วงทีพีโอไปแสดงต่างจังหวัดและในอาเซียน

อเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวยะลา
วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra, TOP) เรียกกันย่อๆ ว่า “วงทีพีโอ” มีนโยบายตั้งแต่เริ่มสร้างวง (พ.ศ.2548) ที่จะสร้างมิตรภาพประสานกับเพื่อนบ้านอาเซียนผ่านเสียงดนตรีในทุกๆ รูปแบบ อาทิ การยกวงทีพีโอไปแสดงที่ประเทศลาว งานมนต์เวียงจันทน์ เพื่อความสัมพันธ์ไทย-ลาว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2556 งาน 40 ปี วันชาติลาว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ส่วนที่ประเทศพม่านั้น วงทีพีโอได้ไปแสดง 3 เมืองคือ ที่กรุงย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และที่กรุงเนปิดอว์ ระหว่างวันที่ 25-30 สิงหาคม 2559 ซึ่งได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จมาแล้ว

สำหรับการนำบทเพลงของเพื่อนบ้านอาเซียนมาเรียบเรียงและแสดงโดยวงทีพีโอนั้น วงทีพีโอก็มีนโยบายที่จะเอาเพลงของเพื่อนบ้านอาเซียน ผลงานเพลงของนักประพันธ์เพลงชาวอาเซียนมาแสดงเป็นบทเพลงโหมโรง ส่วนใหญ่ก็จะมีการนำเพลงของเพื่อนบ้านอาเซียนมาเรียบเรียงเล่น ซึ่งทำจนเป็นเรื่องปกติ ในส่วนการเชิญนักดนตรีเยาวชนคนเก่งของอาเซียนมาร่วมบรรเลงเดี่ยวกับวงทีพีโอ ก็ได้เชิญคนที่โดดเด่น อาทิ Tengku Ahmad Irfan นักเปียโนชาวมาเลเซีย มาแสดงเมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งครั้งนั้นอดีตผู้นำมาเลเซีย ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด (นายกรัฐมนตรี พ.ศ.2524-2546) และภริยา เดินทางมาฟังดนตรีที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการส่วนตัว

นักดนตรีของวงทีพีโอเอง ก็มีนักดนตรีจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ร่วมเล่นอยู่ในวงแล้วหลายคน สำหรับปีนี้ ระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2560 วงทีพีโอได้เตรียมตัวที่จะไปแสดงที่เมืองยะลา และเดินทางไปแสดงต่อที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักก็คือการกระจายความไพเราะไปสู่หัวเมืองในต่างจังหวัดและในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ปีนัง มาเลเซีย

ทำไมทีพีโอต้องไปเล่นที่ยะลา ซึ่งเป็นคำถามของนักดนตรีทุกคน และทุกคนก็ต้องการคำตอบ สำหรับพวกนักดนตรีแล้ว ยะลาเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยและรู้สึกหวาดกลัวเมื่อได้ยินชื่อของ 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในเขตพื้นที่ภาคใต้มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ร้ายจำนวนมาก เหมือนเป็นสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว มีผู้คนอพยพย้ายออกจากพื้นที่ เศรษฐกิจซบเซา

Advertisement

ในที่สุดบ้านเมืองก็หงอยเหงา คำถามก็คือ หากเราไม่ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันเอง แล้วจะไปหวังให้ใครช่วยเรา

วิ

ทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาดนตรีแก่นักเรียนที่เทศบาลจังหวัดยะลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา โดยการฝึกอบรมครูดนตรี การช่วยก่อตั้งวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา การรับนักเรียนจากเขตพื้นที่จังหวัดยะลาเข้ามาเรียนเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้กำลังใจคนที่อยู่ในพื้นที่ยะลาว่ายังมีคนเอาใจใส่และเอื้ออาทรอยู่

การนำวงทีพีโอเต็มวง ทั้งนักดนตรี คนทำงาน และผู้สื่อข่าว รวม 120 คนไปแสดงที่ยะลาซึ่งเป็นเขตพื้นที่เสมือนสมรภูมิรบ เป็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะช่วยสร้างความไพเราะ มอบความดีงามให้แก่ชาวยะลาและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยหวังว่าจะเป็นการสร้างความอบอุ่น สร้างขวัญกำลังใจในท้องถิ่น เชื่อว่าเสียงดนตรีจะเป็นพลังที่มีอำนาจที่ให้ความอบอุ่นแก่ปวงชนได้ เพราะดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน ทำให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง ฝ่าฟันอุปสรรคที่ยากๆ ร่วมกัน และหวังให้คนทั้งประเทศรับรู้ว่า “ยะลาก็น่าอยู่”

Advertisement

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2558 วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ได้เคยแสดงในงานภูมิพลังแผ่นดิน เพื่อหารายได้มอบให้แก่โรงพยาบาลยะลา ซื้อเครื่องมือผ่าตัดให้ห้องผ่าตัด “เย็บบาดแผลให้กับชาวยะลา” เพราะโรงพยาบาลยะลาและโรงพยาบาลใกล้เคียงยังขาดแคลนเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บให้ทันกับเหตุการณ์

ปีนี้วงทีพีโอจะเดินทางไปแสดงที่เมืองยะลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้รู้สึกว่าน่าอยู่ในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2560 ที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เวลา 19.00 น. เพื่อมอบความรัก ความไพเราะ และความอบอุ่นของเสียงดนตรี เพื่อเป็นของขวัญให้แก่พี่น้องชาวยะลา โดยไม่เก็บค่าผ่านประตู

แต่หากใครต้องการบริจาคเงินเพื่อมอบให้แก่วงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลาก็สามารถที่จะทำได้ เพื่อให้นายกเทศมนตรี (นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ) นำไปพัฒนาวงดนตรีและซื้อเครื่องดนตรีตามที่ต้องการ

ปหาเพื่อนที่ปีนัง

จากยะลา วงทีพีโอก็จะเดินทางโดยรถยนต์ไปที่ปีนัง ตามคำเชิญของท่านกงสุลใหญ่ไทยประจำเมืองปีนัง (ท่านเอกจิต กรัยวิเชียร) เนื่องในโอกาส 60 ปีของความสัมพันธ์ไทยและมาเลเซีย โดยแสดงที่หอประชุมเมืองปีนัง ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก ทีพีโอก็จะแสดงในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 การเดินทางจากยะลาไปปีนังนั้น 300 กว่ากิโลเมตร อาจจะใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง เพราะมีคนถึง 120 คน แต่สิ่งที่สวยงามระหว่างทางก็คือ “ป่าไม้และความเขียวขจี”

ใจลึกๆ นึกขอบคุณความไม่สงบที่ทำให้สามารถรักษาป่าไม้เอาไว้ได้ เมื่อความสงบกลับคืนมาแล้ว รัฐบาลไทยควรมีกฎหมายรักษาป่าผืนนี้เอาไว้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เปิดโอกาสให้คนเห็นว่าป่าไม้มีความสวยงามและสำคัญต่อชีวิตของชุมชนอย่างไร

สำหรับที่เมืองปีนังมรดกโลกนั้น เป็นเมืองที่เจ้านายและลูกเศรษฐีไทยสมัยก่อนส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือ เพราะเมืองปีนังเป็นเมืองที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงมาก่อน เป็นเมืองท่าที่สำคัญ เป็นเมืองที่ติดต่อกับชาวตะวันตก เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดี เป็นเมืองพ่อค้า เป็นเมืองขุนนางเก่า มีการค้าขายที่ทันสมัย เป็นเมืองที่ประชาชนได้รับการศึกษาดี เป็นเมืองที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร การวางผังเมืองสวยงามดี คนเมืองปีนังนั้นมีคนจีนเป็นหลักและมีฝรั่งเข้าผสมกันทางการค้า ปีนังจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่เจริญ

เมื่อสิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียในปี พ.ศ.2506 สิงคโปร์มีผู้นำใหม่ ทำให้สิงคโปร์รีบเร่งในการพัฒนา สร้างเมืองก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ทำให้เมืองปีนังลดความสำคัญลง ท่าเรือและเรือสินค้าเริ่มเปลี่ยนไปจอดและขนถ่ายสินค้าที่สิงคโปร์แทน เมืองปีนังก็เริ่มกลายเป็นเมืองเก่าอย่างน่าใจหาย ร่องรอยความเจริญก็ยังเห็นได้ชัด จนกลายเป็นเมืองมรดกโลก (พร้อมเมืองมะละกา)

เศรษฐีเมืองปีนังเคยเดินทางมาดูการแสดงของวงทีพีโอหลายครั้ง ท่านก็มีความปรารถนาที่จะมีวงดนตรีประจำเมืองปีนังเหมือนกับวงทีพีโอบ้าง การเอ่ยปากชวนวงทีพีโอให้ไปแสดงที่เมืองปีนังก็ชักชวนกันมานานหลายครั้งแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่าย เนื่องจากการขนวงดนตรีขนาด 100-120 คน ต้องใช้เงินจำนวนมาก (5 ล้านบาท) ในขณะเดียวกันความไพเราะของเสียงดนตรีและงานศิลปะในภูมิภาคนี้ยังขายไม่ได้ ดนตรีและศิลปะยังเป็นของฟรีอยู่ ดนตรีและศิลปะยังเป็นปัจจัยท้ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับความจำเป็นในด้านอื่นๆ น้อยเหลือเกินที่ผู้บริหาร (ทุกระดับ) จะคิดถึงว่าดนตรีและศิลปะมีบทบาทสำคัญสำหรับชีวิตและสังคม

ปัญหาของภูมิภาคอาเซียนหลักๆ ก็คือ ผู้บริหารประเทศไม่มีวิสัยทัศน์และไม่มีรสนิยม ดังนั้น ศิลปะดนตรีจึงล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรป

ท่

านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้กล่าวชื่นชมผู้เขียนเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ว่า “สุกรี คุณเป็นคนที่ผมนับถือ คุณทำให้ประเทศนี้มีความไพเราะเกิดขึ้นได้ แต่คุณก็ต้องเข้าใจและรู้ตัวด้วยว่า ไม่มีใครในประเทศนี้ประทับใจในสิ่งที่คุณทำหรอก”

การนำวงทีพีโอไปแสดงที่ยะลา เพื่อต้องการให้ยะลาเป็นเมืองที่น่าอยู่ และการไปแสดงที่เมืองปีนังของวงทีพีโอครั้งนี้ ก็เพื่อแสดงคารวะคนรุ่นก่อนที่ได้สร้างสิ่งที่ดีๆ ไว้ในเมืองปีนัง ซึ่งเป็นความปรารถนาที่จะนำวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ไปมอบเสียงเพลงที่ไพเราะ มอบความเป็นมิตรไมตรี ให้แก่ท้องถิ่นและเพื่อนบ้านในอาเซียน ด้วยความรักและศรัทธาในความดีงาม เมื่อแสดงเสร็จจากยะลาในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน ก็เดินทางไปแสดงต่อที่เมืองปีนัง วันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 ที่หอแสดงดนตรีประจำเมืองปีนัง เวลา 20.00 น.

เพราะผมในฐานะผู้เขียน ยังมีความเชื่อมั่นในปรัชญาของขงจื๊อที่ว่า “ดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน” ดนตรีสามารถที่จะจรรโลงความไพเราะเอาไว้ให้ดำรงอยู่ไม่จืดจาง แม้สายลมจะเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตไม่เคยเปลี่ยนเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image