เปิดชีวิต ‘ผู้พิพากษาหญิง’ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล จาก ‘ลูกสาวทหารม้า’ สู่ ‘ท่านเปาหญิง’

เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม ในฐานะผู้พิพากษาหญิงผู้คร่ำหวอดในแวดวงตุลาการมากว่า 36 ปี ก่อนเข้ามาสู่แวดวงองค์กรอิสระ เปิดมุมมองใหม่ที่สังคมควรเข้าใจ และศาลต้องปรับตัว

กำลังพูดถึง สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผู้พิพากษาหญิงที่พิจารณาคดีสำคัญหลายคดี หลังเกษียณอายุราชการได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ย้อนกลับไปในอดีต “สมลักษณ์” เกิดในครอบครัวทหารมีคุณพ่อเลื่อน นัยนะแพทย์ เป็นทหารม้า บรรดาศักดิ์พันโทพระจัดกระบวนพล ส่วนคุณปู่เป็นหมอในพระราชวังสมัย ร.5-ร.6 มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวโรสถประสิทธิ์ นัยนะแพทย์ ต่อมาได้นำบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อมาใช้เป็นนามสกุล

ตอนเป็นเด็ก สมลักษณ์ซนมากเสียจนเป็นที่เลื่องลือ ครั้งหนึ่งเคยวิ่งหกล้มจนคางแตก แม้เป็นหลานคุณตาที่รักมากยังเคยถูกท่านวิจารณ์ว่า “ไม่เคยพบเคยเห็น เด็กผู้หญิงอะไรซนระยำ” ยังไม่ชอบเรียนหนังสือด้วย

Advertisement

“เวลาไปส่งที่โรงเรียนจะร้องให้ จะกรี๊ดไม่ยอมเรียน จนในที่สุดต้องพากลับมาเล่นอะไรอยู่ที่บ้าน จนใครผ่านมามักจะบอกว่า เด็กคนนี้ท่าจะเอาดีไม่ได้ ดังนั้น ก็อยากจะฝากบอกว่า พ่อแม่คนไหนที่มีลูกแล้วระอาว่าความประพฤติไม่ดี มันไม่แน่เสมอไปว่าเขาจะเสียหายตลอดชีวิต เพราะต่อไปเขาอายุมากขึ้น จะเกิดความรับผิดชอบแล้วก็กลับตัวได้”

สมลักษณ์เองเมื่อโตขึ้นก็มีความเปลี่ยนแปลง หลังเข้าเรียน ม.1 โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็สอบได้ที่ 1 ตลอด

“ด้วยความที่เรียนเก่งเพื่อนๆ มักจะให้ช่วยอธิบาย ช่วยสอน เราก็จะออกไปยืนหน้าชั้นแล้วทำตัวเป็นครู จนมีอยู่วันหนึ่งครูมาเห็นเข้าก็พูดว่า แม่สมลักษณ์ทำตัวเป็นครูเลยนะ ตั้งแต่นั้นมาเลยมีความรู้สึกว่าต้องเป็นอาจารย์”

และมุ่งหวังจะเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ให้ได้ แต่เนื่องจากอาการป่วยทำให้พลาดจากคณะที่ต้องการ จึงเลือกเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ในรุ่นจะเรียกตัวเองว่า นิติศาสตร์ 01 คือเข้ามาเรียนในปี 2501 ซึ่งมีบุคคลที่สังคมรู้จักหลายท่าน อาทิ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ เป็นต้น

“ตอนแรกตั้งใจสอบเข้าอักษรศาสตร์อีกครั้ง ก็คุยกับเพื่อนว่าคิดจะไปสอบจุฬาฯ เพราะอยากเป็นอาจารย์มาก เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเธอจะกลับไปทำไม ต้องย้อนกลับไปเรียนปี 1 แล้วเธอเรียนกฎหมายได้ ถ้าอยากเป็นอาจารย์ก็เป็นอาจารย์ทางกฎหมายสิ จนถึงวันนี้ได้มาเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ‘วิชาพระธรรมนูญศาลยุติธรรม’ ตั้งแต่ปี 39 จนถึงปัจจุบัน ด้วยความรักในการสอน ก็คิดว่าเพื่อนพูดถูกนะ”

หลังเรียนจบเข้าทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นที่กรมเศรษฐสัมพันธ์ จากนั้นก็มาทำงานในกรมทะเบียนการค้า ขณะนั้นในกรมส่วนใหญ่จะจบ ม.6 เวลาเราลงมากินข้าวกลางวันจะมีคนมายืนมอง ตอนหลังพออยู่นานเข้าเลยรู้ว่ามีคนพูดกันว่ามีผู้หญิงจบปริญญาตรีกฎหมายมาเขาเลยสนใจมาดูหน้าหน่อยสิ

“ต้องเข้าใจว่าสมัยนั้นผู้หญิงเรียนกฎหมายมีน้อยมาก ในคณะมีไม่ถึง 10 คน ขณะที่ผู้ชายเรียนกันเป็น 1,000 คน”

จนกระทั่งอายุใกล้จะ 30 ปี สมลักษณ์สอบชิงทุนไปดูงานด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส 9 เดือน ก่อนตัดสินใจสอบเป็นผู้พิพากษา

เป็นก้าวแรกที่เข้าสู่กระบวนการตุลาการอย่างเต็มตัว

ทำไมถึงตัดสินใจสอบเป็นผู้พิพากษา?

หลังกลับจากฝรั่งเศส คิดว่างานที่ทำอยู่ไม่มีทางไปต่อ คนที่เป็นหัวหน้าแผนกเขาก็เป็นจนเกษียณ เเล้วอายุเราก็มากขึ้น

เผอิญในวงการตุลาการที่ไม่เคยยอมรับผู้หญิงเป็นผู้พิพากษาเค้าเปิดรับ มีคุณชลอจิต จิตตะรุทธะ เป็นผู้พิพากษาหญิงคนแรกของประเทศ ก็นึกในใจว่าน่าจะเหมาะกับเรา เลยเรียนต่อเนติบัณฑิต แล้วก็สอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ในรุ่นมีผู้ชาย 80 คน ผู้หญิง 2 คน อีกคนคือ คุณดวงมาลย์ ศิลปอาชา ภรรยาคุณชุมพล ศิลปอาชา หลังอบรมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา 1 ปี ก็โปรดเกล้าฯเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง เพราะเมื่อก่อนขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม

เริ่มต้นเป็นผู้พิพากษา?

ตอนนั้นผู้หญิงเป็นผู้พิพากษาศาลธรรมดาไม่ได้ เป็นได้แค่ผู้พิพากษาศาลคดีเด็กและเยาวชน ปัจจุบันคือศาลเยาวชนและครอบครัว

จำได้ว่ามีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาท่านหนึ่ง พูดกับเราว่า ผมไม่เคยคิดและไม่เคยให้เกียรติผู้หญิงมาเป็นผู้พิพากษา เพราะผมคิดว่าเป็นไม่ได้ แต่พอท่านสองคนเข้ามา ผมได้ตรวจคำพิพากษาได้ดูความคิดความอ่าน ผมยอมรับว่าผู้หญิงมีความละเอียด มีการวินิจฉัยลึกซึ้ง ยอมรับว่าที่คิดมาแต่เดิมผมคิดผิด ซึ่งเราก็คิดว่าน่าจะมีอีกหลายท่านที่คิดแบบนี้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายในขณะนั้นก็ยังไม่ให้ผู้หญิงเป็นผู้พิพากษาศาลทั่วไป จึงเริ่มงานครั้งแรกที่ศาลเยาวชนจังหวัดสงขลา ก่อนจะย้ายไปอยู่ศาลเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา

มาประจำศาลทั่วไปได้อย่างไร?

ระหว่างที่อยู่ศาลเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีการจัดปีสตรีสากล และเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมในการประกอบอาชีพ จากนั้นมีการออกระเบียบให้ผู้พิพากษาหญิงเป็นผู้พิพากษาศาลได้ทั้งหมด เลยขอไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดจันทบุรี อยู่ที่นี่ 3 ปี ก็คิดว่าน่าจะขยับมาใกล้กรุงเทพฯ เลยขอมาประจำที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

ตอนอยู่ศาลจังหวัดสมุทรปราการเป็นผู้พิพากษามือรองของท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ทำงานหนักมาก แล้วหัวหน้าศาลท่านไม่ได้ขึ้นบัลลังก์พิจารณา แต่ท่านจะจ่ายสำนวนให้กับผู้พิพากษาเพราะคดีมันเยอะ ผู้พิพากษามือรองคือตัวเราจะต้องทำคดีใหญ่ทั้งหลาย จำได้คดีหนึ่งเป็น เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันชนกับเรือท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวผู้หญิงจากกรุงเทพฯ ขาขาดเป็นคดีใหญ่ เราต้องไปศึกษากฎหมายทางเรือ แล้วต้องดูด้วยว่าคำสั่งการท่าเป็นยังไง การสืบต้องลงไปในเรือ ดูว่าเขาสั่งการอย่างไร เพื่อเราจะได้พิพากษาคดีถูก แล้วคดีนี้อยู่ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งตั้งศาลยุติธรรมเป็นศาลทหาร เราเลยกลายเป็นตุลาการศาลทหาร มีองค์คณะ 3 คน แล้วไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้มันจะจบแค่เรา เลยต้องระมัดระวังอย่างมาก

เลยรู้สึกแปลกประหลาดว่าทำไมการปฏิวัติครั้งนี้จึงเอาพลเรือนไปขึ้นศาลทหารของกระทรวงกลาโหมเพราะทุกครั้งเขาจะตั้งศาลยุติธรรมเป็นศาลทหาร

ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าศาล?

หลังเป็นผู้พิพากษามือรองที่สมุทรปราการ ก็ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าศาลจังหวัดสวรรคโลกประมาณ 2 ปี ก็ไปเป็นหัวหน้าศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง และกลับเข้ากรุงเทพฯ

มาอยู่ที่ศาลแพ่งระยะหนึ่ง ก็ได้เป็นหัวหน้าคณะศาลอาญาแล้วขึ้นศาลอุทธรณ์ ชีวิตเป็นไปตามลำดับไม่เคยข้ามขั้น ก็อยู่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จนกระทั่งอาวุโสที่จะต้องขึ้นศาลฎีกา ที่จริงก็ไม่เคยหวังเพราะตอนมาเป็นผู้พิพากษาอายุเยอะเเล้วคิดว่าคงไม่มีทางอยู่ถึงศาลฎีกา

เข้าสู่องค์กรอิสระได้อย่างไร

เป็นผู้พิพากษาศาลฎีการะยะหนึ่ง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติให้ขึ้นเป็นรองอธิบดีศาลอุทรภาค 5 ประมาณ 2 ปี อายุครบ 60 ปี ได้ขึ้นเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จนอายุประมาณ 66 ปี ก็เกิดการรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

ท่านศิริชัย วัฒนโยธิน ก็บอกว่าตอนนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออกทั้งคณะแล้วต้องเลือกใหม่ พี่สมลักษณ์เป็น กกต.เถอะ ผมว่า กกต.ต้องมีผู้หญิงสักคน แล้วควรจะเป็นผู้หญิงลักษณะแบบพี่ ดูอ่อนนอกแข็งใน เป็นคนรื่นเริง มีมนุษยสัมพันธ์ดีแต่อย่าผิดมานะ ถ้าผิดฉันเอาตายแบบนี้ ถึงจะอยู่ในสถานการณ์ปฏิวัติได้

เป็นก้าวแรกที่เข้ามาอยู่ในแวดวงองค์กรอิสระและแวดวงการเมือง ก็มีหลายท่านที่รู้ข่าวโทรมาแสดงความเป็นห่วงว่าไม่อยากให้เป็น กกต.เลยเพราะการเมืองตอนนั้นมันวุ่นวายมาก แต่สุดท้ายต้องให้ผ่านศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาไม่เลือกเป็น กกต.

หลังจากนั้นเป็นอย่างไรต่อ?

พอไม่ได้รับเลือกเป็น กกต.ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งติดต่อมาว่ายังสนใจทำงานเป็นองค์กรอิสระไหม ตอนนั้นก็ตัดสินใจอยู่นาน แต่ในที่สุดก็ได้เป็น 1 ใน 9 คณะกรรมการ ป.ป.ช.

ตอนมาเป็น ป.ป.ช. เงินเดือนลดลงเยอะมาก ใครๆ ก็บอกว่าเป็นความโง่ของเราหรือเปล่า เป็นผู้พิพากษาก็ดีอยู่แล้วมาลดเงินเดือนตัวเอง แต่เมื่อเรามาเป็นแล้วไม่เคยเสียใจ เพราะเป็นผู้พิพากษาเราทำงานได้ในระดับหนึ่งแต่จะไม่มีโอกาสที่จะสื่อความคิดความอ่านของเราให้สังคม เพราะเป็นผู้พิพากษาไม่มีใครมาสัมภาษณ์ ไม่มีใครให้แสดงความคิดเห็นเหมือนตอนเป็น ป.ป.ช.

แต่ตอนแรกเลยเราหนีนักข่าวนะเพราะกลัว คือนักข่าวอยู่ได้แค่ชั้น 1 ก็จะให้รถมารับที่ชั้น 2 แล้วนั่งออกไปเลยไม่พบนักข่าว จนวันหนึ่งนั่งรถผ่านมาเห็นนักข่าวเด็กๆ เขานั่งอยู่ที่ฟุตปาธ ตากแดดร้อน ไม่มีเก้าอี้ ก็นึกในใจว่าเขาวัยเท่ากับลูกศิษย์เรานะแล้วเขาก็มีหน้าที่ในการหาข่าว เราก็เป็นตัวข่าวที่เขาสนใจ ซึ่งเขาทำหน้าที่ของเขาเราก็ทำหน้าที่ของเรา ทำไมเราถึงใจร้าย ตั้งแต่วันนั้นก็ตอบทุกครั้ง

เป็น ป.ป.ช.ทำคดีอะไรบ้าง?

ทำคดีสำคัญหลายคดี อย่างเรื่องประสาทเขาพระวิหาร คดีขึ้นค่าตอบแทนขององค์กรอิสระศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ 2551 ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของสำนวนแต่ก็เป็นคณะไต่สวน เพราะเขาตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนเป็นคณะไต่สวน แล้วบังเอิญเป็นคนที่มีความเห็นแย้งอยู่คนเดียว

ต้องขอบคุณทุกท่านที่ถูกกล่าวหาในสมัยที่เราทำงานเป็น ป.ป.ช. เพราะหลายท่านรู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ไม่เคยมาขออะไรที่ทำความลำบากใจให้ มีคนถามว่าถูกขู่บังคับหรือไม่ บอกตรงนี้เลยว่าไม่มี เราทำงานด้วยความสบายใจและดีใจที่ผลงานของเราออกมาแล้วเป็นประโยชน์ ไม่เคยเสียใจเลยที่เงินเดือนลดมา

มองเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของศาลอย่างไร?

เหตุการณ์บางอย่างทำให้อาจารย์ งง คือมีคนเอาระเบิดไปขว้างศาล ในชีวิตของการเป็นผู้พิพาษามา 36 ปี ไม่เคยนะ ตอนอยู่ที่จันทบุรี คนที่นั่นให้ความเคารพผู้พิพากษามาก แล้วที่นั่นเป็นศาลเก่าผู้พิพากษาจะเดินปนกันไปกับคู่ความ ตอนเราเดินผ่านทุกคนจะหลีกทางให้โดยที่ไม่ต้องบอก ก็มาคุยกับเพื่อนว่า อาจจะด้วยความที่ผู้พิพาษามีบารมีคนศรัทธามาก แต่เพื่อนก็พูดแบบขำๆ ว่าเขาเกรงบารมีหรือเขาเกรงกลิ่นศาลกันแน่ (หัวเราะ) เพราะเสื้อครุยที่เราสวมไม่เคยซักเลย บางคนใช้จนกระทั่งเกษียณอายุ เพราะรู้สึกว่าใส่นิดเดียวแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ถอดแล้ว

แต่มันเป็นการแสดงอย่างหนึ่งว่าประชาชนให้ความเคารพและศรัทธาผู้พิพากษาด้วยความจริงใจ ดังนั้น มันมีอะไรเกิดขึ้นในสังคมจึงทำให้คนไปขว้างระเบิดใส่ศาล ในบรรพตุลาการไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้

แล้วสิ่งที่เจอกับตัวเองเลย ตอนถูกเชิญไปพูดบนเวทีเสวนาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เรื่องเกี่ยวกับศาล คือนอกจากคนที่ไปฟังจะว่าศาลแล้ว วิทยากรที่นั่งอยู่ข้างๆ ก็ว่าศาลด้วย ต่อว่าจนกระทั่งเราก็บอกว่า ไม่รู้วันนี้มาเป็นวิทยากรหรือมาเป็นจำเลยสังคม แล้วสิ่งที่เขาว่านี้บางเรื่องก็อาจจะเป็นความเข้าใจผิด บางเรื่องก็อาจจะเป็นเรื่องจริงเหมือนกันที่ศาลมีการเปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าความศรัทธาในศาลวันนี้ลดระดับลง

แต่อยากฝากถึงศาลและผู้พิพากษาว่าอย่าเพิ่งไปโกรธสังคม ต้องหันมาดูตัวเราด้วยว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความศรัทธาลดลงแล้วพยายามปรับปรุง เพราะการปรับปรุงตัวเองมันง่ายกว่าการไปบอกว่า ทำไมคุณไม่เคารพฉัน

เวลาได้ยินสังคมตั้งคำถามเรื่องความยุติธรรมของศาลรู้สึกอย่างไร?

มันเจ็บปวดมาก ทุกครั้งที่เขาตำหนิเรื่องการทำงานของศาลมากขนาดนี้ ถึงแม้ตอนนี้จะไม่ได้อยู่ในศาลหรือไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในศาล ก็ยังอยู่รู้สึกอดห่วงใยไม่ได้

ปชช.จะพูดหรือวิจารณ์ระบบตุลาการทำได้มั้ย ควรมีขอบเขตแค่ไหน?

ถ้าพูดตามหลักวิชาการได้ แต่ถ้าวิจารณ์คดีไหนคดีหนึ่งว่า ตัดสินแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไปกินสินบนมาหรือเปล่า อย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าระบบศาลน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เป็นไปทางวิชาการ เป็นความคิดอ่าน ทำได้

มีวิธีไหนที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนบ้าง?

ตอนนี้มีประเด็นที่พูดกันมากเรื่อง 2 มาตรฐาน ต้องพยายามแก้เรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งผู้พิพากษาผู้ใหญ่ของเรา ท่านมีความกล้าหาญไม่เกรงกลัวใคร ไม่ว่าจะเป็นใคร ยิ่งใหญ่มาจากไหนถ้าท่านทำผิด ท่านก็กล้าจะพิพากษาลงโทษ อย่างกรณีคดีกินป่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ท่านไม่เกรงกลัวท่านบอกว่าเป็นไงเป็นกัน ถึงแม้จะเกี่ยวกับการเมืองเราต้องให้ความยุติธรรม เมื่อเขาได้รับความยุติธรรม ความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะเมื่อไหร่ที่บ้านเมืองยุ่งเหยิงสถาบันศาลจะต้องเป็นหลักที่จะแก้ไขและให้ความยุติธรรมกลับคืนสู่สังคม แล้วทุกอย่างมันจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

ตอนนี้เป็นทั้งอาจารย์และเป็นอดีตผู้พิพากษา ชอบอะไรมากกว่ากัน?

ชอบทั้งสองอย่าง เพราะจิตวิญญาณเมื่อเริ่มแรกอยากเป็นอาจารย์ แต่พอเป็นผู้พิพากษาก็คิดว่าอาชีพนี้เหมาะกับเรา เวลาทำงานก็ทำงานของเราให้ดีเรื่อยๆ ไม่ไปข้ามใคร แล้วการเป็นผู้พิพากษาต้องเคารพผู้อาวุโส ถ้าเราไม่ทำผิดจนอยู่ไม่ได้ เขาก็ไม่ข้ามรุ่นกัน ขนาดจะขึ้นรถยังต้องขึ้นตามอาวุโส นี่คือวัฒนธรรมของเรา

สิ่งที่ถ่ายทอดและสิ่งคาดหวังกับลูกศิษย์?

นอกจากความรู้ด้านกฎหมายที่ไม่เคยขยัก เวลาลูกศิษย์มีความเห็นต่างเราก็ยอมรับฟังไม่ใช่ถือความเห็นเราเป็นหลัก แล้วมักจะบอกลูกศิษย์เสมอว่า พวกคุณจะเป็นคนเก่งกฎหมายมากแค่ไหนได้เกียรตินิยมมา อาจารย์ก็ดีใจด้วย แต่จะดีใจที่สุดเมื่อพวกคุณเป็นนักกฎหมายที่ดี ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ อย่าขายวิญญาณของนักกฎหมาย คือ เป็นที่พึ่งของประชาชน รักษาความเป็นธรรม ไม่ไปทำอะไรที่ทำให้สังคมเดือดร้อนเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง เป็นสิ่งที่สอนมาทุกรุ่น และคิดว่าจะสอนไปตลอดถ้ามหาวิทยาลัยยังเชิญให้สอน

คนที่เรียนกฎหมายในประเทศไทย จะประสบสำเร็จต้องมีคุณสมบัติอะไร?

ผู้พิพากษา ต้องทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ คืออคติ 4 แล้วต้องมีความเป็นกลาง จะเขียนบทความเสมอว่า กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดากฎหมายไทย จะกราบทูลรัชกาลที่ 5 พระราชบิดาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจ้างเขามาเป็นกลาง ควบคุมเขาไม่ได้ ต้องให้เขามีความสำนึกตัวเอง รับผิดชอบตัวเอง จึงให้เงินเดือนศาลมากกว่าคนอื่น จะได้ไม่เกิดการคอร์รัปชั่น หรือคนโน้นสั่งให้ทำเพื่อฉัน

ถ้าสังคมไทยไม่มีศาลจะเป็นอย่างไร

คงวุ่นวายรบรากันใหญ่ ใครไม่พอใจใครก็ทุบหัวกัน แล้วพอประเทศใหญ่ขึ้นก็ต้องมีใครสักคนหรือคณะที่มาทำการแทน โดยต้องผ่านการอบรมผ่านการดูแล มีอุดมการณ์ มีความคิดความอ่าน เคารพอาวุโส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image