นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร 16ปี รพ.บ้านแพ้ว ออกนอกระบบแล้วเข้มแข็ง

เมื่อปี 2544 โรงพยาบาล (รพ.) บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ตัดสินใจออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐ เพราะท้อแท้กับระบบสาธารณสุขและระเบียบของภาครัฐที่ไม่สามารถจัดการบริการหรือให้การช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างทันท่วงที แม้แต่การจัดหาแพทย์เข้าไปทำงานในโรงพยาบาล ก็พบว่ามีอุปสรรค เช่น คนไข้อุบัติเหตุเกิดเลือดออกในสมอง ขณะนั้นทำได้ 2 วิธี คือ ส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพมหานคร หรือจะเชิญแพทย์ไปผ่าตัดให้ แต่การผ่าตัดไม่เสร็จสิ้นในขั้นตอนเดียว คนไข้จำเป็นต้องรักษาตัวที่ห้องไอซียูต่อ แพทย์ส่วนใหญ่จึงปฏิเสธหรือขอเลื่อนเวลาออกไป ท้ายสุดคนไข้สูญเสียโอกาสที่จะฟื้นคืน กลายเป็นผัก หากเป็นญาติเราบ้าง จะทำอย่างไร

“นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร” ผู้อำนวยการ รพ.บ้านแพ้ว ให้สัมภาษณ์ว่า ในกรณีข้างต้น คนไข้เหล่านี้หากเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ฟื้นกลับมา และเดินเหินได้ รพ.บ้านแพ้ว จึงได้หยุดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการให้การคนไข้ด้วยการออกนอกระบบ ทั้งนี้ รพ.บ้านแพ้ว ถือเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกและแห่งเดียวที่เป็น “องค์การมหาชน” โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 เพื่อจุดหมายสูงสุดคือการปฎิรูปโรงพยาบาลของรัฐ นับจากวันนั้นจวบจนวันนี้เป็นเวลา 16 ปีแล้ว

นพ.พรเทพเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ รพ.บ้านแพ้ว ออกนอกระบบเมื่อปี 2544 ว่า สิ่งแรก คือ ด้านอาคารและสถานที่ ขณะนี้สามารถดูแลผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นเป็น 300 เตียงต่อวัน จากเดิม 100 เตียง และปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารเพื่อขยายเป็น 500 เตียง ต่อมาการขยายด้านบุคลากรทางการแพทย์จากเดิมเพียง 150 คน เป็น 1,200 คน รวมถึงการขยายการให้บริการจากการโรงพยาบาลชุมชนที่ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นในระดับปฐมภูมิ (Primary Care) สู่การยกระดับการให้บริการเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตการรักษาที่ใช้แพทย์เฉพาะสาขาต่อยอด เช่น โรคหัวใจ โรคตา ฯลฯ ที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการบริการค่อนข้างมาก

Advertisement

หากถามว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา เคยได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากทางรัฐหรือไม่นั้น นพ.พรเทพกล่าวว่า ต้องยอมรับว่า รพ.บ้านแพ้ว ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐเลย ไม่ว่าจะเป็นค่าบุคลากร หรือค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ กระทั่งปี 2557 ได้รับจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูง 10 ชั้น ซึ่งรัฐบาลได้จ่ายจริงในร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือร้อยละ 30 รพ.บ้านแพ้ว ต้องหางบประมาณเพิ่มเติมเอง หลังจากนั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ อีก

นพ.พรเทพเล่าต่อไปว่า เนื่องจาก รพ.บ้านแพ้ว เป็นองค์การมหาชนเพียงแห่งเดียวภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นรูปแบบโรงพยาบาล และมีการบริหารภายใต้พระราชกฤษฎีกา คือ การบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วย 3 ภาคส่วนร่วมบริหาร ได้แก่ 1.ประธานคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐ เพื่อทำงานให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐ 2.ภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดการบริการอย่างตอบโจทย์ประชาชนในท้องถิ่น และ 3.ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้การบริหารงานแข็งแกร่งขึ้น ทั้งด้านการเงินและแผนยุทธศาสตร์ให้โรงพยาบาลสามารถดูแลตนเองได้ ถือว่าเป็นจุดเด่นในการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ

Advertisement

“ไม่เพียงเท่านั้น การทำงานรูปแบบคณะกรรมการส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวสูง อย่างการอนุมัติรายจ่ายบางอย่างได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องขออนุมัติหลายทอด ทำให้สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว เช่น โครงการผ่าตัดต้อกระจกนอกพื้นที่ของ จ.สมุทรสาคร และประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและกัมพูชา แต่เดิมหากจะดำเนินการเช่นนี้จะยุ่งยาก ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขนย้ายอุปกรณ์ แต่ปัจจุบันเพียงให้คณะกรรมการอนุมัติก็ดำเนินการได้แล้ว ตลอดจนการปรับเปลี่ยน หรือโยกย้ายบุคลากรให้เหมาะสมกับตำแหน่ง เนื่องจากเป็นสัญญาการจ้างแบบรายปี จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาล เมื่อถามว่าแล้ว รพ.บ้านแพ้ว จัดการงบประมาณอย่างไร เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก สธ.เลย ต้องบอกว่าแม้เป็นเรื่องที่ประสบปัญหา แต่โรงพยาบาลยังโชคดีหลายประการ ดังนี้ ประการแรก งบประมาณจากการทำโครงการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากการรักษาบุคลากรในพื้นที่จำนวนร้อยละ 80 ประการที่สอง ได้เงินจากการดูแลผู้ป่วยของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ โดยหลังจากได้รับการรักษาแล้วจะจ่ายค่ารักษาให้แก่ รพ.บ้านแพ้ว และประการที่สาม จากผู้บริจาคและผู้สนับสนุนเงินช่วยเหลือ รวมถึงบางส่วนได้จากโครงการช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ต่างๆ หลายคนเข้าใจจึงมอบเงินช่วยเหลือให้ โรงยาบาลจึงสามารถอยู่ได้” นพ.พรเทพกล่าว

ทั้งนี้ นพ.พรเทพกล่าวว่า ในแต่ละปี รพ.บ้านแพ้ว มีรายได้ประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท แต่รายจ่ายก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งส่วนต่างประมาณ 20-30 ล้านบาท นำไปเป็นค่าก่อสร้างอาคารรองรับผู้ป่วย ดังนั้น โรงพยาบาลจึงพยายามคุมงบให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ถามว่าส่วนต่างที่เหลือจำเป็นต้องแบ่งคืนรัฐหรือไม่ และการบริหารงบประมาณมากว่า 16 ปี รพ.บ้านแพ้ว เคยประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือไม่ ตามพระราชกฤษฎีกาเขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องส่งคืนให้รัฐ และนับตั้งแต่โรงพยาบาลออกจากระบบยังไม่เคยประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดวิกฤตขึ้นในอนาคต เนื่องจากจำนวนผู้รับบริการเป็นไปอย่างก้าวกระโดด

“เดิมมีผู้ป่วยนอกรับบริการ 600-700 คน ปัจจุบันไปรับการตรวจถึง 3,000 คนต่อวัน ทำให้ต้องขยายอาคารรองรับผู้ป่วย และจำเป็นต้องเกลี่ยงบจำนวนมากมาลงทุนก่อสร้างตึก วงเงิน 325 ล้านบาท แม้การช่วยเหลือจาก สธ.เมื่อ 2 ปีก่อน ประมาณกว่า 200 ล้านบาท จะช่วยทุเลาได้ในระดับหนึ่ง ทว่าในอนาคตหากได้รับการสนับสนุนเช่นนั้น จะทำให้ รพ.บ้านแพ้ว ผ่านพ้นวิกฤตสภาพคล่องดังกล่าวได้อย่างแน่นอน” นพ.พรเทพกล่าว

นอกจากนี้ นพ.พรเทพยังเล่าถึงการปรับปรุง รพ.บ้านแพ้ว ในด้านอื่นเพิ่มเติมว่า หลายอย่างสามารถยืนยันได้ว่า รพ.บ้านแพ้ว ให้บริการและมีประสิทธิภาพสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เช่น การใช้แพทย์เฉพาะทางรักษาคนไข้โดยตรง ทำให้เกิดเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ต้องแบกรับภาระต้นทุนการบริการสูง จำเป็นต้องเพิ่มช่องทางการหารายได้อื่น แต่ยังคงรับปากว่า “ประชาชนจะได้รับการบริการที่ดีเช่นเดิม โดย รพ.บ้านแพ้ว จะไม่ลดคุณภาพการบริการ แม้หลายแห่งจะทำเช่นนั้นเพื่อประหยัดรายจ่ายก็ตาม”

นพ.พรเทพกล่าวต่อไปว่า ในส่วนความคืบหน้าของอาคารก่อสร้างทั้ง 2 หลัง ที่อยู่ระหว่างการดำเนินนั้น อาคารแรกเป็นอาคาร 10 ชั้น ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์เอกซเรย์ขนาดใหญ่ ศูนย์มะเร็ง และศูนย์หัวใจ โดยวางเป้ารองรับและให้บริการไม่เฉพาะใน อ.บ้านแพ้ว แต่รวมถึงประชาชนใน จ.สมุทรสาคร ด้วย เช่น ศูนย์หัวใจที่มีแพทย์และเครื่องมือที่เพียงพอ ทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพฯ อีกต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2561 ส่วนอาคารต่อมาจะก่อสร้างให้เป็น รพ.จักษุบ้านแพ้ว เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนว่ามีความสามารถรักษาทางด้านจักษุ ประกอบกับการเติบโตทางการแพทย์ของ รพ.บ้านแพ้ว ที่มาจากด้านจักษุ ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ และให้เป็นศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง

“ปัจจุบันอาคารจักษุบ้านแพ้วต้องขยายเวลาก่อสร้างออกไป เนื่องจากต้องหางบประมาณด้วยตนเอง ไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก สธ. ขณะนี้ยังต้องการเงินเพื่อสร้างอีกประมาณ 120 ล้านบาท แต่ รพ.บ้านแพ้ว ไม่ย่อท้อ จะทุ่มเทและหาเงินมาก่อสร้างอาคารให้สำเร็จต่อไป” นพ.พรเทพกล่าว

ท้ายนี้ นพ.พรเทพได้ให้ความเห็นในเรื่องการออกนอกระบบของโรงพยาบาลรัฐไว้ว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนไข้ โดยเฉพาะสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ระบบเช่นนี้ทำให้ผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ตั้งใจอยากให้บริการ รพ.บ้านแพ้ว ได้ลองผิดลองถูกจนสามารถสร้างการเรียนรู้และอยู่ได้จนถึงบัดนี้

“ผมแอบเชียร์อยู่ลึกๆ ให้โรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีศักยภาพออกนอกระบบ เพราะไม่เพียงแต่ช่วยลดงบประมาณของรัฐ ซึ่งในอนาคตมั่นใจว่างบ ภาครัฐส่วนนี้อาจไม่เพียงพอ แต่เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการด้วย แต่ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะสามารถออกนอกระบบได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องมี ได้แก่ องค์กรต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง และคณะผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์สูง ประกอบกับส่วนสำคัญคือ ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นจะล้มไม่เป็นท่า

สรุปคือ ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณให้โรงพยาบาลบ้างบางส่วน แต่ไม่จำเป็นต้องช่วยทั้งหมด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image