ทวงคืนโบราณวัตถุ ข่าวดีที่ต้องรอบคอบ

ท่ามกลางกระแสทวงคืนโบราณวัตถุไทยในต่างแดนที่ถูกจุดขึ้นมาโดยนักวิชาการและกลุ่มสำนึก 300 องค์ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการติดตามอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุด มีเรื่องเซอร์ไพรส์ เมื่อ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ระบุว่าได้รับข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศว่าสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations-HSI) สหรัฐ ประสานงานขอความร่วมมือให้กรมศิลปากรตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู’Ž รัฐฮาวาย จำนวน 17 รายการ ว่าเป็นของที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยหรือไม่

จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่าเป็นของไทยถึง 13 รายการ อาทิ พระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปปางมารวิชัย รวมถึงโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ อย่างกระดิ่งสัมฤทธิ์ อายุราว 2,000 ปี ซึ่งมีลักษณะเทียบเคียงกับแบบที่เคยพบในแหล่งโบราณคดีแถบจังหวัดอุบลราชธานี

Advertisement

ประเด็นสำคัญก็คือ การคาดว่าจะได้มาซึ่งโบราณวัตถุไทยในต่างแดนโดยไม่ต้องออกแรงทวงคืน ต่างจากกลุ่มประติมากรรมโพธิสัตว์ประโคนชัย ทับหลัง และวัตถุล้ำค่าอีกหลายชิ้นที่กรมศิลป์ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาถึง 2 ชุด คือชุดวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดี กับชุดกฎหมาย เพื่อดำเนินการติดตามกลับสู่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม โบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู ตามที่ปรากฏในการแถลงข่าว ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด รวมถึงภาพถ่ายผ่านสื่อใดอย่างเป็นทางการ

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มสำนึก 300 องค์ เล่าว่า ในการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างแดนกลับคืนสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยนั้น ที่ประชุมโดยกรมศิลปากรมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุจากโฮโนลูลู พร้อมฉายภาพถ่ายให้ชม

Advertisement

ทนงศักดิ์Ž บอกถึงสาเหตุที่สหรัฐเป็นฝ่ายติดต่อรัฐบาลไทยนั้น สืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าสืบสวนสอบสวนการลักลอบนำเข้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย แล้วยึดของในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของกลาง เข้าใจว่ามีการส่งรายการโบราณวัตถุให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยให้

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

แต่ละประเทศยืนยันว่าชิ้นไหนเป็นของตนบ้าง แล้วพิพิธภัณฑ์ยินดีจะคืนให้ โดยไม่เป็นคดีความ

รายละเอียดเกี่ยวกับโบราณวัตถุจากการนำเสนอในที่ประชุม เท่าที่จำได้ มีประติมากรรมสลักจากหินในศิลปะเขมรแบบบายน, พระพุทธรูปปางแสดงธรรม ศิลปะทวารวดี, พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยอยุธยา และมีพวกกระดิ่งแบบที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ด้วย

ชิ้นไหนที่มีลักษณะว่าเป็นศิลปะไทยอย่างชัดเจน กรมศิลป์ยืนยันว่าเป็นของประเทศไทยแน่ ตอนประชุมมีผู้เสนอให้ใช้คำว่า เข้าใจว่าเป็นศิลปะไทยแน่นอนŽ ก็มีกรรมการท่านอื่นแย้งว่า ถ้าบอกศิลปะไทยแน่นอน ทำไมไม่ระบุไปเลยว่า เป็นของไทย สรุปแล้วตอนนี้คงรอให้มีการยืนยันโดยการประชุมคราวหน้า คงจะมีการยืนยันว่าชิ้นไหนบ้างที่เป็นของไทยŽ ทนงศักดิ์อธิบาย

ทนงศักดิ์Ž ยังเล่าถึงข้อจำกัดการทำงานในขณะนี้ว่า หลักฐานด้านภาพถ่ายโบราณวัตถุที่เจ้าหน้าที่สหรัฐส่งมาให้นั้น ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ที่ประชุมจึงมีมติให้กรมศิลปากรทำเรื่องขอภาพถ่ายที่ครบถ้วนทั้ง 4 ด้าน และหากยังไม่สามารถยืนยันจากภาพถ่ายได้อีก ก็อาจต้องเดินทางไปที่สหรัฐเพื่อชมของจริง ดังที่ รมว.วัฒนธรรมกล่าวในที่ประชุมว่า หากจำเป็นต้องเดินทางไปดูของจริง เสียเท่าไหร่ก็ต้องไปŽ

ดังนั้น การตรวจสอบความเป็นเจ้าของที่แท้จริง มีความสำคัญอย่างมาก แต่ยังมีปัญหาบางประการ โดยเฉพาะโบราณวัตถุในวัฒนธรรมที่คาบเกี่ยวระหว่างศิลปะเขมรในกัมพูชา และศิลปะเขมรในไทย

ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ประเด็นนี้ เมื่อสอบถามไปยัง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ให้ความคิดเห็นตามหลักวิชาการว่า มีวิธีการที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น วัสดุ อาทิ เนื้อหิน และที่สำคัญคือรายละเอียดลวดลายซึ่งต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ

ความแตกต่างระหว่างโบราณวัตถุเขมรกับโบราณวัตถุไทย บางกรณีสามารถพิจารณาได้ เช่น ศิลปะเขมรยุคหลังบายนในไทย หรือถ้าเป็นประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรบางองค์ก็มีรูปทรงมงกุฎที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีวิธีการศึกษาเปรียบเทียบ หรือมีโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นเทียบว่าแบบนี้มีในไทย มีลวดลายแบบเดียวกัน เป็นต้นŽ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ให้คำแนะนำ

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังแสดงความเห็นถึงปัจจัยบางประการที่อาจเป็นปัญหา เช่น โบราณวัตถุบางชิ้นเป็นศิลปะเขมรในกัมพูชา แต่ถูกเคลื่อนย้ายมาในดินแดนที่กลายเป็นประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่สมัยโบราณ หากเป็นเช่นนั้น เราไม่อาจทราบได้ สรุปคือ เรื่องเหล่านี้ละเอียดอ่อน ต้องค้นคว้าข้อมูลอย่างรอบคอบ

นอกเหนือจากวัตถุล้ำค่า จำพวกประติมากรรมรูปเคารพ เนื่องในศาสนาต่างๆ ทั้งพุทธและพราหมณ์แล้ว ส่วนหนึ่งของโบราณวัตถุในรายการของเจ้าหน้าที่สหรัฐ ยังมีกลุ่มข้าวของเครื่องใช้ที่หล่อจากโลหะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังที่มีนำเสนอข้อมูลต่อสื่อต่างๆ โดยกล่าวถึงกระดิ่งสัมฤทธิ์ อายุนับพันปี ซึ่งมีลักษณะเทียบเคียงกับแบบที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

ถามว่าโบราณวัตถุกลุ่มนี้ หากได้กลับคืนมาจะมีคุณูปการอย่างไร และมีข้อจำกัดใดในด้านข้อมูล ประวัติความเป็นมา

รศ. สุรพล นาถะพินธุ

รศ.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหะวิทยาอันดับต้นๆ ของไทยมองว่า แม้ในไทยจะมีข้าวของเหล่านี้มากมายเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แต่หากรายการดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกไปจากบ้านเราจริงๆ ก็ควรได้คืนมา

อย่างไรก็ตาม หากได้มาโดยไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น พบที่แหล่งโบราณคดีไหน ประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีก็ย่อมลดลงไป ทว่าอย่างน้อยที่สุดก็จะได้ทราบว่า วัตถุรูปร่างเช่นนั้นเคยพบในไทย หรือมีรูปแบบเทียบเคียงกับของที่เคยพบมาก่อนแล้ว ซึ่งสามารถเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูลอะไรเลย ประโยชน์ก็จะยิ่งลดลงไปอย่างมาก นอกจากนี้  สิ่งที่ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบคือ เป็นของปลอมหรือไม่

ถ้าไม่มีข้อมูลอะไรเลย ไม่รู้ว่ามาจากไหน ประโยชน์ก็ยิ่งลดลงไปเยอะ เหมือนคราวก่อนตอนที่พิพิธภัณฑ์บาวเออร์ส (Bowers) ในสหรัฐ คืนโบราณวัตถุให้เราเกือบ 600 ชิ้น ก็มีบางชิ้นที่พิพิธภัณฑ์แนบข้อมูลว่าได้มาจากแหล่งบ้านเชียง จ.อุดรธานี แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าไม่ใช่ เพราะบ้านเชียงไม่เคยมีโบราณวัตถุรูปแบบนั้น และบางชิ้นยังเป็นของทำใหม่ คือ มีการเอาเศษโบราณวัตถุมาต่อเข้าด้วยกัน กลายเป็นของที่มีรูปร่างใหม่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ดังนั้น ต้องดูให้ละเอียด ถ้าดูไม่ออกจะสร้างความเข้าใจผิดว่าแหล่งโบราณคดีไทยมีของหน้าตาแบบนี้ด้วยหรือ ยกตัวอย่างเช่น มีการเอาเศษกำไลเก่ามาต่อใหม่ กลายเป็นเครื่องประดับรูปแมงปอ ซึ่งเราไม่เคยมีŽ รศ.สุรพลแนะนำพร้อมคำเตือน

ผู้เชี่ยวชาญโบราณโลหะวิทยาท่านนี้ ยังย้ำว่า โบราณวัตถุหลายอย่างพบทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่เฉพาะในไทย ในขณะที่บางอย่างพบเฉพาะในดินแดนไทย กล่าวคือ มีบางรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงในบางพื้นที่

ประเด็นสำคัญคือ ต้องตรวจสอบว่าชิ้นนั้นเป็นของทำใหม่ หรือของปลอมหรือใหม่ เพราะปัจจุบันการปลอมแปลงทำได้เหมือนมาก ขนาดพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ทั่วโลกเคยถูกหลอกให้ซื้อมาแล้ว

ทั้งหมดนี้ คือความคิดความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ที่แม้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะมองว่าเป็น ข่าวดีŽ แต่ก็ยังมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image