‘สจล.’ชูนวัตกรรมป้องกันก่อการร้าย ‘หุ่นยนต์กู้ระเบิด-เสื้อเกราะกันกระสุน’ ทุนต่ำกว่านำเข้า

เหตุไม่สงบจากการก่อการร้ายทั่วโลก ทวีความรุนแรงและมีท่าทีขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้บริสุทธิ์ ในไทยไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น แต่ลุกลามเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ จากการพบวัตถุต้องสงสัยและเกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า สจล.สนับสนุนและส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อบรรเทาผลกระทบและป้องกันเหตุด่วนเหตุร้ายอย่างทันท่วงที โดยผลงานวิจัยและพัฒนาที่เข้ากับสถานการณ์ในช่วงนี้ ได้แก่

1.หุ่นยนต์สำหรับการเก็บกู้วัตถุระเบิดและตรวจสอบหาระเบิดแบบไม่สัมผัส

2.เสื้อเกราะกันกระสุนที่พัฒนาให้เข้ากับรูปร่างของคนไทยเพื่อความคล่องตัว และสอดรับกับภารกิจเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้สวมใส่

Advertisement

“ผลงานนี้สามารถพัฒนาต่อยอดและผลิตในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงช่วยประหยัดงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ทั้งของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงของประเทศได้”

นิมิตร หงษ์ยิ้ม นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ผู้ออกแบบ “หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดและตรวจสอบหาระเบิดแบบไม่สัมผัส” ร่วมกับ รศ.ดร.สมศักดิ์ มิตะถา อาจารย์สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ นายสรยุทธ กลมกล่อม สำหรับใช้ในเหตุระเบิด 2 ลักษณะ 1.ตรวจพบสิ่งของต้องสงสัยที่ยังไม่ทราบว่าเป็นสารระเบิด 2.การเก็บกู้และเคลื่อนย้ายระเบิด

“จุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้ต่างจากหุ่นยนต์ EOD ทั่วไป โดยติดอุปกรณ์ส่งข้อมูลจากตัวตรวจจับต่างๆ กลับมายังชุดควบคุม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกู้ และตรวจหาระเบิดได้ดียิ่งขึ้น และนำไปประกอบเข้ากับอุปกรณ์รับรู้กลิ่นได้ เพื่อตรวจหาสารระเบิดและอาวุธเคมี ซึ่งเป็นการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ที่มีความนิยมเพิ่มขึ้น”

Advertisement

การทำงานของหุ่นยนต์มี 4 ระบบ คือ

1.ระบบขับเคลื่อน โดยใช้ล้อสายพานแบบ Differential Track Drive ทำมุมเลี้ยวรอบตัวหมุนสลับทิศทาง สามารถวิ่งบนพื้นผิวได้หลายแบบ พร้อมระบบป้องกันการลื่นไหลขณะปีนป่าย และติดตั้งกล้องความละเอียดสูงระดับ HD มองเห็นเวลากลางคืนในระยะ 15 เมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 10 กม./ชม.

2.ระบบรับส่ง-สัญญาณควบคุม ระหว่างสถานีควบคุมกับหุ่นยนต์แบบไร้สาย มีระบบเข้ารหัสป้องกันการรบกวนสัญญาณและป้องกันการส่งข้อมูลผิดพลาด คู่ระบบรักษาระดับความเร็วในการหมุนมอนิเตอร์อย่างนุ่มนวล เพิ่มความสะดวกในการควบคุมระยะไกล

3.ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 12 โวลต์ 16.8 แอมแปร์ พร้อมติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ปฏิบัติงานปกติได้ 2 ชม. ปฏิบัติงานหนักต่อเนื่อง 30 นาที

4.ระบบแขนกล ติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ โดยสามารถเปลี่ยนให้เหมาะสมกับรูปแบบการปฏิบัติงานได้ทันที หรือทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์สำรวจโดยไม่ต้องติดตั้งแขนกลก็ได้

5.ระบบการส่งข้อมูลจากหุ่นยนต์ เป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น โดยระบบทำหน้าที่เป็นตัวสื่อสาร แจ้งข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นให้ผู้ใช้งานทราบในเวลานั้น

“จุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้ยังอยู่ที่ราคาในการผลิตถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมาก ทำได้ในต้นทุนประมาณตัวละ 4 แสนบาท หรือต่ำกว่านี้หากผลิตจำนวนมาก ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท โดยขณะนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาระบบทำลายระเบิด หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เชื่อว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะช่วยยกประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ดียิ่งขึ้น” นิมิตรกล่าว

ด้าน ผศ.พลศาสตร์ เลิศประเสริฐ อาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าโครงการพัฒนา เสื้อเกราะกันกระสุนให้เข้ากับรูปร่างของคนไทยเพื่อความคล่องตัวและสอดรับกับภารกิจเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้สวมใส่ กล่าวว่า ปัญหาที่พบเมื่อซื้อหรือนำเข้าเสื้อเกราะจากต่างประเทศ คือความไม่พอดีจากรูปร่างและสัดส่วนที่ต่างกันของคนไทยกับชาวต่างชาติ ความไม่คล่องตัวจึงส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจ ทีมพัฒนาจึงผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนให้เหมาะกับรูปร่างและสัดส่วนของคนไทย ในเบื้องต้นแบ่งการผลิตเป็น 2 แบบ

1.สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ดีไซน์ให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่มากที่สุด โดยการลดพื้นที่ปกปิดเล็กน้อยในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่เพิ่มความหนาเพื่อความปลอดภัยมากขึ้นในการรับแรงกระสุน

2.สำหรับผู้บริหารระดับสูง ดีไซน์ลักษณะปกปิดชนิดเกราะอ่อนหรือแบบเสื้อกั๊กเพื่อให้สามารถใส่ทับด้านใน เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง

“จากการทดสอบประสิทธิภาพเสื้อเกราะทั้ง 2 แบบ พบว่าแม้จะมีน้ำหนักเบากว่าปกติ จากการใช้เส้นใยสังเคราะห์อารามิดคุณภาพสูงนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในยุโรปและอิสราเอล แต่สามารถผ่านมาตรฐานตามข้อบังคับของ National Institute of Justice หรือ NIJ ในระดับ 3A สามารถป้องกันกระสุนขนาด 9 มม. พาราฯ แบบ FMJ ที่มีหัวกระสุนหนัก 124 เกรน และมีความเร็วไม่เกิน 1,400 ฟุต/วินาที และกระสุนในขนาด .44 แม็กนั่ม แบบ SJHP ที่มีหัวกระสุนหนัก 240 เกรน และมีความเร็วไม่เกิน 1,400 ฟุต/วินาที รวมไปถึงป้องกันกระสุนในระดับ 1, 2 และ 3 ในภาพรวมจึงถือว่าคุ้มค่ากว่าการนำเข้าเสื้อเกราะสำเร็จรูป ทีมพัฒนาสามารถทำได้เฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 25,000 บาท ขณะที่ราคาเสื้อเกราะนำเข้าจากต่างประเทศ อยู่ที่ตัวละไม่ต่ำกว่า 30,000-35,000 บาท ซึ่งผลิตในปริมาณมากก็จะยิ่งลดต้นทุนให้น้อยลงได้อีก”

สนใจข้อมูลสอบถามได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โทร 0-2329-8111 หรือ www.kmitl.ac.th

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image