วัด-เจดีย์ : ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา 336 หน้ากระดาษของประวัติศาสตร์ความทรงจำ

พุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบ

กรุงศรีอยุธยาดำรงอยู่มากกว่า 600 ปี นับแต่ครั้งแรกสถาปนาเป็นราชธานีที่รุ่งโรจน์ กระทั่งกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ สืบมาเป็นจังหวัดสำคัญในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งของมรดกโลกทางวัฒนธรรมซึ่งผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมเยือน

ตลอดห้วงเวลาอันยาวนาน ไม่ได้มีเพียงการศึกสงครามระหว่างรัฐและการช่วงชิงอำนาจในอาณาจักรดังที่คุ้นชินจากแบบเรียนและภาพยนตร์ดัง หากแต่งานศิลปกรรมล้ำค่าถูกสร้างสรรค์ขึ้นอย่างมากมาย ทั้งงดงามและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่แฝงไว้อย่างลึกซึ้งและแยบยล

Advertisement

ซากปรักหักพังที่เห็นในวันนี้ ไม่ใช่เพียงอิฐปูนที่ก่อขึ้นจากฝีมือช่างชั้นเลิศ หากแต่มีพัฒนาการผ่านแนวความคิดที่ถูกกลั่นกรอง เรียงร้อย และตกผลึก เป็นดังตัวแทนของยุคสมัยอันรุ่งเรือง ก่อตัวขึ้นจากแรงบันดาลใจหลากหลายผสมผสานเข้าด้วยกัน

“วัด-เจดีย์ : ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา” ผลงานล่าสุดของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ได้รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจของสถูปสถานซึ่งเคยถูกทิ้งร้างในพงป่า ก่อนมีการศึกษาสำรวจและตรวจสอบเรื่อยมาโดยนักโบราณคดี

นี่คือหนังสือที่ไม่ใช่เพียงตัวอักษรที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ หากแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งศิลปกรรมที่ถูกถ่ายทอดอย่างละเอียดลออโดยบุคคลที่ได้รับการยกย่องเป็นนักปราชญ์คนหนึ่งในยุคสมัยของเรา

หนังสือที่เขียนนาน 40 ปี

“เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายมาครบ 250 ปีในเดือนเมษายน ปี 2560 นี้ ประจวบกับข้าพเจ้าเกิดเดือนเมษายน มีอายุครบ 72 ในปีเดียวกันนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้สำเร็จ ได้บูชาคณาจารย์ นักวิชาการที่ล่วงลับ ทั้งหวังว่าจะได้รับการตรวจสอบ ค้นคว้าเพิ่มเติมจากนักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษาอันเป็นคลื่นลูกใหม่ต่อไป”

ข้อความข้างต้นนี้ ลงชื่อโดยผู้เขียน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะใช้เวลามากหรือน้อยเพียงใดในการเรียบเรียงกระทั่งออกมาเป็นรูปเล่มดังที่เห็นอยู่ แต่คงไม่ใช่การกล่าวเกินเลยไปหากจะบอกว่าผลงานชิ้นนี้ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 40 ปีของชีวิตในการสั่งสมประสบการณ์ ข้อมูล ความรู้ ลงพื้นที่ พบเห็น บันทึกและถ่ายทอด โดยคัดเลือกเจดีย์แต่ละรูปแบบจากวัดวาอารามที่สร้างขึ้นในช่วงต้น กลาง และปลายกรุงศรีอยุธยา วิจัยหาความเข้าใจลักษณะเฉพาะในเชิงพัฒนาการ มองหาประเด็นเชื่อมโยงระหว่างเจดีย์รูปแบบต่างๆ จากวัดที่ถือกำเนิดในช่วงเวลาเดียวกัน หรือต่างช่วงเวลาก็ตาม รวมถึงอ้างอิงและตรวจสอบกับเจดีย์รูปแบบที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน

ภายในเล่มมีทั้งคำบรรยาย ภาพถ่ายทั้งเก่าและใหม่ ภาพลายเส้น รวมถึงรูปแบบสันนิษฐานที่ผ่านการศึกษาตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนในจำนวน 9 บท 336 หน้า ตั้งแต่บทนำจนเข้าสู่เจดีย์รูปแบบต่างๆ ในแต่ละบท ได้แก่ เจดีย์ทรงปรางค์, เจดีย์ช้างล้อมและเจดีย์สิงห์ล้อม, เจดีย์ทรงระฆัง, เจดีย์ทรงปราสาทยอด, เจดีย์ชุดฐานแปดเหลี่ยม, เจดีย์เพิ่มมุม , เจดีย์ทรงเครื่อง และเจดีย์นอกแบบ พร้อมด้วยบทสรุปและภาคผนวก

แม้ผู้เขียนจะระบุว่า การชี้แจงข้อมูลให้คำอธิบาย และวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นแนวทางหลักของหนังสือเล่มนี้ อาจทำให้ผู้อ่านยุ่งยากในการติดตามทำความเข้าใจอยู่บ้างเพราะแตกต่างจากการบรรยายข้อมูลอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่เสียงตอบรับยืนยันว่าเป็นผลงานที่ ‘อ่านง่ายที่สุด’ ของศาสตราจารย์ท่านนี้

วิชาการแน่น แต่อ่านง่าย
เสียงท้าทายจากหอคอยงาช้าง

ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และมีประสบการณ์สอนทางด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมถึงเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์จากการเป็นนักเดินทางตัวจริง ออกปากว่า นับแต่ติดตามผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลงานชิ้นนี้ นับว่าเป็นหนังสือที่ ‘อ่านเพลิน’ ที่สุด เข้าใจง่าย นำเสนอได้อย่างเข้าถึงคนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะแวดวงนักประวัติศาสตร์ โบราณคดีเท่านั้น โดยสื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของเจดีย์รูปแบบต่างๆ อย่างชัดเจน ภาพลายเส้นสันนิษฐานก็ชวนให้จินตนาการรูปแบบในครั้งอดีตของซากเจดีย์ที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างแจ่มชัด ไม่เพียงเท่านั้น ภาพถ่ายเจดีย์ที่ ไม่เคยปรากฏในหนังสือเล่มไหนมาก่อน ก็มีในเล่มนี้

สรุปง่ายๆ คือไม่ว่าใครก็หยิบมาเปิดอ่านได้

หากจะหาคำตอบว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงแตกต่างจากผลงานที่ผ่านมาของผู้เขียนในแง่ของการเรียบเรียงและนำเสนอ

มณฑล ประภากรเกียรติ หัวหน้ากองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน เฉลยว่า เป็นความตั้งใจที่จะทำให้หนังสือวิชาการเข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ มากขึ้น มีความทันสมัย ไม่ยากต่อการอ่านและทำความเข้าใจ จึงต้องมีการปรับ ‘ภาษา’ ให้ง่ายขึ้น แต่ยังคงคำศัพท์เชิงวิชาการไว้ดังเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือความท้าทาย

“ได้คุยกับอาจารย์ว่าอยากให้มันอ่านง่ายที่สุด ไม่อยากให้เป็นหนังสือวิชาการขึ้นหิ้งที่มีแต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักโบราณคดีอ่าน แต่อยากให้เป็นวิชาการของสาธารณชนที่จับต้องได้ เลยพยายามปรับภาษาให้ไม่ซับซ้อน ส่วนการนำเสนอก็ให้ข้อความอยู่หน้าซ้าย ประกบกับรูปภาพในหน้าขวามือ คือ รูปกับเนื้อเชื่อมโยงกัน ตัดทอนเนื้อหาแต่ละหน้าให้กระชับ มีอ้างอิงอยู่ข้างล่างในหน้าเดียวกันเลย ซึ่งจะง่ายต่อการอ่านมากที่สุด สำหรับศัพท์วิชาการ บิดยาก เพราะศัพท์ช่างเป็นคำเฉพาะ ไม่สามารถใช้คำอื่นได้ เช่น ฐานเขียง ลวดบัว มาลัยเถา ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ ก็มีเชิงอรรถอธิบายเพิ่ม”

ถามว่ากดดันหรือไม่ ในการทำงานกับคนระดับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ ซึ่งเป็นอาจารย์-ลูกศิษย์ในชีวิตจริง นอกเหนือจากเมื่อสวมหมวกบรรณาธิการ

มณฑลบอกว่า ไม่กดดัน แต่ตั้งใจมาก เพราะนอกจากความเป็น บก. ยังมีความรู้สึกส่วนตัว การเรียนจบด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นในด้านเนื้อหาและการซึมซับ ทว่าในส่วนอื่นๆ ก็ต้องสื่อสารกับคณะทำงานให้เข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบรูปเล่ม ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้หนังสือดูโมเดิร์นมากขึ้น

แสงแดด ท้องฟ้า ลายรดน้ำ
การตีความสู่ปกและรูปเล่ม

มาถึงเรื่องการดีไซน์รูปเล่ม หนังสือวิชาการแน่นปึ้กขนาดนี้ การดีไซน์ให้โมเดิร์นอย่างไม่ผิดฝาผิดตัวและเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่าย

วีรวัฒน์ ปัญญามัง ฝ่ายศิลปกรรม สำนักพิมพ์มติชน บอกว่า จงใจเลือกสีสดให้ดู ‘วัยรุ่น’ ขึ้น โดยตีความจากบรรยากาศเมื่อเดินทางไปยังโบราณสถานต่างๆ จึงเลือกสีเหลืองสดจากแสงแดด และสีฟ้าอ่อนจากท้องฟ้า ซึ่งเป็นฉากหลังเติมเต็มความงดงามของสถูปเจดีย์ ส่วนกราฟิก มีการลดทอนให้ดูทันสมัยและช่วยเสริมความเข้าใจให้ผู้อ่าน เช่น ในสารบัญและหน้าแรกของแต่ละบท จะมีภาพซิลลูเอท หรือเงาดำเป็นรูปทรงเจดีย์แบบนั้นๆ แม้แต่ฟอนต์ ก็เลือกอย่างพิถีพิถัน โดยใช้แบบที่มีความโปร่ง มินิมัล และที่สำคัญคือ ไม่เชย

มาถึงส่วนสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือปก ซึ่งได้ศิลปินดังในศักราชนี้อย่าง นักรบ มูลมานัส ที่ถนัดการปะติดปะต่อ ‘อะไรไทยๆ’ กับความร่วมสมัย ถ่ายทอดออกมาเป็นงานคอลลาจที่มีลายเซ็นเด่นชัด

นักรบบอกว่า ทันทีที่รู้ว่าจะได้รับหน้าที่ออกแบบปก ก็รู้สึก ‘เป็นเกียรติอย่างยิ่ง’ เพราะเคยติดตามผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติมาก่อน โดยมีการอ่านเนื้อหาในเล่มแล้วเลือกเจดีย์รูปแบบต่างๆ ออกมา จากนั้นใส่ลายรดน้ำสมัยอยุธยาซึ่งประกอบด้วยภาพต้นไม้ นก และก้อนเมฆ เฉกเช่นเดียวกับที่พบตามโบราณสถาน

สำหรับสีปกอันโดดเด่นสะดุดตา เขาบอกว่าเลือกสีบานเย็นซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อเห็นแล้วมักนึกถึงสีร่วมสมัย อย่างสีพลาสติก แต่แท้จริงแล้วเป็นสีที่มีใช้ในงานจิตรกรรมไทยประเพณีด้วยเช่นกัน

นับเป็นงานออกแบบที่ขับเน้นถึงการเชื่อมร้อยอดีตกับปัจจุบันอย่างลงตัว มีมิติและน่าสนใจยิ่ง

‘ทั้งเล่ม อ่านแค่นี้ก็คุ้มแล้ว’

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ฝีปากคม และบรรณาธิการเล่มของหนังสือแนวศิลปวัฒนธรรมนับไม่ถ้วน

สุจิตต์บอกว่า เพียงแค่อ่านประเด็นเรื่องปรางค์ มีต้นแบบจากปราสาทขอม แค่นี้ก็คุ้มแล้วสำหรับการอ่าน ส่วนเนื้อหาที่เหลือถือว่าเป็น ‘กำไร’

ข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ มีดังนี้

“ปรางค์มีรูปทรงสัดส่วนที่สำคัญใกล้เคียงกับลักษณะเฉพาะของปราสาทแบบเขมรที่เป็นต้นแบบ มีพัฒนาการมาก่อนยาวนานกว่าพันปีในดินแดนประเทศกัมพูชา รวมทั้งในดินแดนไทยที่มีอยู่เป็นส่วนน้อย หลักฐานของปรางค์ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นก่อนราชธานีกรุงศรีอยุธยาราว 100 ปี มีอยู่ที่ลพบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ”

ทำไมประเด็นนี้จึงสำคัญ สุจิตต์บอกว่า เพราะเป็นการสะท้อนการเมืองแบบเครือญาติของรัฐโบราณในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยมักไม่กล่าวถึง

ผลงานชิ้นนี้จึงไม่ใช่แค่ตำราประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยอยุธยา หากแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวระหว่างบรรทัดที่สามารถเชื่อมร้อยความทรงจำอันขาดวิ่น รางเลือนหรือสูญหายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image