‘พาทาโกไททัน’ ไดโนเสาร์ใหญ่ที่สุดในโลก

พาทาโกไททันเมื่อครั้งนำออกแสดง (ภาพ-AMNH-D. Finnin)

ทีมนักวิจัยจาก อาร์เจนตินา เผยแพร่ผลการตรวจวิเคราะห์ซากฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ยักษ์ พบเป็น “ไททันโนซอร์” สายพันธุ์ใหม่ที่หนักไม่น้อยกว่า 69 ตัน อายุราว 100 ล้านปี ทำสถิติกลายเป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบกัน มหึมากว่า “อาร์เจนติโนซอรัส” เจ้าของสถิติใหญ่ที่สุดแต่เดิม นักวิจัยระบุว่า มีน้ำหนักเทียบได้กับช้างพลายเอเชียราว 12 ตัวรวมกัน

กลุ่มซากโครงกระดูกดังกล่าว มีการค้นพบโดยบังเอิญเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา เมื่อ ออเรลิโอ เฮอร์นันเดซ คนงานไร่เลี้ยงแกะ ลา ฟลีชา ในเมืองพาทาโกเนีย ประเทศอาร์เจนตินา พบส่วนหนึ่งโผล่พ้นจากดินในไร่โดยบังเอิญแล้วแจ้งให้นายออสการ์ มาโย ผู้เป็นเจ้าของไร่ ซึ่งแจ้งต่อนักบรรพชีวินวิทยาในท้องถิ่นให้ทราบเพื่อเข้ามาศึกษาทันที เพราะเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นกระดูกไดโนเสาร์

โฮเซ่ ลุยส์ คาร์บัลลิโด นักวิจัยประจำสภาวิจัยแห่งชาติอาร์เจนตินาซึ่งทำงานอยู่กับพิพิธภัณฑ์บรรพชีวิน เอจิดิโอ เฟรูกลิโอ ในเมืองเทรลิว จังหวัดชูบัท พร้อมทีมขุดค้นเข้าไปตรวจสอบและขุดค้นแหล่งดังกล่าว ซึ่งใช้เวลานานถึง 18 เดือน พบโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่รวม 6 ตัว โดยพบกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์ 4 ตัว กับกระดูกโคนขาหน้าของไดโนเสาร์อีก 1 ตัว กระดูกบางชิ้นวัดได้ถึง 2.4 เมตร เมื่อวิจัยแล้วพบว่าเป็นซากโครงกระดูกของไดโนเสาร์ในกลุ่ม “ไททันโนซอร์” ไดโนเสาร์คอยาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาไดโนเสาร์ทั้งหมด มี 4 สายพันธุ์ด้วยกัน

ภาพเขียนแสดงพาทาโกไททันขนาดเต็มตัว (ภาพ-G. Lio)

นอกจาก พาทาโกไททัน ที่เพิ่งค้นพบใหม่แล้ว ยังมี อาร์เจนติโนซอรัส, พูเอร์ทาซอรัส, โนโตโคลอสซัส ซึ่งคาร์บัลลิโดชี้ว่า น่าจะเป็นกลุ่มก้อนวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในสายวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ ไม่ได้เกิดขึ้นหลายครั้งเหมือนที่เคยคิดกัน

Advertisement

พาทาโกไททัน และ กลุ่มไดโนเสาร์ยักษ์ เหล่านี้มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นทวีปอเมริกาใต้ในช่วงสั้นๆ ระหว่าง 113 ล้านปีก่อน เรื่อยมาจนถึงราว 83 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกว่า ยุคกลางยุคเครตาเซียส การค้นพบครั้งนี้เรียกความสนใจได้จากนักวิชาการทั่วโลก จนทางทีมวิจัยยินยอมให้พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน ในนครนิวยอร์ก จัดแสดงซากโครงกระดูกที่ขุดพบทั้งหมด ตั้งแต่ตอนที่การวิเคราะห์วิจัยยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่มีการตั้งชื่อให้กับซากไดโนเสาร์ยักษ์นี้ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถจัดวางภายในห้องจัดแสดงได้ทั้งตัว ต้องปล่อยให้ส่วนคอลอดออกมาจากประตู ประหนึ่งกำลังรอต้อนรับผู้ชมเลยทีเดียว


เทียบขนาดกระดูกต้นขาที่ขุดพบกับขนาดตัวคน (ภาพ-Jose Maria Farfaglia)

คาร์บัลลิโดและทีมวิจัยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ไดโนเสาร์ยักษ์ที่ค้นพบใหม่นี้ว่า พาทาโก เพื่อสื่อถึงพื้นที่ซึ่งกระดูกถูกค้นพบต่อด้วยคำว่า ไททัน ที่เป็นภาษากรีกแสดงถึงความแข็งแรงใหญ่โต ส่วนชื่อสปีชีส์ ใช้ว่า “มาโยรัม” เพื่อเป็นเกียรติแก่นายมาโย เจ้าของไร่ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดเวลาการขุดค้น

ทีมวิจัยระบุว่า จากการวิจัยพบว่าไดโนเสาร์เจ้าของซากโครงกระดูกที่พาทาโกเนียนี้ ยังไม่ได้โตเต็มที่ ดังนั้น มันอาจโตได้อีกมากและอาจโตถึงความสูง 15 เมตรได้หากยืดลำคอขึ้นตั้งตรง เมื่อตรวจสอบชั้นดินและสภาพแวดล้อม นักวิจัยพบว่า ไดโนเสาร์ทั้ง 6 ตัวมาจากชั้นดินที่แตกต่างกัน 3 ระดับ หรือ 3 ช่วงเวลา ทำให้เชื่อกันว่าพื้นที่ซึ่งเป็นไร่เลี้ยงแกะดังกล่าว แต่เดิมอาจเป็นทะเลสาบ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในละแวกดังกล่าว ทำให้ไดโนเสาร์เหล่านี้แวะเวียนกลับมายังแหล่งน้ำนี้เสมอ

Advertisement

สตีเฟน โพโพแพท นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สวินเบิร์น ในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยครั้งนี้ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์ยักษ์เหล่านี้เสียชีวิตลง น่าจะเป็นเพราะเกิดสภาพแห้งแล้ง และแหล่งน้ำนี้แห้งขอดลง ซากมหึมาของมันอาจส่งกลิ่นไปไกลเรียกไดโนเสาร์กินเนื้อมากัดแทะ จนส่งผลให้กระดูกบางส่วนถูกทับลึกลงไปในชั้นดินโคลนก็เป็นได้

แม้จะเป็นไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า พาทาโกไททัน ไม่ใช่สัตว์ที่หนักที่สุดในโลก

เพราะน้ำหนักยังห่างจาก “วาฬสีน้ำเงิน” ซึ่งอาจมีน้ำหนักได้ถึง 200 ตัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image