คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ใครแพ้ ใครชนะ ศึกป่วนเลือกตั้งมะกัน

มีคำถามเชิงต่อว่าต่อขานมาว่า เรื่องเล่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนยังไม่สะเด็ดน้ำใช่หรือไม่?

เรื่องที่ยังคาใจส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับปฏิกิริยาของสหรัฐอเมริกา เมื่อรู้แน่ชัดว่า ถูกเจาะระบบการเลือกตั้งในหลายๆรัฐ และวิธีการรับมือเพื่อป้องกันปัญหาในวันเลือกตั้งว่าเขาทำกันอย่างไร

ย้อนกลับไปเล็กน้อยว่า สหรัฐอเมริกาพบว่าถูกแฮกเกอร์เจาะระบบฐานข้อมูลเลือกตั้งตั้งแต่ราวต้นเดือนมิถุนายนเมื่อปีที่แล้ว จากเหตุการณ์ที่แคลิฟอร์เนีย แต่ต้องรอจนถึงราวกลางเดือนกรกฎาคม จึงได้หลักฐานบ่งชี้ว่า เป็นฝีมือของ “แฟนซี แบร์” กลุ่มแฮกเกอร์จากรัสเซีย ที่งานหลักคือทำภารกิจตามคำสั่งของหน่วยข่าวกรองกองทัพรัสเซียอย่าง “จีอาร์ยู”

พฤติกรรมแฮกเกอร์ มีทั้งการเข้าไปแก้ไขข้อมูลผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งในฐานข้อมูล ไปจนถึงการลอบ “ก็อปปี” ไฟล์เกือบแสนไฟล์ เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียน กระทั่งบางกรณีมีความพยายามในการ “ลบ” ข้อมูลทิ้ง

Advertisement

ทั้งหมดสอดคล้องกับรายงานของหน่วยข่าวกรองอเมริกันที่ระแคะระคายมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ว่ารัสเซียอาจพยายามเข้าไปแทรกแซงในระบบการเลือกตั้งอเมริกันที่แทบทั้งหมดทำผ่านเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ และฐานข้อมูลของแต่ละรัฐทั้งหมดเชื่อมโยงอยู่กับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา

ราวกลางเดือนสิงหาคม สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) พบว่าไม่เพียงระบบและฐานข้อมูลเลือกตั้งของ อิลลินอยส์ แอริโซนา และแคลิฟอร์เนียเท่านั้นที่ถูกเจาะ แต่การแทรกซึมเงียบๆยังลามไปถึงฟลอริดา และนิวเม็กซิโก

ต่อมาอีกไม่ช้าไม่นานก็พบว่า รัฐต่างๆครึ่งประเทศถูกแฮก และได้ข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า ทุกรัฐถูกแฮก ขึ้นอยู่กับว่า แฮกแล้วจะสำเร็จหรือไม่เท่านั้น

Advertisement

จากเรื่องที่เคยเป็นเพียงเหตุการณ์ชวนตกอกตกใจ ก็กลายเป็นความตึงเครียดที่พัวพันถึง “ความมั่นคงของชาติ” ขึ้นมา

ตอนนั้น ฝ่ายอเมริกันรู้แล้วว่าใครทำ แต่ที่ยังไม่รู้ก็คือ ทำไปด้วยวัตถุประสงค์ใดกันแน่?

 

 

ในเวลานั้นไม่เพียงหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองทั้งหมดจะตระหนักในเรื่องนี้เท่านั้น ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายังรับรู้เรื่องทั้งหมดอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดทีมเฉพาะกิจเพื่อรับมือและยับยั้งการกระทำของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้บรรลุผลขึ้นมา ภายใต้การประสานงานของ ไมเคิล แดเนียล ผู้ประสานงานความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำทำเนียบขาวในขณะนั้น

ทีมเฉพาะกิจดังกล่าวประกอบขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากทั้ง กระทรวงยุติธรรม, เอฟบีไอ, กระทรวงความมั่นคงภายในมาตุภูมิ (ดีเอชเอส) และหน่วยงานข่าวกรองต่างๆ รวมถึง “ผู้ชำนัญพิเศษ” เฉพาะด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอ็ด เฟลเตน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์จากมหาวิทยาลัยปรินซตัน กับทีมงานจาก สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (เอ็นไอเอสที)

เอ็นไอเอสที คือผู้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่อง ส่วนเฟลเตน คือนักวิชาการที่รู้เรื่องดีที่สุดว่าจะเจาะระบบและครอบงำเครื่องนี้ได้อย่างไร

อีกหนึ่งที่เป็นหัวหอกในเรื่องนี้ก็คือ แอนโธนี เฟอร์เลนเต ผู้อำนวยการฝ่ายตอบโต้อุบัติการณ์บนโลกไซเบอร์ ประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสซี)

ภารกิจแรกของทีมเฉพาะกิจก็คือ ประมวลแล้วประเมินให้ได้ว่ารัสเซียต้องการอะไร พวกเขาได้ข้อสรุป 3 ประการ

แรกสุดก็คือ ทำให้การเลือกตั้งป่วนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการแก้ไข เปลี่ยนแปลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตัวอย่างของพฤติกรรมที่ส่อเจตนานี้ก็คือ ความพยายามปรับแก้ “ที่อยู่” ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิที่มีเจตนาทำให้ละเอียด รอบคอบ และปิดบังซ่อนเร้น อาทิ คำสั่ง แก้ตัวอักษรหรือตัวเลข ตัวที่ 2 ในที่อยู่ดังกล่าวทุกที่อยู่ เป็นต้น

แน่นอน ผู้ที่ถูกแก้ไขที่อยู่จนลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งไม่ได้ ยังสามารถออกใบรับรองและบัตรเลือกตั้งชั่วคราวให้ลงคะแนนได้อยู่ดี แต่นอกจากจะโกลาหลแล้ว ยังสามารถใช้เป็นข้อสังเกตเรื่องการ “โกง” หรือ “พลร่ม” และ “ไพ่ไฟ” เรื่อยไปจนถึงการใช้เพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อ” ได้อีกด้วย

ข้อสรุปที่สองที่เป็นไปได้ก็คือ ทางการรัสเซียต้องการเจาะระบบเครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หวังผลถึงการควบคุมผลการเลือกตั้ง เพียงหวังเจาะให้ได้สักเครื่อง แล้วนำไปอวดอ้างว่าสามารถทำได้กับทุกๆเครื่อง ที่ใช้ในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา

นั่นไม่เพียงทำลายความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ ยังทำลายความน่าเชื่อถือของผลการเลือกตั้งทั้งหมดได้เลยอีกต่างหาก

เครื่องลงคะแนนในสหรัฐอเมริกา ยี่ห้อ “ดีโบลด์” เป็นเครื่องลงคะแนนระบบหน้าจอสัมผัส เจาะระบบเข้าไปในเครื่องได้หรือไม่? เฟลเตนยืนยันว่าได้ แต่การเจาะระบบเครื่องเพื่อควบคุมคะแนนให้เป็นไปตามต้องการทำได้ยาก เพราะเลือกตั้งอเมริกันเป็นเรื่องของ “รัฐใครรัฐมัน” และใช้ระบบเลือก “คณะผู้เลือกตั้ง” ผู้ที่จะควบคุมผลการเลือกตั้งได้ ต้องรู้ว่า รัฐไหนคือรัฐชี้ขาด รัฐไหนที่มีอิทธิพลต่อชัยชนะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ข้อสุดท้ายที่ทีมเฉพาะกิจสรุปออกมาก็คือ รัสเซีย หวังเจาะเข้าไปในระบบรายงานคะแนนการเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อสังเกตในทำนองเดียวกันว่า การเจาะเข้าไปเพื่อแก้ไขรายงานคะแนนนั้น “ยาก” เพราะระบบเลือกตั้งให้อิสระกับแต่ละรัฐสูง และมีขั้นตอน “รับรองผล” ของแต่ละรัฐแตกต่างกันออกไป

แต่เชื่อว่าเป้าหมายของแฮคเกอร์อยู่ที่กระบวนการ “รายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ” ของสื่อต่างๆ อย่างเช่น เอพี ที่เป็นแหล่งหลักของสื่อทุกสำนัก

ถ้าทำให้ระบบของเอพีล่ม ความโกลาหลและข้อกังขาในการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามมาได้เหมือนกัน

 

 

จากข้อสรุปในการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว นิตยสารไทม์ ระบุว่า ทีมเฉพาะกิจนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำแผนปฏิบัติการความยาว 15 หน้ากระดาษ เพื่อใช้รับมือและยับยั้งการป่วนการเลือกตั้งที่เชื่อว่ามาจากรัสเซีย ซึ่ง ไทม์ ได้สำเนามาทั้งหมด และใช้เป็นพื้นฐานในการทำรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนชิ้นนี้
นอกเหนือจากนั้น ยังมีการบรรยายสรุปสถานการณ์ให้กับ เดนิส แมคโดนาฟ ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเวลานั้น

ในเดือนสิงหาคมเช่นเดียวกัน เจห์ จอห์นสัน รัฐมนตรีดีเอชเอสในรัฐบาลโอบามา ถึงกับเรียกประชุมผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ หารือกับผู้รับผิดชอบระบบการเลือกตั้งของทุกรัฐ เสนอความคิดจะประกาศให้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งเป็น “สาธารณูปการที่สำคัญยิ่งยวด” ซึ่งจะทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจเข้าไปคุ้มครอง รักษาความปลอดภัยจากเงื้อมมือของแฮกเกอร์ ทำนองเดียวกับสถานะของ โรงไฟฟ้า และเครือข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้า หรือ ระบบเครือข่ายเพื่อการธนาคาร

แต่เรื่องนี้ ขัดแย้งกับขนบประเพณีเรื่องความเป็น “อิสระ” ของรัฐแต่ละรัฐจากรัฐบาลกลางอย่างรุนแรง ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ความพยายามเช่นนี้ถึงจะเกิดในช่วงเวลาปกติยังเกิดขึ้นได้ยาก อย่าว่าแต่ ตอนที่มีการเสนอกันขึ้นมานั้น การเลือกตั้งสำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกากำลังใกล้เข้ามาทุกที

บางรัฐมองว่า นี่เป็นความพยายามที่จะ “แทรกแซง” กิจการของตนเองจากรัฐบาลกลาง ตัวแทนบางรัฐ “กังขา” ไปถึงขนาดว่า รัฐบาลโอบามา กำลังทำอะไรกับการเลือกตั้งหรือไม่?

โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปอีก เมื่อตัวแทนพรรครีพับลิกัน ลากเรื่องนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองโดยตรง และพยายามใช้ประโยชน์จากมันให้ถึงที่สุด

ทรัมป์ ไม่เพียงปฏิเสธข่าวการเจาะระบบของรัสเซีย แต่ยังกล่าวหา “เดโมแครต” ว่า “แฮกระบบของตัวเอง”
ต่อด้วยการออกมาประกาศแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น “จะมีการโกง” และย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เลือกตั้งหนนี้ “โกง” กันแน่ๆ

ถึงขนาดใกล้วันเลือกตั้ง ทรัมป์ ยังออกมากล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่า กำลังดำเนินความพยายามใช้คนมาลงคะแนนเสียงแบบผิดกฎหมาย เพื่อ “ปั้นคะแนน” ให้ ฮิลลารี คลินตัน

ความพยายามของรัฐบาลกลางที่จะเข้าคุ้มกันเพื่อปกป้องระบบการเลือกตั้งทั่วประเทศ จึงเป็นหมันในที่สุด
สุดท้าย บารัค โอบามา หันไปใช้วิธีการ “ตรงไปตรงมา” ที่สุด เพื่อยับยั้งปัญหานี้

โอบามา อาศัยโอกาสในการพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างดินเนอร์กับ วลาดิมีร์ ปูติน ในตอนต้นเดือนกันยายนระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศจี 20 ที่นครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี

เขากระซิบบอกกับผู้นำรัสเซียด้วยท่าทีจริงจังและน้ำเสียงเคร่งเครียดสูงสุดว่า

การเจาะระบบทุกอย่างต้อง “ยุติ” ลงในทันที!

 

 

ตามข้อมูลของไทม์ บอกว่า การกระซิบครั้งนั้น “ได้ผล” ทุกอย่างยุติลงเหมือนปลิดทิ้ง แต่พอถึงต้นเดือนตุลาคม แฮกเกอร์รัสเซียก็เริ่มแผลงฤทธิ์อีกครั้ง คราวนี้เหยื่อคือบริษัทซอฟต์แวร์ ชื่อ “วีอาร์ ซิสเต็มส์” ที่ทำหน้าที่จัดหาและผลิตซอฟท์แวร์และอุปกรณ์ให้กับระบบเลือกตั้งอย่างน้อยใน 8 รัฐของสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การฝึกซ้อมปฏิบัติการรับมือการเจาะระบบครั้งใหญ่ของทีมเฉพาะกิจทำเนียบขาวในวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นการฝึกตามสถานการณ์รบจำลองที่เรียกว่า “วอร์เกม” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ภายใต้สถานการณ์สมมุติว่า ระบบการเลือกตั้งของประเทศถูก “ล่วงล้ำ” จะตอบโต้อย่างไร และแต่ละฝ่ายจะทำหน้าที่อย่างไร?

ไทม์ ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันเลือกตั้ง การป้องกันระบบทั้งหมดทำกันอย่างไรและมีการตอบโต้ความพยายามใดๆอย่างไร

แต่อย่างที่เรารู้กัน วันที่ 8 พฤศจิกายนมาถึงและผ่านไปโดยไม่มีอะไร “ใหญ่โต” ให้เห็นกันจากภายนอก
แต่ผลสรุปบางประการทำให้เราพอจะคาดการณ์ได้ว่า ใครคือผู้ชนะใครคือผู้แพ้ใน “สงครามไซเบอร์” กลายๆหนนี้

ผลโพลของกัลลัพ ที่ทำขึ้นในวันเลือกตั้ง ในท่ามกลางข่าวสะพัดว่า รัสเซียแฮกการเลือกตั้งและทรัมป์ย้ำแล้วย้ำอีกว่า มีการโกง ทำให้ความเชื่อถือของคนอเมริกันต่อการเลือกตั้งทั้งระบบลดลงสู่ระดับต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

69 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันไม่เชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะ “ตรงไปตรงมา”

หลังการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้คนแวดล้อม ถูกสอบสวนอย่างเป็นทางการว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัสเซียในการป่วนการเลือกตั้งครั้งนี้หรือ รู้เห็นและสมคบคิด เพื่อการนี้หรือไม่ และ มีพฤติกรรมอันเป็นการ “ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม” อันสืบเนื่องมาจากกรณีนี้หรือไม่

ซึ่งยังคงคาราคาซังและกลายเป็นเหมือนปิศาจสิงสู่สถานะประธานาธิบดีของทรัมป์มาจนถึงทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image