ไทยพบพม่า : ราคาของประชาธิปไตยในพม่า (ตอนจบ) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าให้ผู้อ่านฟังว่าในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2015 (พ.ศ.2558) และการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำพรรค NLD ประชาธิปไตยในพม่าดูเหมือนว่าจะอยู่ในภาวะ “กลัดหนอง” ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่วิกฤตศรัทธาผู้นำของ ออง ซาน ซูจี ที่ความเงียบงันของเธอ และการให้สัมภาษณ์แบบ “ขอไปที” สร้างความไม่พอใจให้กับภาคประชาสังคมพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ ในภาวะที่สื่อถูกคุกคามอย่างรุนแรง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และประชาชนธรรมดาถูกฟ้องด้วยมาตรา 66(d) จาก พ.ร.บ.โทรคมนาคมของพม่าไปแล้วหลายคน และท่ามกลางความแตกแยกภายในพรรค NLD กอปรกับเรื่องฉาวจากการจัดซื้อรถประจำทางร่วม 2,000 คันจากจีนของเทศบาลเมืองย่างกุ้ง มูลค่ารวม 100 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากจะถูกวิจารณ์ว่าราคารถแพงเกินไปแล้ว สังคมพม่ายังรู้สึกผิดหวังกับตัวแทนคนสำคัญของพรรค NLD อย่าง อู เพียว มิน เตง อดีตนักโทษการเมืองที่ในปัจจุบันเข้าไปนั่งเป็นมุขมนตรีเมืองย่างกุ้ง ความผิดหวังของผู้คนวนล้อมอยู่กับคำถาม 2 คำถามว่า “เหตุใดผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเคยเสียสละเสรีภาพของตัวเองเพื่อปกป้องเสรีภาพทางความคิด จึงเข้าไปพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่น?” และ “อำนาจที่ประชาธิปไตยมอบให้ทำให้วีรบุรุษประชาธิปไตยกลายเป็นผู้ร้ายทางการเมืองได้จริงหรือ?”

ผู้เขียนมองว่าการจะตอบคำถามนี้ที่ค้างเติ่งอยู่ในความคิดของคนพม่าหลายคนในเวลานี้ เราควรต้องกลับมาพิจารณาโครงสร้างทางการเมืองของพม่ากันใหม่ ประการแรก พม่าในปัจจุบันมิได้เป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบอย่างที่เราเข้าใจกัน เพราะในสภายังมีอัตราส่วนของนายทหารที่กองทัพคัดเลือกให้เข้าไปเป็นปากเป็นเสียงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และกองทัพยังออกแบบกลไกทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อความชัวร์ว่า NLD และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากกองทัพ ประการที่สอง เราเคยเข้าใจกันว่ากองทัพและพลเรือน (พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย โดยเฉพาะ NLD) เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน สำหรับฝ่ายหลังนั้นก็ถูกทุบตีจนพิกลพิการมานานร่วม 2 ทศวรรษ แต่เมื่อพม่าเป็นประเทศประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 แล้ว ประสบการณ์ประชาธิปไตยในรอบปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้คนในพรรค NLD เห็นแล้วว่าการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการท่องตำราประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นเป็นเหมือนการเดินเข้ากองไฟ ประชาธิปไตยในแบบ NLD หลังผ่านการลองผิดลองถูกแล้วคือการมุ่งหน้าปฏิรูปแต่ก็พยายามไม่ไปขัดขาใครในกองทัพหรือนักธุรกิจคนใหญ่คนโต

กองไฟในการเมืองพม่าร้อนแค่ไหน การลอบสังหารอู โก นี ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ปรึกษากฎหมายของ NLD คนสนิทของออง ซาน ซูจี และผู้ผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดีได้ พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และยังมีกองไฟร้อนๆ อีกหลายกองที่ NLD จะต้องลุยผ่านไป อุปสรรคเหล่านี้ทำให้นักการเมืองของ NLD จำนวนมากไฟเริ่มมอด เมื่อไม่นานมานี้ อู เพ ซิน ทุน (U Pe Zin Tun) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานจากพรรค NLD เพิ่งประกาศลาออกไปหมาดๆ หลังถูกโจมตีเรื่องอุปนิสัยส่วนตัวมาสักระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจว่า NLD แม้เดิมมีวิสัยทัศน์สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำที่เป็นสากล แต่พรรคเป็นภาพแทนของสังคมผู้สูงวัย ในจำนวนรัฐมนตรีจากพรรค NLD จากพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐมนตรีที่ไม่มีสังกัดพรรคการเมืองที่เข้าไปนั่งใน 18 กระทรวง (อีก 3 กระทรวงที่เกี่ยวกับความมั่นคงเป็นโควต้าของกองทัพ และอีก 1 กระทรวงเป็นของพรรค USDP ซึ่งสนับสนุนกองทัพ) มีอายุเฉลี่ย 67 ปี มีรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น ได้แก่ ดร.เมี้ยว เตง จี (Myo Thein Gyi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มีอายุเพียง 51 ปี

Advertisement
กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาล NLD ลาออก โดยชูสัญลักษณ์คว่ำบาตรหรือการไม่สนับสนุนรัฐบาล การประท้วงในต้นเดือนสิงหาคมนี้มีผู้เข้าร่วมน้อยมากทั้งที่มัณฑะเลย์และย่างกุ้ง แต่ส่งสัญญาณไปให้รัฐบาล NLD ว่าเริ่มมีผู้ไม่พอใจรัฐบาลออกมาแล้ว การประท้วงอย่างสงบตามครรลองประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่พรรค NLD เรียกร้องมาโดยตลอด แต่แกนนำผู้ประท้วงที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสกลับถูกควบคุมตัว (แต่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว) (ภาพจาก Frontier Myanmar)

รัฐบาลพม่าเป็นรัฐบาลของ “ลู จี” (lu gyi) หรือคนแก่ ที่ขับเคลื่อนไปอย่างช้าๆ รัฐมนตรีหลายคนที่สังกัดพรรค NLD เคยเป็นนักโทษการเมืองมาก่อน และใช้ชีวิตนับสิบปีอยู่ในเรือนจำหรือในบ้านพัก ในขณะเดียวกัน อีกฟากฝั่งหนึ่งของรัฐบาลคือกองทัพ ที่ยังรักษาเกียรติภูมิและปรัชญาหลักที่ว่ากองทัพจะไม่ยอมให้ความเป็นสหภาพในพม่าล่มสลาย แนวคิดว่าด้วยการรักษาสหภาพเข้าไว้ด้วยกัน ไม่สามารถแบ่งแยกได้ เป็นเชือกที่คล้องคอรัฐบาล NLD ไว้ และทำให้นโยบายแรกๆ ของรัฐบาลพลเรือนเน้นไปที่การปรองดองกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่าการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หลอกหลอนพม่ามาตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1948 (พ.ศ.2505) และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พม่าไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลจึงพยายามเดินหน้าเต็มสูบเพื่อวาระการปรองดองแห่งชาติ แต่เป็นการผลักดันนโยบายการปรองดองที่เป็นเสมือน “ผักชีโรยหน้า” ที่มิได้มุ่งเน้นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในสหภาพพม่า และการสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างชาวพม่ากับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อย่างแท้จริง หากแต่เป็นการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มเท่านั้น

การกลับมาของประชาธิปไตยในพม่ายังมีราคาแพงสำหรับรัฐบาล NLD นอกจากจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพรรค มีความตึงเครียดระหว่าง NLD และกองทัพอยู่เนืองๆ และความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยที่ไม่ราบรื่นนัก รัฐบาลพม่ายังต้องพบศึกหนักเมื่อภาคประชาสังคมบางส่วนเริ่มแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ทั้งฝ่ายขวาจัด หรือฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายเสรีนิยมและปัญญาชน

ในส่วนของฝ่ายขวานั้น ในขณะนี้ได้เริ่มออกมาเดินขบวนประท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลของออง ซาน ซูจี ลาออกแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา พระสงฆ์และประชาชน “ผู้รักชาติ” จำนวนหนึ่งรวมตัวกันที่มัณฑะเลย์ เมืองขนาดใหญ่อันดับ 2 ของพม่า และที่พระเจดีย์ชเวดากองที่ย่างกุ้ง เพราะไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล โดยอ้างว่ารัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

แม้จะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมในจำนวนหลักสิบที่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล NLD แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนไปยังผู้นำในพรรค และในรัฐบาลทั้งหลายว่าประชาธิปไตยที่พวกเขากำลังพยายามสถาปนาขึ้นในพม่านั้น ในเวลานี้มิใช่ไม่เข้าตากองทัพเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างความไม่พอใจให้กับชาวพม่าบางส่วนที่ยังเชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์ของชาวพม่า ความเหนือกว่าของศาสนาพุทธ และยังมีความหวังลมๆ แล้งๆ ว่ารัฐบาล NLD และออง ซาน ซูจี จะสามารถนำพาความสงบและความอยู่ดีกินดีให้กลับคืนมาได้ เฉกเช่นในต้นศตวรรษที่ 20 ที่พม่าเป็นประเทศที่มั่งคั่งอันดับต้นๆ ของเอเชีย

สำหรับหลายคนในพม่า ทั้งผู้ปกครองและประชาชนธรรมดาๆ ความรู้สึกไม่มั่นใจในระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การทดลองประชาธิปไตยในรอบปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าหนทางการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาตินั้นยังอีกยาวไกล

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image