คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : คลายเหงาด้วยคำปลอบจากตัวเอง

เวลาเราเหงาหรือไร้ที่พึ่ง ตัวเราเองอาจไม่ใช่ที่พึ่งที่ดีที่สุดแต่ก็คงดีกว่าไม่มีใครเลยค่ะ มีนักศึกษาสาวคนหนึ่งเพิ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและมาอยู่หอไกลจากจังหวัดบ้านเกิด เธอไม่คุ้นเคยกับสังคมคนเมืองในมหาวิทยาลัยและไม่มีเพื่อนที่มาจากโรงเรียนเดียวกันในคณะนี้เลย เธอจึงไม่สนิทกับเพื่อนในคณะซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่โตในเมืองใหญ่ค่ะ

“หนูรู้สึกเหมือนไม่มีเพื่อนเลยค่ะ ตอนไปเรียนก็นั่งคนเดียว กินข้าวคนเดียว ตกเย็นก็กลับห้องมาอยู่คนเดียว ช่วงหลังหนูเลยไม่ไปเรียน ดูวิดีโอเล็กเชอร์ออนไลน์เอา ซื้อข้าวขึ้นมากินคนเดียวในห้อง บางวันไม่ได้คุยกับใครเลย”

“แล้วมีอะไรให้จิตแพทย์ช่วยได้บ้างคะ”

“หนูอยากถามว่าหนูแปลกหรือเปล่าค่ะ บางวันหนูอยู่ในห้องแล้วเหงามากๆ หนูก็จะคุยกับตัวเอง แต่ไม่ใช่พูดคนเดียวนะคะ หนูจะจินตนาการว่ามีเพื่อนอีกคนนึงมาคุยกับหนู พอหนูถามขึ้นมาในใจ เขาก็ตอบหนูในใจ มันทำให้หนูหายเหงาค่ะŽ

Advertisement

“เวลาคุยกับเพื่อนในจินตนาการของหนู หนูได้ยินเสียงเขาพูดกับหูเหมือนที่คุยกับหมอตอนนี้มั้ยคะ”

“ไม่ค่ะ หนูรู้ว่าที่จริงหนูพูดกับตัวเอง มันเหมือนผุดขึ้นในใจเรามากกว่า ไม่ใช่เป็นเสียงที่ได้ยินกับหู”

นักศึกษาสาวคนนี้มีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ด้วยค่ะ โชคดีที่เพื่อนในจินตนาการไม่ใช่อาการหูแว่วซึ่งเป็นอาการทางจิตใจที่หนักขึ้นอีกนิด แต่เป็นวิธีการปลุกปลอบตัวเองให้พ้นจากความเหงา หลังรักษาโรคซึมเศร้าได้ไม่นาน เธอก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถไปเรียนได้ พูดคุยกับเพื่อนตัวเป็นๆ ได้ เพื่อนในจินตนาการหายไปและน่าแปลกที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนเดิม

Advertisement

ถ้าความคิดความอ่านของเรามีตัวตนขึ้นมาและจับต้องได้ เราอาจจะจัดการกับมันได้ดีขึ้นค่ะ การแปรอารมณ์หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นวัตถุที่จับต้องได้เป็นการนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ที่พบได้เป็นปกติในการ์ตูนญี่ปุ่น แต่เมื่อใดไปปรากฏในการ์ตูนอเมริกัน มันจะดูน่าตื่นเต้นเสมอค่ะ “In a Heartbeat” แอนิเมชั่นความยาว 4 นาที ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์สำหรับจบการศึกษาของนักศึกษาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบริงลิ่ง 2 คน กลายเป็นวิดีโอทางยูทูบที่มีผู้เข้าชมมากถึง 20 ล้านครั้งภายในเวลา 5 วัน หลังเผยแพร่และกลายเป็นที่กล่าวขวัญรวมถึงถกเถียงกันอย่างมาก แอนิเมชั่นความยาว 4 นาทีนี้กล่าวถึง “เชอร์วิน” เด็กชายมัธยมต้นขี้อายคนหนึ่งรู้ตัวว่าตกหลุมรัก “โจนาธาน” เพื่อนผู้ชายในโรงเรียน เชอร์วินแอบซ่อนความรู้สึกมานานจนในที่สุดวันหนึ่งหัวใจเขาเต้นแรงมากจนหลุดออกมานอกอก! หลุดออกมาจริงๆ ค่ะ หัวใจจอมซนของเชอร์วินพุ่งเข้าไปหาโจนาธานด้วยความรัก เชอร์วินต้องพยายามห้ามหัวใจตัวเองไม่ให้ไปตอแยโจนาธานจนในที่สุดเขาก็ยอมหักใจ (เป็น 2 ท่อน!) เมื่อรู้สึกว่าเพื่อนคนอื่นในโรงเรียนมองเขาและโจนาธานแปลกๆ

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับคำชมในทางเทคนิคการนำเสนอที่จับเอาความรู้สึกรักมาปั้นเป็นหัวใจจอมซนที่มีตัวตนจับต้องได้และมีความร่วมสมัยคือกล่าวถึงเด็กชายที่มีความรักกับเพศเดียวกันซึ่งค้นพบตัวตนตั้งแต่มัธยมต้น อย่างไรก็ตาม มีหลายความเห็นในยูทูบออกมาต่อต้านว่าแอนิเมชั่นนี้จะทำให้เด็กเสียคน หลายคนบอกว่าจะทำให้ลูกของตัวเองกลายเป็นเกย์และจะไม่ยอมให้ลูกดูเด็ดขาดซึ่งความเห็นแบบนี้สะท้อนความเข้าใจที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องเพศที่มีความหลากหลายอย่างมากในปัจจุบันค่ะ

เราจะไม่กล่าวถึงความหลากหลายทางเพศ แต่จะมามุ่งประเด็นที่การแปรความรู้สึกนึกคิดเป็นของที่จับต้องได้มากขึ้นว่าจะสามารถทำได้ในชีวิตจริงหรือไม่และมีประโยชน์มากแค่ไหนนะคะ มีการศึกษาหนึ่งจากทีมนักวิจัยในมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports น่าสนใจมาก เขาพบว่าการพูดกับตัวเองจากมุมมองของบุคคลที่ 3 จะช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีกว่าการพูดกับตัวเองจากมุมมองของบุคคลที่ 1 คือตัวเราเอง ผลการศึกษานี้ยืนยันจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองที่ตรวจพบจากเครื่อง functional MRI (fMRI) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจการทำงานของสมองแบบหนึ่งค่ะ แบ่งเป็นการศึกษาย่อย 2 ส่วน ส่วนแรกให้อาสาสมัครดูภาพน่ากลัว เช่น ภาพชายถือปืนจ่อศีรษะตนเองและให้ดูภาพที่ไม่มีความหมายพิเศษ หลังดู ให้อาสาสมัครบันทึกความรู้สึกของตัวเองจาก 2 มุมมอง มุมแรกเป็นมุมมองของบุคคลที่ 1 คือถามตัวเองว่า “ขณะนี้ฉันรู้สึกอย่างไร” ส่วนอีกมุมมองหนึ่งเป็นของบุคคลที่ 3 คือถามตัวเองว่า “ขณะนี้ (ชื่อตัวเอง) รู้สึกอย่างไร” แล้วตรวจวัดคลื่นสมองไปด้วย ผลพบว่าหากถามตัวเองจากมุมมองของบุคคลที่ 3 จะลดการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ได้และรวดเร็วภายใน 1 วินาที เท่านั้น อีกการศึกษาย่อยทำคล้ายกันแต่เปลี่ยนภาพน่ากลัวเป็นให้นึกถึงความทรงจำไม่ดีของตัวเองแทน ผลยังเหมือนเดิมค่ะ ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการพูดกับตัวเองผ่านมุมมองของบุคคลที่ 3 ช่วยให้เราคิดถึงตัวเองในแบบเดียวกับที่คิดถึงผู้อื่น หมายถึงเราสามารถแยกความรู้สึกของตัวเราเองออกมาได้ดีขึ้น ซึ่งจะควบคุมมันได้ง่ายขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังเป็นวิธีที่เร็วและไม่เสียเงินอีกด้วย

เมื่อเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นกับตัวเอง เช่น ฉันเศร้า ฉันโกรธ ฉันต้องอดทน ลองพูดกับตัวเองด้วยคำพูดของบุคคลที่ 3 นะคะ เช่น สมชายกำลังเศร้า สมหญิงกำลังโกรธ หรือสมบูรณ์ต้องอดทนได้สิ บางทีเราจะควบคุมมันได้ดีขึ้น และไม่จมลงไปกับความรู้สึกเหล่านี้มากเกินไปค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image