เตือนใต้ฝนตกหนักต่อเนื่องอีกสัปดาห์แต่สถานการณ์ไม่น่าห่วง-ส่วนท่วมอีสานน้ำเริ่มซา

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ณ กรมชลประทาน สามเสน ว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ปริมาณน้ำเริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง โดยจาก จ.ชัยภูมิ ต่อเนื่องจนถึง จ.มหาสารคาม ปริมาณน้ำลดลง 5-10 เซนติเมตร (ซม.) ต่อวัน จาก จ.มหาสารคาม จนถึง จ.ร้อยเอ็ด ปริมาณน้ำลดลง 30 ซม.ต่อวัน จาก จ.ร้อยเอ็ด ถึง จ.ยโสธร ไหลลงที่แม่น้ำมูลใน จ.อุบลราชธานี ปริมาณน้ำลดลง 10 ซม. โดยกรมชลฯได้วางแผนการระบายน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยลดการระบายจาก 15 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน เหลือเพียง 10 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เพื่อเป็นการผ่อนคลายให้แม่น้ำชี สามารถรองรับปริมาณน้ำที่ระบายจากจังหวัดต่างๆได้มากขึ้น ส่วนเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ยังคงการระบายน้ำอยู่ที่ 35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จึงคาดว่าในวันที่ 19 สิงหาคม ปริมาณน้ำที่เกินจากเกณฑ์เก็บกักสูงสุดของเขื่อนลำปาว จะเข้าสู่เกณฑ์เก็บกักสูงสุด จากนั้นกรมชลฯจะลดการระบายน้ำ ให้น้อยลงเหลือประมาณ 20-15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ท้ายน้ำ

นายทองเปลวกล่าวว่า สำหรับลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ จ.นครราชสีมา ไปจนถึง จ.ศรีสะเกษ ระดับน้ำได้เริ่มลดลงสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้นท้ายเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ที่ยังมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลฯได้ดำเนินการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำมูล และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมที่สะพานพิบูลมังสาหาร เหนือแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 38 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้ระดับน้ำที่สถานี M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตยเริ่มลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านไปแล้ว ในขณะที่แม่น้ำชีที่ไหลผ่านเขื่อนธาตุน้อย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนลำเซบาย ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำมูลบริเวณสถานี M.7 มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทำให้โดยรวมหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านสถานี M.7 จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ในส่วนของการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต จ.อุบลราชธานี ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 นั้น โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือนาข้าวที่มีน้ำท่วมขัง ประมาณ 30 ไร่ บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ ต.หัวเรือ อ.เมืองอุบลราชธานี และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง ช่วยระบายน้ำและลดพื้นที่การเกษตรเสียหาย บ้านผักกะย่า หมู่ 8 ต.ตระการ อ.ตระการพืชผล ประมาณ 600 ไร่ และอีก 2 เครื่อง บริเวณบ้านนาดี หมู่ 1 และหมู่ 4 ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง ลดพื้นที่การเกษตรเสียหายได้ประมาณ 800 ไร่” นายทองเปลวกล่าว

นายทองเปลวกล่าวว่า ส่วนลุ่มน้ำก่ำ กรมชลฯได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตลอดทั้งลำน้ำรวม 8 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำอีก 7 เครื่อง เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ จ.นครพนมให้เร็วที่สุด ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำก่ำคลี่คลายดีขึ้น โดยเฉพาะหนองหาร ขณะนี้มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับเก็บกักและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำก่ำท้ายประตูสุรัสวดี จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4-5 วันนี้ ส่วนเขื่อนน้ำอูนไม่มีการเพิ่มการระบายน้ำแต่อย่างใด น้ำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากปริมาณน้ำที่ล้นจากสปิลเวย์ โดยท้ายเขื่อนยังมีปริมาณสูงอยู่ กรมชลฯจึงได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำให้ลงสู่แม่น้ำสงคราม และแม่น้ำโขงต่อไป คาดว่าภายใน 4-5 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติ

Advertisement

“จากการติดตามสถานการณ์พายุฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม ยังไม่มีพายุฝนพัดผ่านมายังประเทศไทยเพิ่มเติม จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่กรมชลฯจะเร่งระบายน้ำ เพื่อให้พื้นที่ภาคอีสานกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ส่วนภาคใต้ ในช่วงนี้ต่อไปอีก 1 สัปดาห์ คาดว่ายังมีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ จ.สตูล พังงา กระบี่ และภูเก็ต กรมชลฯได้เตรียมการพร่องน้ำออก ซึ่งสถานการณ์น้ำภาคใต้ ถือว่า ไม่น่าห่วงมากนัก เนื่องจากเขื่อนส่วนใหญ่เก็บกักน้ำได้เพียง 80% จากความจุ ทำให้ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีกมาก” นายทองเปลวกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image