สวัสดิการชุมชน ‘บ้านกลาง’ จ.แพร่ สร้างหลักประกันท้องถิ่นยั่งยืน

สวัสดิการชุมชน ‘บ้านกลาง’ จ.แพร่ สร้างหลักประกันท้องถิ่นยั่งยืนประเทศไทย มีคนหลายสิบล้านคนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐในปัจจุบัน ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร และแรงงานนอกระบบ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นในหลายพื้นที่ เพราะเป็นแนวทางการรวมกลุ่มที่ทำให้คนในชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้รับประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดชุมชนเข้มแข็ง

ซึ่งเหมือนกับ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่ ที่มี นวลฉวี คำฝั้น ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านกลาง มาบอกเล่าให้ฟังถึงการบริหารจัดการชุมชนให้ฟังว่า

บ้านกลางเป็นชุมชนที่มีการจัดสวัสดิการแก่คนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะมีเหตุผลว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินไปซื้อประกันชีวิตจากบริษัทต่างๆ และไม่ได้มีอาชีพที่จะได้รับสวัสดิการจากหน่วยงานใด ถึงแม้เงินช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการชุมชนจะเป็นเงินไม่มาก แต่ยังช่วยบรรเทาความทุกข์ยากได้

“นอกจากสมาชิกกองทุนจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรายังมีการจัดสวัสดิการดูแลชุมชนในทุกด้าน เช่น ด้านอาชีพ แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ”

Advertisement

แต่กระนั้น เมื่อย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านกลาง “นวลฉวี” บอกว่า เป็นการรวมตัวกันเพื่อรักษาทรัพยากรในป่าชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ต.บ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่ ต่อจากนั้นถึงจะเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ

“กว่าจะชักชวนชาวบ้านมาร่วมกองทุนสวัสดิการได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชาวบ้านขาดความเข้าใจ และกลัวว่าจะโดนหลอก เราจึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะนอกจากกองทุนสวัสดิการชุมชนจะเป็นองค์กรเกี่ยวกับการเงินแล้ว ยังต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

“ที่สำคัญ เราจัดตั้งให้มีสภาชุมชน ที่เป็นการรวมตัวของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเป็นหลักประกันความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบ้านทั้งยังเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน โดยมีกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือ”

Advertisement

ทั้งนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านกลางยังร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านกลาง กำหนดทิศทางพัฒนาตำบลบ้านกลางใน 4 ประเด็น คือ

หนึ่ง พัฒนาระบบกองทุนสวัสดิการชุมชน

สอง ส่งเสริมภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน

สาม สนับสนุนเกษตรยั่งยืนวิถีพอเพียง

สี่ แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย

“ถึงตอนนี้กองทุนมีชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิกประมาณ 1,500 คน มีเงินกองทุนรวมทั้งหมดกว่า 2 ล้านบาท และด้วยระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใส มีกรรมการชาวบ้านตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงทำให้กองทุนมีความเข้มแข็งมากขึ้น”

“นวลฉวี” กล่าวในตอนท้ายว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนของเรายึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่งเสริมให้สมาชิกเข้าใจ เข้าถึงคุณค่า และอุดมการณ์ของสวัสดิการชุมชน จนนำมาปฏิบัติในการพัฒนาชีวิตของตนเอง

“นอกจากนั้น เรายังยึดหลักความพอประมาณในการดำเนินงาน ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยคำนึงถึงความรู้ คุณธรรม และความหลากหลายของชุมชนด้วย เพราะถ้าจะรอให้ภาครัฐ หรือภาคเอกชน เข้ามาช่วยเหลืออย่างเดียว คงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ชุมชนต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันนำไปสู่การเกิดสังคมดี คนมีความสุข ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดชุมชนเข้มแข็งและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน”

นับว่าระบบสวัสดิการชุมชนช่วยสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานราก เป็นนวัตกรรมในกระบวนการองค์กรการเงินชุมชนที่ช่วยสร้างหลักประกันชีวิตที่ชุมชนทำได้เอง จนเป็นรากฐานของสังคมสวัสดิการไทย ที่ทำให้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี กระทั่งดูแลกันและกันอย่างมีความสุขมาจนทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image