“กรมชลฯ”ลุ้นพายุช่วยเติมน้ำเข้า4เขื่อนหลักได้รวม 1.3 หมื่นล.ลบ.ม.-รอนบข.เคาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เพื่อใช้บริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณเพียง 9,700 ล้านลบ.ม. โดยแบ่งเป็น นำสหรับใช้อุปโภคและปริโภค 1,100 ล้านลบ.ม. ดูแลระบบนิเวศ 1,400 ล้านลบ.ม. การทำเกษตรต่อเนื่อง อาทิ สวนผลไม้ เป็นต้น 700 ล้านลบ.ม. และเก็บสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน 3,700 ล้านลบ.ม ส่วนที่เหลืออีก 4,100 ล้านลบ.ม. จะใช้จัดสรรเรื่องอื่นๆ ในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามถ้าเดือนสิงหาคม – ตุลาคมมีพายุพัดผ่านไทยอีกระลอก ทั้ง 4 เขื่อนน่าจะเก็บน้ำเพิ่มได้อีก 3,000 ล้านลบ.ม. รวมทั้งสิ้น 13,000 ล้านลบ.ม.

“การปลูกข้าวนาปีนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) จะกำหนดพื้นที่ว่าทั้งปีควรจะปลูกเท่าไหร่ อาทิ ช่วงฤดูฝนทั้งประเทศควรปลูกข้าวได้ประมาณ 58 ล้านไร่ โดยปลูกอยู่ในเขตชลประทาน 17 ล้านไร่ และลุ่มเจ้าพระยา 7.6 ล้านไร่ ส่วนการปลูกข้าวนาปรัง ต้องดูปริมาณความต้องการของตลาดด้วย ถึงแม้ปีนี้จะมีน้ำมาก แต่ก็ต้องดูแผนว่าจะให้ปลูกในเขตชลประทานเท่าไหร่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่าไหร่ โดยกรมชลประทานจะดำเนินตามนโยบายที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กำหนดให้”นายทองเปลว กล่าว

นายทองเปลว กล่าวว่า ขณะที่แผนที่กรมชลประทานเร่งปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยานั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายส่วน ได้แก่ 1.การกักเก็บน้ำในเขื่อนให้เพียงพอ 2.การบริหารพื้นที่เพาะปลูก เช่น ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเริ่มปลูกข้าวตั้งแต่เดือนเมษายน และตอนนี้สามารถเก็บเกี่ยวปลูกเสร็จแล้ว ถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเยอะ แต่จากการประเมินความเสียหาย พบว่า ไม่มีพื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ ไม่เกิดความเสียหาย และสามารถใช้เป็นที่กักเก็บน้ำถึง 100 ล้านลบ.ม. ส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1.15 ล้านไร่ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงกำลังเร่งเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลให้ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน แถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และอ่างทอง สามารถผลักดันน้ำมาเก็บไว้ตรงนี้ได้ ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าแผนของกรมชลประทาน สามารถทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวในที่ลุ่มไม่เสียหาย และพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถที่จะตัดยอดน้ำที่จะไหลผ่านพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนไว้ได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image