คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เพิ่มทักษะชีวิต

พบ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทีไรได้ประโยชน์ทุกที

ครั้งแรกที่มีนัด ณ แบงก์ชาติตอนรับตำแหน่งก็ได้ฟังวิชั่น

มองเห็นยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทยในมิติต่าง ๆ

หลังจากนั้นในงานมติชน 40 ปี ที่จัดเรื่องฟินเทค ก็ได้ยินข้อแนะนำจาก ดร.วิรไท ในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีทางการเงิน

Advertisement

วันก่อนไปนั่งร่วมโต๊ะอาหาร ได้ฟัง ดร.วิรไท แสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน

พอ ดร.วิรไท พูดถึงเรื่องหนี้ ก็หวนให้ระลึกถึงข่าวสารเมื่อเร็วๆ นี้

ข่าวผลการสำรวจหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่ระบุว่ายังมีสูง

Advertisement

“คนไทยอยู่ในภาวะมีหนี้เร็ว มีหนี้นาน มีหนี้เยอะ”

คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี

ทั้งๆ ที่ตามปกติแล้วคนที่เริ่มเป็นหนี้ควรจะอยู่ในกลุ่มอายุ 40-50 ปี

ในเมื่อคนไทยเริ่มเป็นหนี้ตอนอายุไม่ถึง 30 ปี จึงถือว่าเป็นหนี้เร็ว

อีกกรณีหนึ่งคือการเป็นหนี้ในช่วงสูงวัย

ผลการศึกษาพบว่าคนอายุ 60 ปี ยังมีก้อนหนี้จำนวนหนึ่ง ทำให้คนอายุเยอะยังต้องทำงาน

นี่เป็นข้อยืนยันว่าคนไทยเป็นหนี้นาน

นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจเรื่องหนี้เสีย ซึ่งแสดงว่าเป็นหนี้เยอะ

เยอะจนแบกรับภาระการชำระไม่ไหว

ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มคนอายุน้อยที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงที่สุด

ในกลุ่มนี้ 1 ใน 5 มีหนี้เสีย

ดร.วิรไทบอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความพยายามช่วยบรรเทาเรื่องหนี้ครัวเรือน

มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคลินิกแก้หนี้ขึ้นมาช่วย

แต่โครงการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

ถ้าคิดจะให้ปัญหาเรื่องหนี้เสียเบาบางลงอย่างยั่งยืน

คนไทยต้องมีทักษะชีวิตเพิ่มเติม

เป็นทักษะด้านการบริหารจัดการเงิน

ได้ฟังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง

นึกถึงการทำบัญชีครัวเรือน

การทำบัญชีครัวเรือนที่ต้องจดบันทึกรายรับและรายจ่ายของครอบครัว

การจดบันทึกทำให้รู้ว่ามีรายรับเท่าใด และมีรายจ่ายเท่าใด

ทำให้ทราบว่า มีรายจ่ายจากแหล่งไหน และใช้จ่ายอะไรไปบ้าง

และเมื่อนำรายจ่ายไปลบรายรับแล้ว ตัวเลขที่ปรากฏนั้นเป็นบวกหรือลบ

ถ้ารายจ่ายมากกว่ารายรับ ตัวเลขที่ออกมาก็เป็นลบ แต่ถ้ารายจ่ายน้อยกว่ารายรับตัวเลขก็เป็นบวก

หากตัวเลขเป็นลบ เมื่อเราไปดูบัญชีรายจ่ายก็จะรู้ว่า ใช้จ่ายอะไรกันนักหนา

ซื้ออาหาร ซื้อเสื้อผ้า ค่าเล่าเรียน หรือค่าอะไร

ต้องการลดค่าใช้จ่ายก็จะรู้ว่าควรลดอะไร

ในทางตรงกันข้าม หากมีรายได้มากกว่ารายจ่าย

เงินที่เหลือก็สามารถนำไปใช้จ่าย หรือลงทุน หรือออมได้

และวิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการเงิน สามารถเปิดดูตามเว็บไซต์ต่างๆ ได้

ยกตัวอย่างเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ลองเข้าไปดูแล้วจะพบข้อแนะนำการวางแผนทางการเงินหลากหลาย

นับตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ การสร้างรายได้ การแต่งงาน การใช้ชีวิตตาม

ไลฟ์สไตล์

การมีลูก ซื้อทรัพย์สิน เก็บเงินฉุกเฉิน หนี้สิน ภาษี และการเกษียณ

แต่ละอย่างมีวิธีชี้แนะ

ยกตัวอย่าง การเริ่มทำงานใหม่ ข้อแนะนำคือ จัดสัดส่วนของเงินเดือนที่ได้รับ

แบ่งเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ให้พ่อแม่ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินออมและลงทุน

50 เปอร์เซ็นต์ใช้จ่ายส่วนตัว

อีก 20 เปอร์เซ็นต์ซื้อของและสังสรรค์

พอทำงานไปสักพักจะซื้อบ้าน ก็ต้องวางแผนโดยการดูยอดเงินที่ต้องจ่าย

ศึกษาการผ่อนชำระตามเงื่อนไขต่างๆ ที่สถาบันการเงินนำเสนอ

โดยปกติแล้วธนาคารจะคำนวณเงินงวดทั้งต้นทั้งดอกมาให้

เราก็นำมาเปรียบเทียบ ค้นหาข้อเสนอที่คุ้มค่า และสามารถผ่อนชำระได้อย่างสบายใจที่สุด

เลือกเอาแนวทางที่ไม่ทำให้เราใช้เงินตึงมือ และไม่มีเงื่อนไขที่ผูกมัดจนเกินไป

การใช้เงินแบบไม่ตึงมือเกินไปนี่เอง ที่จะทำให้เราอยู่อย่างมีความสุข

ถ้ารู้จักวางแผนซื้อบ้านได้ การวางแผนใช้จ่ายอื่นๆ ก็ไม่แตกต่าง

เช่นเดียวกับการวางแผนซื้อรถ วางแผนแต่งงาน รวมถึงวางแผนมีบุตร

ทุกๆ ระยะของชีวิตควรวางแผนทางการเงิน

ยิ่งเข้าสู่วัยเกษียณ ยิ่งต้องวางแผน และควรวางแผนการเงินกันก่อนเกษียณ

เริ่มจากกำหนดอายุเกษียณของตัวเอง พร้อมทั้งคาดการอายุขัยของตัวเอง

ตามมาด้วยการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

เช่น หลังอายุ 60 ปี จะมีอายุต่อไปอีก 20 ปี ต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่

หากวันนี้เราอายุ 35 ปี ใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท พอไปถึงวันหน้าอายุ 60 ปี ต้องใช้เงินเดือนละ 41,875 บาท

เหตุที่เพิ่มขึ้นเช่นนั้นเพราะต้องบวกรวมเงินเฟ้อ 3 เปอร์เซ็นต์ทุกปี

เมื่อต้องใช้เงิน 41,875 บาทต่อเดือนไปอีก 20 ปี

ยอดเงินที่ต้องเก็บให้ได้คือ 8,323,028 บาท

เมื่อรู้จำนวนเงินที่ต้องออม การวางแผนการออมและลงทุนก็ต้องเริ่ม

แล้วดำเนินไปให้ได้ตามเป้าหมาย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ปรากฏให้ศึกษาอยู่ในอินเตอร์เน็ต

เป็นทักษะทางการเงินที่ทุกคนควรจะรับรู้และฝึกฝน

ฝึกฝนเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากความแปรปรวนทางเศรษฐกิจ

ปลอดภัยด้วยทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน

ทักษะของชีวิตที่สามารถเรียนรู้เพิ่มและปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image