ฤดูการแต่งตั้งโยกย้าย : โดย สมหมาย ภาษี

ก่อนถึงฤดูการโยกย้ายประจำปีงบประมาณของราชการ บรรดาข้าราชการทั้งหลายไม่ว่าเป็นพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ระดับตั้งแต่รองอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต่างก็จะมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ถึงกับต้องไปหาหมอให้สั่งยาบางตัวมารับประทาน เหตุที่ทำให้บรรดาข้าราชการตื่นเต้นกันมากในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่แต่ละคนแอบคิดและคาดหวังไว้เงียบๆ บางคนคิดอยู่คนเดียวไม่บอกแม้แต่กับภรรยาที่แสนจะน่ารัก คิดอย่างมีความทุกข์ หรือคิดอย่างมีความสุข ก็สุดแท้แต่จินตนาการของแต่ละบุคคล

จะทุกข์จะสุขมากแค่ไหนไม่มีใครรู้ เพราะบางคนตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็งมาด้วยความซื่อสัตย์และอดทนมาร่วมครึ่งชีวิต บางคนก็ได้รับใช้นายและครอบครัวทุกรูปแบบมาหลายปี บางคนแอบไปหาใครต่อใครให้ช่วยฝากฝังกับนายใหญ่ นายกลาง
มาแล้วอย่างดิบดี เมื่อถึงฤดูการแต่งตั้งโยกย้ายจะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไร

ทุกปีก่อนถึงฤดูนี้ก็จะได้ยินข่าวการถูกโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม มีการข้ามห้วย มีเด็กเส้นข้ามหัวจากสื่อต่างๆ เป็นข่าวใหญ่ทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากรถถังและปากกระบอกปืน ช่างเหมือนกันราวกับว่าพระอินทร์ พระพรหม หรือพระวิษณุกรรม ได้ทรงแกะเฉพาะแม่พิมพ์หรือพิมพ์เขียวตัวนี้ให้ประเทศไทยใช้ตลอดไปชั่วนิรันดร
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ ท่านทั้งหลายจะได้ยินข่าวที่ใหญ่พอสมควรข่าวหนึ่ง เรื่องการแต่งตั้งท่านผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม มาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แทนท่านเลขาฯคนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งผู้ใหญ่ที่คุมนโยบายด้านความมั่นคงได้กล่าวยืนยันว่า ท่านพลเอก วัลลภ รักเสนาะ ท่านนี้ แม้จะเป็นการตั้งข้ามห้วยมาเพราะเป็นความจำเป็นนั้น เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงดีมาก มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษดีด้วย คือ เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

สำหรับท่านรองเลขาธิการ สมช.ที่อาวุโสรายปัจจุบันที่จะต้องเป็นรองต่อไป ตามข่าวบอกว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะใช้มาตรา 44 ตั้งตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการ 100 ตำแหน่ง ให้ผู้ที่ควรจะต้องมีการเยียวยา เช่น จะตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 ขึ้นมาแบบยกเข่ง ซึ่งก็เป็นความคิดหรือวิสัยทัศน์ที่ดีของรัฐบาล คสช.ที่มีมาตรา 44 ไว้ใช้แก้ปัญหาได้สารพัดอย่าง แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าต่อไปเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีอำนาจแบบมาตรา 44 ไว้ใช้แล้ว ถ้าหากว่านายกรัฐมนตรีคนนอกที่จะมาเป็นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาแล้ว ท่านจะต้องอึดอัดมากไหมนี่

Advertisement

และก็อดคิดไม่ได้ว่าผู้อาวุโสทั้งหลายที่ว่ารับราชการมานาน มีฝีมือดีต่างๆ ที่จะได้รับการเยียวยาด้วยตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาตามมาตรา 44 นี้ เขาจะไม่คิดถึงปมด้อยของการนั่งในตำแหน่งยกเข่งนี้ไปตลอดจนจบชีวิตราชการหรือ

การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับอธิบดีในกระทรวงการคลังปีนี้ได้ผ่านไปแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้มีตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักแห่งหนึ่งคือ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ ปรากฏว่าได้มีการโยกย้ายท่านรองปลัดกระทรวงท่านหนึ่งมานั่งในตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ท่านเองก็ยอมรับว่าไม่รู้เรื่องการบริหารหนี้สาธารณะเลยเพราะท่านนั้นจบปริญญาทางกฎหมาย เคยเป็นผู้พิพากษาตุลาการมา เมื่อมาอยู่กระทรวงการคลังก็ทำเรื่องกฎหมาย เป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สอบสวนข้าราชการที่กระทำผิดประพฤติมิชอบมาด้วยดีพอควร จนสามารถไต่เต้าเป็นผู้ตรวจราชการ และรองปลัดกระทรวงตามลำดับ ซึ่งในกระทรวงการคลัง สองตำแหน่งนี้เป็นที่รู้ดีว่าเป็นตำแหน่งให้รอนั่งพักหรือให้พักโดยไม่ต้องรอ

เท่าที่ผู้เขียนเคยร่วมงานกับท่านยืนยันได้ว่าท่านเป็นคนดีมาก เป็นคนน่ายกย่อง มีความขยันอดทน ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ปกครองคน แต่ทว่าท่านไม่มีความรู้เรื่องหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเลย ที่ยกมากล่าวนี้ไม่ได้มีเจตนาร้ายใดๆ ต่อท่าน เพียงแต่เห็นด้วยกับเสียงวิจารณ์ของข้าราชการในกระทรวงการคลังที่มีความฉงนกันทั้งบาง

Advertisement

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้จะหาว่ารัฐบาลตั้งคนไม่เหมาะสมมารับตำแหน่งใหญ่ๆ โดยขาดการพิจารณาที่รอบคอบเสมอไป สมัยรัฐบาลเลือกตั้งแต่ก่อน ก็มีการแต่งตั้งโยกย้ายตามใจฉันให้เป็นที่กล่าวขวัญกันมากรายเช่นกัน หากผู้ใดจะคิดว่าทีใครทีมันก็ย่อมได้ แต่ในช่วงรัฐบาล คสช.นี้ก็ได้พิจารณาคนดี เก่ง มีความรู้ ความสามารถ มีความเหมาะสมไร้ที่ติในสายตาของสาธารณชนก็หลายราย โดยเฉพาะตำแหน่งที่สำคัญในองค์กรอิสระที่ต้องรับผิดชอบดูแลเรื่องเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของชาติ และเรื่องที่ดีงามที่เกี่
ยวกับความอยู่รอดของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนทั้งประเทศ ดังเช่นตำแหน่งผู้ว่าราชการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อสองปีที่แล้ว และในปีนี้ก็มีตำแหน่งอัยการสูงสุดที่ได้มีการสรุปในขั้นการสรรหาไปแล้ว และอีกตำแหน่งคือ ตำแหน่งประธานศาลฎีกาซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการแต่งตั้ง คาดว่าจะได้ท่านที่เหมาะสมจริงๆ ในเร็ววันนี้ เป็นต้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่ได้เห็นมาค่อนข้างยาวนาน ขอสรุปเองว่า ประเทศชาติจะประสบกับความเลวร้ายหรือความเจริญเติบโตได้แค่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีนักการเมืองที่เป็นคนดีจริงๆ มาดูแลประเทศหรือไม่เป็นประการสำคัญ เพราะเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจแต่งตั้งผู้บริหารประเทศในทุกจุด ถ้าเขาเป็นคนไม่ดี เขาก็จะตั้งแต่พรรคพวกที่เป็นคนไม่ดีมานั่งในตำแหน่งสำคัญๆ เป็นต้น

ส่วนกระบวนการสรรหาที่เราไปเลียนแบบมาจากต่างประเทศนั้นก็ใช้ไม่ได้สำหรับประเทศไทย ถ้าผู้ดูแลกำกับการสรรหานั้นมีจิตใจอกุศลเป็นที่ตั้ง ก็สั่งการตามที่ต้องการได้หมด ตราบใดที่คนไทยยังมีวิสัยเชื่อฟังผู้ใหญ่โดยไม่ต้องคิด ยอมทำแม้ไม่ชอบธรรม ยอมทำเพราะเกรงใจ หรือเพราะเป็นพวกพ้อง เพราะกระบวนการสรรหานั้น ประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่สื่อก็ไม่สามารถทราบหรือรู้เห็นได้

ต่อไปจะต้องออกกฎเกณฑ์ให้ประชาชนรู้ในทุกขั้นตอนด้วย

ใคร่จะขอเล่าเรื่องการแต่งตั้งในประเทศเพื่อนบ้านให้ฟัง คือประเทศเมียนมานี่เอง สมัยเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว ยังเรียกกันว่าประเทศพม่า ครั้งหนึ่งมีการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทยกับพม่าที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนชุดค่อนข้างใหญ่ไปเจรจาด้วย นำโดยท่านนาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เขียนเองได้ร่วมคณะไปฐานะผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงอื่นๆ ก็มีหลายหน่วย ที่จำได้เช่น ท่านพลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ สมัยนั้นท่านดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ทั้งชุดเดินทางโดยได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้เครื่องบินจากกองทัพอากาศไทย

ในการปฏิบัติราชการครั้งนั้น ได้เห็นสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของคนพม่าให้สลดหดหู่มากทีเดียว บางท่านได้ติดต่อกับสถานทูตไทยว่าให้ช่วยแลกเงินจ๊าด ซึ่งเป็นเงินท้องถิ่นให้หน่อย ส่งใบละ 100 เหรียญสหรัฐไปแลก ได้เงินจ๊าดมากองพะเรอวางบนโต๊ะสูงร่วมคืบ จำได้ว่ากลางคืนนั่งดื่มเบียร์กันร่วมโหลเพราะราคาเบียร์ขวดละ 45 จ๊าด สั่งมาทีละขวดจ่ายไปด้วยเงินใบละ 100 จ๊าด พร้อมบอกบ๋อยว่าที่เหลือเป็นค่าทิป พวกบ๋อยเอาใจใส่ดูแลโต๊ะผู้แทนไทยอย่างดีมาก

การไปประชุมเจรจาครั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้แทนพม่า ซึ่งมีระดับรัฐมนตรีมาร่วมหลายราย เขียนคำนำหน้าตั้งแต่หัวหน้าคณะว่ามิสเตอร์ทุกคน ก็เกิดสงสัยจึงได้ถามไปว่า ไม่มีนายทหารในคณะผู้แทนเลยหรือ เพราะรู้อยู่ว่ารัฐบาลพม่าเป็นทหารเกือบเต็มร้อย คำตอบที่ได้มาคือที่นั่งอยู่เป็นทหารทุกคน ยกเว้นแต่หัวหน้าคณะที่เป็นพลเรือน แต่เมื่อออกจากทหารมาทำงานอื่น เขาไม่ใส่ยศให้เห็น จึงใช้คำนำหน้าว่านายแทน ผิดกับหัวหน้าคณะของไทยเรามีคำนำหน้าว่า นาวาอากาศตรีครับ แต่ก็ไม่ได้ถามต่อว่า ในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของเขานั้นมีทหารเป็นกรรมการทั้งหมดหรือเปล่า เพราะรู้ว่าหากนำมาเทียบกับคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจไทย ไทยเรามีทหารเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจน้อยกว่าแน่ แต่ในปัจจุบันนี้ไม่แน่นะครับ

การแต่งตั้งโยกย้ายในภาครัฐกับภาคเอกชน โดยหลักตรรกะ หลักปรัชญา และหลักที่ดีทั้งหลายทั้งปวงย่อมมีความไม่เหมือนกัน เพราะราชการนั้นเป็นของส่วนรวม เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติและเพื่อเป้าหมายของการเพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีให้ประชาชนในชาติอย่างยั่งยืน ส่วนภาคเอกชนมีเป้าหมายเพื่อของตนเอง ของพวกพ้อง ญาติสนิทมิตรสหาย ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ ก็เพื่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้น เอกชนจึงแต่งตั้งพี่น้อง ลูกหลาน ญาติหรือเพื่อนมาคุมกิจการ บริษัทใหญ่ในต่างประเทศจะมีการวางตัวผู้มีฝีมือที่เป็นคนนอกมาเป็นใหญ่ในองค์กรมากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีน้อย เพราะยังยึดติดอยู่กับความเป็นธุรกิจครอบครัวมาแต่ดั้งเดิม

ขอย้ำว่าเรื่องการแต่งตั้งและการปกครองจะนำหลักของเอกชนมาใช้กับราชการไม่ได้

สิ่งที่เป็นปัญหาหลักของการแต่งตั้งในระบบราชการไทยทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือแม้แต่รัฐบาลที่มาด้วยอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างก็มีวิธีปฏิบัติในเรื่องแต่งตั้งคนทั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน ยิ่งในสมัยนี้จะเห็นได้ชัดตั้งแต่การกำหนดแนวทางในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ว่าด้วยการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่ามีบทบัญญัติว่าด้วยการกำหนดตัวบุคคลส่วนหนึ่งที่จะมาเป็นสมาชิกรัฐสภาตั้งแต่ต้นว่าไม่เข้าหลักประชาธิปไตย

ดังนั้น เมื่อส่วนหัวมีแนวทางอย่างนี้ แล้วจะหวังได้อย่างไรให้ระดับล่างมีการแต่งตั้งคนของรัฐที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ให้มีความชอบธรรม ให้ได้คนดีมาทำงานให้ชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีให้ประชาชน คงต้องคอยไปชาติหน้าแล้วละครับ

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image