โขนพระราชทาน แสดงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ รักษาจารีตโบราณ

26 ตุลาคม 2560 เป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในกิจกรรมสำคัญมากมายจากพระบรมมหาราชวังสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง หนึ่งในนั้นคือการจัดแสดงโขนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดแสดงก่อนการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ เวทีกลางแจ้งสนามหลวงด้านทิศเหนือ

คณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นำโดย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงจัดแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการจัดแสดงโขน ณ โรงเรียนศิลปะธนบุรี โรงสร้างฉากโขนพระราชทาน

นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้ออกแบบและจัดทำบท กล่าวว่า การแสดงโขนได้นำเรื่องรามเกียรติ์ มาคัดเลือกแบ่งเป็น 3 ตอนใหญ่จัดแสดง ได้แก่ 1.รามาวตาร เป็นต้นเรื่องของการแสดง กล่าวถึงพระมหาฤๅษีทั้งห้าขึ้นไปกราบทูลพระอิศวร และเชิญพระนารายณ์ให้อวตารลงมาเป็นพระราม เพื่อปราบอสูร เหล่าเทพบุตรต่างๆ ได้ร่วมอาสาลงมาเป็นพลวานร ทั้งพระลักษมณ์และเทพอาวุธ ตลอดบัลลังก์นาคก็อาสาลงมาจุติ เพื่อเป็นกำลังของพระนารายณ์

2.นางสีดาหายและพระรามได้พล กล่าวถึงพระรามรับสัตย์จากพระบิดาออกเดินทางมาอยู่ป่าเป็นเวลา 14 ปี พระลักษมณ์ อนุชาและนางสีดามเหสีติดตามมาด้วย ทศกัณฐ์ใช้อุบายลักนางสีดาพาขึ้นราชรถเหาะมาพบนกสดายุเข้าขัดขวาง แต่นกสดายุพ่ายแพ้ เมื่อพระรามพระลักษมณ์ติดตามมาพบนกสดายุบาดเจ็บอยู่ จึงทราบเหตุการณ์ทั้งหมด พระรามโศกเศร้า เข้าพักใต้ต้นหว้าใหญ่ หนุมานซึ่งถูกพระอุมาสาปมาพบเข้า จึงอาสาไปนำสุครีพอุปราชเมืองขีดขินเข้ามาเฝ้าถวายไพร่พลเป็นกองทัพใหญ่ติดตามไปทำสงครามกับทศกัณฐ์

Advertisement

3.ขับพิเภก ทศกัณฐ์เมื่อลักพานางสีดามาไว้ที่อุทยานท้ายกรุงลงกาแล้ว วันหนึ่งทศกัณฐ์เกิดนิมิตฝันเป็นลางร้าย จึงให้พิเภกทำนาย พิเภกทูลให้ส่งคืนนางสีดาแก่พระราม ทศกัณฐ์โกรธจึงขับไล่ออกจากเมือง พิเภกไปสวามิภักดิ์กับพระราม และถวายสัตย์สุจริต เหล่าเทพบุตรนางฟ้าจึงร่วมกันแสดงความยินดีในสัตย์สุจริตของพิเภก โดยทั้งหมดใช้เวลาจัดแสดง 2 ชั่วโมง

 

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ (กลาง) และคณะกรรมการจัดการแสดงโขน

Advertisement
ประเมษฐ์ บุณยะชัย

 

“การจัดแสดงโขนครั้งนี้ปรับรูปแบบให้เข้ากับคนยุคปัจจุบัน มีความสากล แต่ไม่ละทิ้งจารีตโบราณประเพณี โดยจัดแสดงในลักษณะโขนกึ่งฉาก ที่มีฉากใหญ่บางฉากมาประกอบ ขณะที่บางฉากที่ไม่สามารถนำมาแสดงได้ จะใช้เทคนิคมัลติวิชั่นที่เป็นจอแอลซีดีขนาดใหญ่ให้ความสมจริง และมีเครื่องประกอบฉากอยู่เบื้องหน้าด้วย ซึ่งโดยรวมคิดว่าจะให้ความงดงาม รวมถึงความไพเราะของดนตรี และกระบวนท่าที่ยังรักษาจารีตประเพณีโขนหลวงไว้ครบถ้วน” นายประเมษฐ์กล่าว และว่า

“เชื่อว่าการแสดงโขนพระราชทานที่มีมาตั้งแต่ปี 2550 ยังตรึงตราตรึงใจไว้อย่างไร การแสดงโขนคราวนี้จะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแสดงที่ผ่านๆ มา เพราะทุกคนให้ความร่วมมือทุ่มเทอย่างที่สุด เพื่อสนองในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 เป็นครั้งสุดท้าย”

การแสดงครั้งนี้เพียบพร้อมแล้วทุกด้าน เริ่มที่เครื่องแต่งกายนักแสดง ที่ผ่านมาระดมสุดยอดช่างฝีมือจากศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ รวม 76 ชีวิตมาซ่อมแซมชุดเก่าและทำชุดเพิ่มอีก 50 กว่าชุด ให้ความงดงามและทรงคุณค่าตามจารีตโบราณเสร็จสิ้นหมดแล้ว

ขณะที่ท่ารำ ดนตรี เพลงหน้าพาทย์ ได้ระดมสมองจากครูและอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาปรับปรุงให้ไพเราะยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทเพลงหน้าพาทย์โบราณชั้นสูง ที่เกือบสูญหายและไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ก็จะกลับมาจัดแสดงอีกครั้ง

ส่วนทีมนักแสดงตอนนี้มีอาสามาแล้วกว่า 300 ชีวิต มีตั้งแต่ครูอาจารย์ด้านนาฏศิลป์หลายช่วงอายุ อดีตนักแสดงโขนพระราชทานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนนักเรียนนาฏศิลป์ในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนขออาสามาแสดงเพราะอยากตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 โดยนัดหมายเริ่มซ้อมระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคม ที่วิทยาลัยนาฏศิลป ศาลายา จ.นครปฐม และซ้อมใหญ่ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

นางเปรมใจ เพ็งสุข อายุ 41 ปี ครูชำนาญการพิเศษวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งได้รับบทบาท “พระอุมา” ในการแสดงโขนหน้าพระเมรุมาศ เล่าด้วยสีหน้าประทับใจว่า ตนมีโอกาสเล่นโขนพระราชทานถึง 4 ครั้งติดต่อกันใน 4 ปี อาทิ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” เล่นเป็นเทวดานางฟ้า, ชุดจองถนน เล่นเป็นนางสุพรรณมัจฉา มีโอกาสได้เล่นโขนหน้าพระเมรุมาศ 3 ครั้ง ตั้งแต่งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เรื่อยมาจนงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กระทั่งคณะกรรมการวางตัวให้เล่นเป็นพระอุมาในการแสดงโขนงานพระบรมศพในหลวง ร.9 ซึ่งเป็นความปลาบปลื้มใจอย่างที่สุด ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณเป็นครั้งสุดท้าย

“การแสดงโขนพระราชทานจะต่างจากโขนหน้าพระเมรุมาศ เพราะเดิมจะเล่นเพื่อเอาใจผู้ชมเป็นหลัก เน้นความสนุกสนานรื่นเริง แต่โขนหน้าพระเมรุมาศนักแสดงจะเล่นเพื่อรวมใจถวายในหลวง ร.9 เล่นเพื่อถ่ายทอดจารีตราชประเพณีที่ถูกต้องให้ประชาชนรับรู้

“ฉะนั้น ความรู้สึกจะแตกต่างกัน ซึ่งดิฉันเป็นครูสอนนาฏศิลป์ ตั้งใจจากนี้จะสืบทอดศิลปะแขนงนี้ไม่ให้สูญหายไป สมดั่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตั้งพระราชหฤทัยอุปถัมภ์ไว้” นางเปรมใจเล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

ส่วนหนึ่งแห่งความงดงามตามโบราณราชประเพณีในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

 

เปรมใจ เพ็งสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image