กทม.เอาจริง 19 อาคารตลาดประชานิวศน์ 1 ให้ย้ายออกเร็วที่สุด หวั่นวิบัติเฉียบพลัน ตรวจพบอ่อนไหวสุดสุด

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายเชาวฤทธิ์ ทรงนวรัตน์ ผู้อำนวยการเขตจตุจักร ได้ออกประกาศสำนักงานเขตจตุจักร เรื่อง เขตพื้นที่อันตราย ห้ามมิให้เข้าหรือใช้อาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดประชานิเวศน์ โดยระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการโยธาและสำนักงานเขตจตุจักร ได้ร่วมกับวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย เข้าตรวจอาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดประชานิเวศน์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 และพบว่า กลุ่มอาคารดังกล่าวอยู่ในสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง มีการทรุดตัวและพบร้อยร้าวแตกในชิ้นส่วนของโครงการอาคาร อาจเกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับผู้พักอาศัย ซึ่งกรณีนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจตรวจสอบสภาพอาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดประชานิเวศน์ 1 จำนวน 177 คูหา 19 กลุ่มอาคาร ปรากฏว่า อาคารมีค่าความเอียงชันเกินขีดมาตรฐาน 1 : 200 และมีรอยแตกร้าวของโครงสร้างอาคาร อันจะก่อให้เกิดการวิบัติเฉียบพลัน ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่พักอาศัยได้ กอปรกับอาคารดังกล่าวเคยเกิดเหตุกันสาดของอาคารพาณิชย์ จำนวน 12 คูหา เลขที่ 99/141-99/151 และ 99/190 หลังตลาดประชานิเวศน์ เขตจตุจักร ถล่มลงมาจากชั้น 3 ส่งผลให้ทรัพย์สินประชาชนเสียหาย อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนนั้น

นายเชาวฤทธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 12 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 สั่งห้ามมิให้เข้าหรือใช้อาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดประชานิเวศน์ รวม 16 กลุ่มอาคาร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย ซึ่งจะเกิดขึ้นกับความไม่มั่นคงแข็งแรงของอาคารดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว ต้องระวางโทษไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

“สำหรับมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่เด็ดขาด เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งปัจจุบันได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่เทศกิจและสำนักงานตลาด กทม. ได้เข้าไปตรวจตราและอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการคัดกรองผู้อาศัย โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ยินยอมย้ายออกจากอาคาร และหากพบผู้อาศัยที่ยังคงอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่เข้าข่ายกลุ่มอาคารเสี่ยงอันตรายและไม่ยินยอมย้ายออกจากอาคาร เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจดำเนินตามกฎหมายทันที” นายเชาวฤทธิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image