จ.สุราษฎร์ธานี ปราบหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน ลดพื้นที่ระบาดได้กว่า 400 ไร่

นายโชคชัย บุญยัง หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการปลูกมะพร้าวใน 19 อำเภอ รวม 164,349.83 ไร่ 14,131 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูกมากที่สุดคือ อำเภอเกาะสมุย 66,132 ไร่ รองลงมาอำเภอเกาะพะงัน 63,759 ไร่ และอำเภอเมือง 17,487 ไร่ ซึ่งในปี 2560 พบการระบาดของศัตรูมะพร้าว โดยเฉพาะหนอนหัวดำ จำนวน 3,557 ไร่ คิดเป็นต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลายรวมทั้งสิ้น 88,926 ต้น แบ่งเป็นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร จำนวน 73,558 ต้น และมะพร้าวที่มีความสูงต่ำกว่า 12 เมตร จำนวน 15,368 ต้น

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ได้แก่ การสร้างการรับรู้และรณรงค์ให้มีการตัดทางใบที่มีหนอนหัวดำทำลายนำมาเผาทิ้ง ส่งเสริมการเลี้ยงแตนเบียนบราคอน ศัตรูธรรมชาติเพื่อควบคุมประชากรหนอนหัวดำ และถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการในกรณีที่พบการระบาดที่รุนแรง

สำหรับมาตรการใช้สารเคมี ขณะนี้ได้อบรมเตรียมความพร้อมให้กับทีมรับจ้างฉีดสารเคมีเข้าต้นและพ่นทางใบเสร็จเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็นทีมฉีดสารเคมีเข้าต้นกรณีต้นมะพร้าวสูงกว่า 12 เมตร จำนวน 13 ทีม และทีมพ่นทางใบ กรณีต้นมะพร้าวต่ำกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาลทุกระดับความสูง จำนวน 6 ทีม รวมผู้เข้ารับการอบรม 57 คน

นายโชคชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หนอนหัวดำมะพร้าวได้เข้ามาระบาดในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งแรกเมื่อปี 2551 ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้บูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำด้วยวิธีผสมผสานมาโดยตลอด พร้อมทั้งจัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการศัตรูมะพร้าว จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เพื่อผลิตแตนเบียนบราคอนปล่อยในพื้นที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีการเฝ้าระวังสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูมะพร้าวอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้พื้นที่การระบาดลดลงตามลำดับ โดยเฉพาะปี 2560 มีพื้นที่การระบาดลดลงจากปี 2559 จำนวน 445 ไร่ จึงเป็นการยืนยันได้ว่ามาตรการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image