‘ดอคเตอร์ สเตรนจ์’ ไม่รู้จัก ‘ภาวนามยปัญญา’ เกิดมาก็เท่ากับไม่ได้เกิด

ช่างพอดิบพอดีอะไรอย่างนี้  นึกถึงหนังที่เพิ่งเปิดปฐมทัศน์ทางเคเบิลทีวี. “ดอคเตอร์  สเตรนจ์”-“Doctor Strange” หมออัจฉริยะซึ่งคุณสมบัติเป็นเลิศทุกด้าน เท่าที่สังคมตะวันตกจะหล่อหลอมคนมีสติปัญญาให้เป็นยอดขึ้นมาได้ แต่เมื่อประสบอุบัติเหตุ มือสองข้างซึ่งเคยผ่าตัดได้แน่นอนกว่าเครื่องกลวิทยาศาสตร์ พิการไป ไร้หนทางที่การแพทย์สมัยใหม่จะเยียวยาให้ฟื้นคืน ทำให้ต้องหอบหิ้วความหวังมาหาปาฏิหาริย์ทางตะวันออก

ก็พอดีทั้ง มติชนรายวัน กับ มติชน  ออนไลน์ ตีพิมพ์บทความของ ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ เรื่อง ภาวนามยปัญญา ให้ผู้อ่านได้ตื่นขึ้นจากความหลงลืมหรือหลับใหลไปเกือบค่อนชีวิต

หมอสเตรนจ์สามารถเป็นคนยะโส โอหังกับผู้คนได้รอบข้าง ก็เพราะเก่งกาจกว่าใครๆ ในวิชาชีพ แต่เมื่อสูญเสียความสามารถนั้นไป อัตตามหาศาลที่มีก็กลับถล่มลงฝังตัวตนจนมิด ไม่อาจยอมรับว่าอุบัติเหตุพรากเอาความชำนิชำนาญในการผ่าตัดจากสองมือที่เคยมั่นคงไปแล้ว

วันหนึ่ง ระหว่างทำกายภาพบำบัดอย่างหงุดหงิดสิ้นหวัง เพราะไม่เห็นว่าความพยายามนั้นจะช่วยให้สองมือฟื้นคืนเป็นปกติมาได้ บุรุษพยาบาลให้กำลังใจว่า มีชายซึ่งเคยเจ็บกระดูกสันหลังสาหัสระดับไม่อาจลุกจากรถเข็นได้คนหนึ่ง มานะจนวันนี้เดินเหินได้อย่างที่เคยเดินมาก่อนหน้า เมื่อศัลยแพทย์มือเอกแต่ละรายล้วนปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะช่วยผ่าตัดฟื้นฟูศักยภาพเดิม และวิทยาการใดๆ ก็อับจน หมอสเตรนจ์จึงเที่ยวตามหาอดีตคนไข้พิการซึ่งกลับมาเดินเหินได้
คำตอบแสนพิสดารพันลึกที่ได้รับ อยู่ที่กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล หลังจากดั้นด้นไปตามลายแทงสถานที่ หมอสเตรนจ์ก็พบว่า การรักษานั้นมิได้ใช้วิทยาการสมัยใหม่ใดๆ แต่เป็นการรักษาทางจิต สั่งให้ร่างกายคืนความเป็นปกติกลับมา
หมอสเตรนจ์ซึ่งมีทั้งความรู้ ตรรกะ และอัตตาท่วมท้น ประกอบเป็นบุคลิกเหยียดหยันสิ่งซึ่งอธิบายไม่ได้ ด้วยความยะโสโอหังเป็นอาภรณ์ ถูกไล่ออกมาจากสิ่งที่ตนไม่เข้าใจ จนแน่นอน ต้องมีบทเรียนสำคัญให้ฟันฝ่า (ตามธรรมเนียมทั้งในหนังและชีวิตจริง) จึงนอกจากจะเรียนรู้การเยียวยาตัวเอง ก็ยังพลัดหลงไปในการต่อสู้ดึกดำบรรพ์ระหว่างธรรมะกับอธรรมอันยาวนาน

Advertisement

หมอสเตรนจ์เป็นหนังประเภทยอดมนุษย์เรื่องที่ 14 ที่สร้างจากการ์ตูนและโรงถ่ายของ มาร์เวล ให้ วอลท์  ดีสนีย์ จำหน่าย ในยุคซึ่งความรู้และเทคนิคด้านภาพไปไกลเช่นทุกวันนี้ หนังเรื่องนี้เป็นความเพลิดเพลินดูสนุกระดับสามสี่ดาว ด้วยภาพที่คนรุ่นปู่ย่าไม่เคยเห็นและอาจคาดฝันไปไม่ถึง เพราะมหัศจรรย์ที่สุดก็แค่หนุมานเหาะทื่อๆ จากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายของจอ ขณะที่คนร่วมสมัยเห็นเป็นธรรมดา

เบเนดิคท์  คัมเบอร์แบทช์ ดาราอังกฤษซึ่งคร่ำเวทีละครมานาน ก่อนจะถ่ายหนังโทรทัศน์หลายเรื่องจนมาถึงหนังชุดของบีบีซี ที่คนต่างคาบสมุทรรู้จักหน้าจาก เชอร์ลอค และเล่นหนังดังระหว่างสองทวีปอีกมากมาย เป็นหมอสเตรนจ์ได้อย่างเห็นจังหวะของนักแสดงละครเวที แต่มิได้มีอะไรพิเศษเช่นเดียวกับ ชิวาเทล  อีจิโอฟอร์  ดาราละครอังกฤษไนจีเรียน ที่โลกรู้จักจากหนังยอดเยี่ยม “12  เยียร์ส อะ สเลฟ-12 Years a Slave” (2556)  ซึ่งคัมเบอร์แบทช์ก็ร่วมแสดงด้วย หลายคนอาจนึกไม่ออกแล้วว่า ก่อนหน้านั้น 16 ปี เขาเคยเล่นบทสมทบในหนังเรื่องดังของ สตีเวน สปิลเบิร์ก อีกเรื่อง “อมิสตาด-Amistad” (2540)

ทิลดา สวินตัน แม่มดขาวที่นักดูหนังสะดุดตาจาก “นาเนีย-Narnia”  นักแสดงอังกฤษฝีมือดีระดับรางวัลอีกคนเสียอีก ที่แม้บทไม่เคี่ยวกรำนัก   แต่บุคลิก ใบหน้า และดวงตาทำให้ต้องจับตาที่เธอได้ไม่ยาก

นักแสดงเพียงผสมผสานไปกับแรงดึงดูดของหนังซึ่งอยู่ที่เนื้อหาการพันตูระหว่างสองขั้วพฤติกรรม กับความวิจิตรพิสดารของภาพ ที่จริงหนังก็มิได้ลงรายละเอียดลึกซึ้งอะไรเรื่องจิตใจ เพียงแต่บอกว่า เราไม่รู้จักจิต จิตซึ่งสามารถบันดาลอะไรได้มากกว่าที่เราเคยคิด ที่ในหนังแปลงพลังจิตเป็นอาวุธเข้าต่อตีโรมรันกันแต่ต้นจนจบ
จากนามธรรมซึ่งมองไม่เห็น เป็นโล่แสงกระจ่างจ้า เป็นช่องประตูสว่างไสวสู่ดินแดนใดๆ ก็ได้ในโลกใบเดียวกันนี้ และเป็นกำลังภายนอกซึ่งทุ่มกระแทกอีกฝ่ายให้กระเด็นหวือไปได้

นั่นเป็นสิ่งซึ่งหนังให้ภาพเพื่อสร้างความสำราญแก่ผู้ชม แต่จิตดวงเดียวกันนี้ จิตที่หนังกล่าวถึง จิตซึ่งถูกผู้คนส่วนมากละทิ้งไปแล้วเนิ่นนาน อาจารย์ประสิทธิ์นำมาพูดถึงอีกครั้งอย่างเหมาะเจาะกับยุคสมัยที่จิต (และใจ) ไม่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

อาจารย์พูดถึงปัญญา 3 ประการในการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาคือ สุตมยปัญญา ความรู้จากการอ่านการฟัง จินตามยปัญญา ความรู้จากการนึกการคิดและค้นคว้าวิจัยต่างๆ ภาวนามยปัญญา ความรู้จากการสัมผัสด้านจิตวิญญาณ อันเป็นมิติที่แตกต่างจากสองประการแรก

อยากให้หาอ่านกันเหลือเกิน เพราะทุกวันนี้ เราใช้เพียงสองประการแรกแสวงรูปธรรมของทรัพย์ ความมั่งคั่งและความสุขทางกาม ปรนเปรอกายสังขาร ละทิ้งการมีอยู่ของจิตวิญญาณ ทั้งๆ จิตวิญญาณนั่นคือที่มาของโลภ โกรธ หลง อันทำให้ปุถุชนร่านทุรนอยู่ในสังสารวัฏเช่นที่เป็นอยู่โดยไม่ตระหนัก อาบน้ำชำระร่างกายทุกวัน แต่ไม่เคยจะชำระจิตใจ
นั่นคือ ภาวนามยปัญญา

พูดแค่นี้ วิปจิตัญญู ซึ่งปัญญาดีมีสัมมาทิฏฐิ ที่กำลังแทงดอกอยู่ปริ่มๆ น้ำ ก็คงเบ่งบานได้ทันทีในวันพรุ่ง
ขออนุโมทนาสาธุ

 

นน  อิน  จัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image