ขรรค์ชัย-สุจิตต์ทอดน่อง ‘พิมาย’ ชี้เป็นเมืองต้นตระกูลกษัตริย์เขมร นับถือผีก่อนพุทธ-พราหมณ์

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. เวลา 10.00 น. ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีการถ่ายทอดสดรายการทอดน่องท่องเที่ยว โดยนายขรรค์ชัย บุนปานและนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” ในตอน “เมืองพิมาย รัฐเครือญาติอยุธยาและกัมพูชา ถิ่นเดิมบรรพชนกษัตริย์เขมร ผู้สร้างนครวัด นครธม”

นายสุจิตต์ กล่าวว่า เมืองพิมาย มีความสำคัญอย่างมาก เป็นเมืองใหญ่ระดับรัฐ มีอำนาจเหนือดินแดนลุ่มน้ำมูลตอนบน เป็นรัฐเครือญาติกับอยุธยา กัมพูชา และลาว ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นถิ่นเดิมของบรรพชนกษัตริย์เขมรที่สร้างนครวัด นครธม กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ พิมายเป็นเมืองบรรพชนต้นตระกูลขอม คือ “ราชวงศ์มหิธร”

ลายเส้นภาพสลักเสียมกุกที่ปราสาททนครวัด เครือญาติชาติพันธุ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่ตั้งของเมืองพิมายอยู่บนที่ราบสูงโคราช บริเวณชุมทางลำน้ำซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมภายใน ได้แก่ 1.แม่น้ำมูล เป็นสายหลัก มีต้นน้ำจากทิวเขาใหญ่ 2.ลำตะคอง ที่อำเภอปากช่อง และลำเชิงไกร อำเภอด่านขุนทด นอกจากนี้ ยังมีลำน้ำสาขาอีกหลายสาย

Advertisement

ก่อนเป็นเมืองพิมาย บริเวณดังกล่าวมีชุมชนเก่าแก่เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานทางโบราณคดี อาทิ ภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า “พิมายดำ” และแบบปากแตร ต่อมา เกิดเมืองพิมายในช่วงหลัง พ.ศ.1000 โดยในช่วงนั้นยังไม่มีการสร้างปราสาทหินพิมาย มีเพียงคูน้ำคันดินรูปวงรี มีการรับพุทธศาสนา และศาสนาพรหมณ์ผ่านทางอ่าวไทยและโตนเลสาปในกัมพูชา มีเมืองร่วมสมัยกันได้แก่ เมืองเสมา เมืองโคตรบูร เวียงตัน และที่สำคัญคือเจนละ ซึ่งเป็นรัฐต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์กัมพูชาในลุ่มน้ำชี-มูล ที่จังหวัดยโสธร และอุบลราชธานี ต่อมา หลัง พ.ศ.1600 มีการสร้างเมืองแผนผังสี่เหลี่ยมทับซ้อนลงบนเมืองเดิม ก่อกำแพงด้วยอิฐและหิน มีการสร้างปราสาทหินพิมายตามความเชื่อในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ประกอบด้วยอาคารหลายหลังในบริเวณเดียวกันในหลากยุคสมัย ปราสาทประธาน จำลองจากเขาพระสุเมรุ

“เมืองพิมายไม่ได้ลอยลงมาจากสวรรค์ แต่สร้างด้วยแรงงานมนุษย์ ไม่ได้สร้างเสร็จในคราวเดียว แต่สร้างต่อเนื่องยาวนานนับพันปี เติบโตขึ้นจากการค้า คนพื้นเมืองดั้งเดิมพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ชาว-มลายู และอื่นๆ นับถือศาสนาผี ยกย่องผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม มีหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่าเป็นผู้นำทางขวัญคนตายไปเมืองฟ้า กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก รวมถึงปลาร้าปลาแดก ต่อมาเมื่อรับศาสนาพุทธ ก็สร้างปราสาทหินพิมายขึ้น ถามว่าเคยมีนักบวชอาศัยอยู่หรือไม่ ยังไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่เชื่อว่าต้องมีพระสงฆ์มหายานทำพิธีกรรมของรัฐ ส่วนประชาชนทั่วไปในยุคนั้นเข้าปราสาทหินไม่ได้” นายสุจิตต์กล่าว

Advertisement

นายสุจิตต์กล่าวต่อว่า เมืองแห่งนี้คือถิ่นเดิมของวงศ์มหิธร กษัตริย์เขมร เป็นส่วนหนึ่งของต้นวัฒนธรรมขอมราวหลัง พ.ศ.1500 ซึ่งแพร่กระจายอย่างกว้างขวางต่อไปถึงละโว้ และอโยธยา โดยในยุคที่มีการสร้างปราสาทหินพิมายแล้วนั้น มีคนที่พูดภาษาตระกูลไต-ไท แต่ยังไม่ได้เรียกตัวเองว่า “คนไทย” ผู้สร้างปราสาทหินพิมายมีหลายกลุ่ม สืบลูกหลานเหลนจนถึงช่วงหลัง พ.ศ.2000 จึงเรียกตัวเองว่า คนไทย

จากซ้าย สุจิตต์ วงษ์เทศ , จารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา และ ผศ.สมชาย นิลอาธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีสาน

นายสุจิตต์กล่าวว่า เมืองพิมายลดความสำคัญลงในช่วงหลัง พ.ศ.1900 เมื่อรัฐอยุธยาขยายอำนาจควบคุมลุ่มน้ำมูล จากนั้นสถาปนาเมืองนครราชสีมาในช่วงหลัง พ.ศ.2000 สำเนียงหลวงอยุธยา ต่อมาเป็น “สำเนียงโคราช” เพลงโคราช ก็คือเพลงฉ่อยที่เล่นกันในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางภาคกลาง

จากนั้น นายสุจิตต์กล่าวถึงนิทานเรื่องท้าวปาจิต นางอรพิม ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทย ลาว และกัมพูชา รวมถึงประเด็นการปราบก๊กเจ้าพิมายโดยพระเจ้าตาก “หลังกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อพ.ศ.2310 กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นก๊กเจ้าพิมาย พระเจ้าตากยกพลไปปราบ ฆ่ากรมหมื่นเทพพิพิธตาย แล้วตั้งเจ้าเมืองนครราชสีมา มีบรรดาศักดิ์ว่าพระยาสุริยอภัย กวีซึ่งเป็นบริวารของพระยาสุริยอภัย เป็นคนแต่งกลอนท้าวปาจิต เมื่อ พ.ศ.2316 ในยุคกรุงธนบุรี”

นายสุจิตต์ยังกล่าวอีกว่า พื้นที่บริเวณที่เป็นเมืองพิมายไม่เคยร้าง มีคนอยู่อาศัยตลอดมา และไม่เคยถูกเผาอย่างที่มักเข้าใจกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการถ่ายทอดสด ประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ปราสาทหินพิมายได้ให้ความสนใจและร่วมฟังการพูดคุยเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองพิมายด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้ส่งคำถามและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งสอบถามว่าเหตุใดปราสาทหินพิมายจึงหันหน้าไปทางทิศใต้ โดยนายสุจิตต์ได้ให้คำตอบโดยอธิบายถึงเหตุผลทางด้านการค้า

ขรรคชัย บุนปาน ชมศาลาเปลื้องเครื่อง อาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้ายุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ทั้งนี้ นายขรรค์ชัยได้ให้ความสนใจกับพลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยเดินชมลวดลายแกะสลักบนเสาประดับกรอบประตู ซึ่งเป็นรูปบุคคลทำท่าคล้ายพนมมือ คาดว่าถือดอกบัวซึ่งมีความสวยงามอย่างมาก นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในสมัยเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ชั้นปีที่ 3 เมื่อราว พ.ศ.2512 ตนเคยเดินทางมาขุดค้นที่ปราสาทพิมายด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image