสารในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นปัญหาเพื่อให้เกิดการแก้ไข มีความกล้าที่จะประท้วงนโยบายรัฐ เพราะเอ็นจีโอไม่ต้องทำงานสนองเจ้านาย หัวหน้า เพราะเราไม่ใช่ลูกจ้างรัฐ

กรณีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เป็นงานส่วนหนึ่งที่เอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิด้านสุขภาพ สิทธิผู้ป่วยเอดส์ และในฐานะเป็นประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตรอดจากโรคภัย สิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐอย่างสมศักดิ์ศรี จึงร่วมกันนำเสนอ “นโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2543

ก่อนหน้านี้ขบวนประชาสังคมด้านสิทธิสุขภาพ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการขับเคลื่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกำหนดให้สิทธิด้านสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานและรัฐมีหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้ประชาชนทุกคนและเป็นบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าเทียมกัน การที่เอ็นจีโอด้านสุขภาพเห็นความทุกข์ของประชาชนที่ยากจน ไม่สามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ เห็นคนล้มละลายเนื่องจากค่ารักษาพยาบาล เห็นคนเสียชีวิตจำนวนมากเพราะไม่มียา ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ และเอ็นจีโอได้ทำงานส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็ก ผู้หญิง ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงได้มีการศึกษาหาสาเหตุ ศึกษานโยบาย

Advertisement

การผนึกหลอมรวมพลังประชาสังคม การประสานความร่วมมือกับนักวิชาการ และการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในกระทรวงสาธารณสุข จึงก่อเกิดการผลักดันและระดมรายชื่อเสนอกฎหมาย “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนได้รับการขานรับเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง การชนะการเลือกตั้งได้เข้าเป็นรัฐบาล การนำร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และตราออกเป็นกฎหมายเมื่อปลายปี 2545

ทั้งหมดนี้ เอ็นจีโอ ประชาสังคม ต่างมีส่วนร่วมช่วยกันทำให้กฎหมายออกมาอย่างที่เป็น ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐไทยโดยสิ้นเชิง จากเดิมการบริหารระบบสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงพยาบาล การรับข้าราชการบุคลากร การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเลือกใช้เทคโนโลยี การจัดแบ่งเกรดระดับโรงพยาบาล การจัดทำงบประมาณค่ารักษาพยาบาล เป็นการจัดการโดยหน่วยงานเดียวทั้งหมดคือกระทรวงสาธารณสุข และอยู่บนฐานประชาชนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกบาท ยกเว้นคนจนที่สามารถแสดงตนว่าจน และคนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นคนจนสมัยนั้นให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นคนคัดกรองคนจน จึงมีคนจนที่เป็นเครือญาติพอสมควร

คนจนจริงในหมู่บ้านไม่ได้รับการสำรวจขึ้นทะเบียน ก่อให้เกิดปัญหามากมาย การปฏิรูปเปลี่ยนมาเป็นการบริหารระบบสาธารณสุขแบบใหม่ คือปฏิรูปการใช้งบประมาณรัฐเพื่อดูแลประชาชนทุกคนแบบถ้วนหน้าไม่ต้องแยกแยะคนจน คนไม่จน คนรวย ปฏิรูปการบริหารงบประมาณออกจากการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการสาธารณสุข จึงมีหน่วยงาน 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปฏิรูปการจ่ายเงินของประชาชนเป็นการใช้ระบบภาษีรัฐมาจ่ายค่ารักษาแทนการจ่ายเงินจากกระเป๋าชาวบ้าน

และให้มีการร่วมจ่ายที่จุดบริการในจำนวน 30 บาททุกครั้ง

การปฏิรูปเรื่องการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพเป็นการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะมีตัวแทนจากภาคประชาชนซึ่งคือคนรับบริการสาธารณสุขเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ถือเป็นการบริหารแบบมีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบร่วมกัน

ผลในทางบวกคือประชาชนได้รับสิทธิเสมอภาคกัน ลดความยากจนจากการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ประชาชนได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เมื่อไปรับบริการ

ผลทางลบคือก่อให้เกิดภาระงานหนักต่อ รพ.ของรัฐ การต้องปรับตัวในการบริหาร รพ.ด้วยจำนวนงบประมาณที่ได้รับตามจำนวนประชากรและผลงานที่ทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่หมอที่เรียนมาเพื่ออาชีพรักษาต้องกลายมาเป็นผู้จัดการบริษัทซึ่งมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเกิดการกระทบกระทั่งกันในเชิงศักดิ์ศรีคนทำงานระหว่างคนของ สธ.กับ สปสช. และเมื่อมีการออกกฎหมายแล้วก็มีการตีความตัวอักษรกฎหมายตามความเข้าใจตนเอง ตามบทบาทอำนาจหน้าที่ตัวเอง แม้จะมีการเขียนเจตนารมณ์กำกับไว้ในกฎหมายก็ยังถกเถียงตีความเจตนารมณ์กันได้เช่นกัน

ผ่านไป 15 ปีของการใช้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบันก็ตีความกฎหมายตามบทบาทตนเองโดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งตีความกฎหมายตามตัวอักษร และชี้มูลว่าบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยบริการคือ รพ.ต่างๆ กระทำการดำเนินการจัดระบบหลักประกันสุขภาพโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น การจ่ายเงินให้ รพ.ต้องเป็นค่ารักษาให้กับบุคคลโดยตรงเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่ได้ จึงเกิดเหตุโกลาหลวุ่นวายทำให้ รพ.ของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งไม่สามารถนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายเป็นค่าจัดจ้างบุคลากร ค่าล่วงเวลา ค่าจัดการสำนักงาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ แต่ไม่เกิดปัญหาใดๆ เลยกับ รพ.เอกชน รพ.มหาวิทยาลัย ที่รับเงินกองทุนไปเช่นกัน สตง.ไม่ก้าวล่วงไปที่ภาคเอกชน

นอกจากนี้ ที่เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อประชาชนคือเรื่องการจัดซื้อยาร่วม ซึ่ง สปสช.โดยการอนุมัติของบอร์ดได้ดำเนินการเจรจาต่อรองราคาและจัดซื้อยามาตลอด 15 ปี ทำให้สามารถจัดหายาที่ราคาแพง ยาที่หายาก วัสดุราคาแพง ได้ในราคาประหยัดและทุกคนก็เห็นผลดีข้อนี้ แต่ สตง.บอกว่า ในกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจนี้กับบอร์ดและ สปสช. จึงควรส่งเงินให้กับ รพ. แล้วให้แต่ละ รพ.ไปจัดซื้อหากันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้และเป็นเสรีที่ใครจะเจรจาต่อรองราคายากับบริษัทใดก็ได้ ได้ราคาถูกแพงแตกต่างกันไป หากรัฐยอมจ่ายงบประมาณรายปีเพิ่มให้กองทุนหลักประกันสุขภาพอีกสักเท่าหนึ่งของปัจจุบันและเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทำไมเราจะยอมให้บริษัทยามีอำนาจเหนือระบบสุขภาพบ้านเรา เพราะการเจรจากระจายกันไปย่อมเข้าทางบริษัทยาแน่นอน ซึ่งสินค้ายาเป็นสินค้าคุณธรรม ไม่ควรตั้งราคาแบบค้ากำไรเกินควร

แม้แต่เรื่องการกำกับควบคุมราคายารัฐไทยก็ยังทำไม่ได้ แล้วยังจะทำให้อำนาจการจัดซื้อยารวมที่ สปสช.ทำได้ดีอยู่แล้วหลุดลอยไป

ดังนั้น สตง.บอกว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดอำนาจก็ควรแก้กฎหมายให้สามารถทำได้ในขอบเขตที่เหมาะสมตามประสบการณ์ที่ทำมา ทั้งนี้ เอ็นจีโอและประชาสังคมที่เสนอกฎหมายเมื่อ 15 ปีที่แล้วมีเจตนารมณ์ว่าให้ทุกคนได้รับหลักประกันสุขภาพด้วยการบริหารงบประมาณกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การเขียนข้อความกฎหมายก็ทำให้ สตง.และคนปัจจุบันตีความได้ดังปัญหาที่กล่าวมา

การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนทุกคน เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องสิทธิด้านสุขภาพมีหรือที่จะละเลยไม่ติดตามและสื่อสารแสดงความเห็นขัดแย้ง ต่อต้าน เมื่อพบว่าการจัดการของรัฐกำลังไปผิดทิศผิดทาง การกล่าวหาเอ็นจีโอว่าเป็นพวกปกป้องผลประโยชน์ หากินกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ เป็นการกล่าวหาที่สะเปะสะปะ ไม่มีข้อเท็จจริง มีอคติกีดขวางในใจ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นผลมาจากการชี้มูลของ สตง.ทำให้เกิดการเร่งรีบให้มีการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี สธ.เป็นตัวหลักในการจัดการ

ต่างจากครั้งเมื่อเสนอกฎหมายเมื่อ 15 ปีที่แล้ว การแก้กฎหมายครั้งนี้จึงมุ่งเน้นไปในทางสร้างอำนาจให้ สธ.มีบทบาทมากขึ้นและปกป้อง รพ.ของรัฐแบบเหมารวม ละเลยการแก้กฎหมายเพื่อให้อำนาจบอร์ดและ สปสช.จัดซื้อยารวมได้ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนก็เห็นคุณประโยชน์การจัดซื้อยารวม แต่ไม่ยอมแก้กฎหมายในส่วนนี้ กลับไปให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มองค์ประกอบบอร์ด เพิ่มวิชาชีพ เพิ่มหมอเข้ามาเป็นบอร์ด จำกัดจำนวนผู้แทนประชาชน ขอแยกเอาเงินเดือนข้าราชการออกไปจากระบบคำนวณค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปตามนี้ อนาคตบอร์ดจะประกอบด้วยหมอ พยาบาล นักวิชาชีพสาธารณสุข ทั้งที่เป็นข้าราชการและผู้ที่เกษียณไปแล้วมานั่งกันจำนวนมาก

ทุกคนไม่ใช่คนใช้สิทธิบัตรทองแต่มานั่งบริหารระบบบัตรทอง และเป็นจีโอ ที่ต้องทำงานรับใช้รัฐ ตอบสนองนโยบายรัฐ การสร้างสมดุลอำนาจกรรมการที่เป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของกฎหมายก็จะสูญเสียไป ตัวแทนประชาชนในบอร์ดจะยิ่งทำหน้าที่ได้ยากลำบากขึ้น การเป็นตัวแทนผู้รับบริการบัตรทองตัวจริงเสียงจริงจะต้องใช้พลังมากขึ้น พวกเอ็นจีโอที่ผลักดันกฎหมายนี้มาแต่ต้น ก็ยังคงต้องส่งเสียงประท้วง คัดค้าน หากระบบหลักประกันสุขภาพจะเปลี่ยนโฉมหน้าไป ใครจะกล่าวหาว่าพวกเอ็นจีโอร้องเพราะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองก็ไม่ว่ากัน เพราะเอ็นจีโอตัวจริงเสียงจริงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

เพราะเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นของประชาชนทุกคน เราต้องช่วยกันดูแลจนถึงที่สุด

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image