สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปลายฝน ต้นหนาว หอมรวงข้าวทุ่งกุลา พ้นจากความแห้งแล้ง เป็นแหล่งมั่งคั่งข้าวหอม

ปลายฝน ต้นหนาว หอมรวงข้าว ทุ่งกุลาร้องไห้ อ. โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด (ภาพจากhttp://www.roiet.go.th/visit101/tungkula.html)

ราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงปลายฝน ต้นหนาว บางแห่งจะลากยาวไปถึงธันวาคม

“ปลายฝน ต้นหนาว หอมรวงข้าวทุ่งกุลา” เพราะทุ่งกุลาพ้นจากเขตแห้งแล้ง เป็นแหล่งมั่งคั่งข้าวหอม เต็มไปด้วยแปลงนาข้าวหอมมะลิ

เมื่อก่อนเคยมีคำเปรียบทุ่งกุลาร้องไห้เหมือนทะเล “มีแต่ทราย” ปลูกอะไรไม่ขึ้น

ทุกวันนี้ทรายเหล่านั้นยังมีเหมือนเดิม “เค็ม แห้ง แล้ง ทราย” แต่ถูกแปลงเป็นทรัพยากรมีค่าและมั่งคั่งใช้ปลูกข้าวหอมมะลิวิเศษอย่างยิ่ง

Advertisement

คนส่วนมากได้กลิ่นหอมจากข้าวหอมมะลิเมื่อตักข้าวสวยใส่จานกิน หรือยกข้าวในช้อนใส่ปากแล้วได้กลิ่นเข้าจมูก

แต่ไม่เคยหอมรวงข้าวในนา เพราะไม่ใช่ชาวนาปลูกข้าวและไม่อยู่กับแปลงนา

ทุ่งกุลาศึกษา

Advertisement

จังหวัดที่อยู่ทุ่งกุลา หรือใกล้เคียงโดยรอบ ควรร่วมกันจัดทริปปลายฝน ต้นหนาว หอมรวงของข้าวหอมทุ่งกุลา แล้วชวนไปหอมรวงข้าวนั้น แล้วมีกิจกรรมกินข้าวจากนา กินปลาจากหนองน้ำทุ่งกุลา

สถาบันการศึกษาที่อยู่พื้นที่โดยรอบทุ่งกุลา ต้องมีเอกสารหรือเครื่องมือแบ่งปันความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวหอมทุ่งกุลา กับอารยธรรม “เค็ม แห้ง แล้ง ทราย” ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมสำคัญของทุ่งกุลา สร้างผลผลิตเป็นข้าวหอมมีคุณภาพสูง เรียก ข้าวหอมทุ่งกุลา

ควรร่วมกันมีกิจกรรมประจำทั้งปีในทุ่งกุลาหมุนเวียนไป เช่น ทำนาข้าวหอมทุ่งกุลาในต้นฤดูทำนา, พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ตำข้าวหอมทุ่งกุลา, หุงข้าวหอมทุ่งกุลา เป็นต้น แล้วเชิญชวนคนทั้งโลก (ถ้าชวนได้) เข้าร่วมกิจกรรมนี้

ทุ่งกุลา รวมเนื้อที่ประมาณ 2.1 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม เขตติดต่อ 5 จังหวัดในอีสาน ได้แก่ ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, สุรินทร์, ยโสธร, ศรีสะเกษ

คนโดยรอบทุ่งกุลา มีทั้งพูดลาว และพูดเขมร

กุลา สมัยก่อนหมายถึงคนในพม่าที่ค้าขายทางบกด้วยเกวียน เช่น พวกต้องซู่ (หรือปะโอ), ไทยใหญ่ เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image