สร้าง ‘ฝาย’ สร้าง ‘ชีวิต’ น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

เพราะ “น้ำ” คือสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์

ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่งใน พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่องทรัพยากรน้ำ ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529 ณ สวนจิตรลดา

“หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้”

Advertisement

สอดคล้องกับคำพูดของ ภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น ที่บอกกับมติชน เมื่อครั้งมีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมสื่อสัญจร ขอนแก่น-ชัยภูมิ ชลประทานนอกกรอบ เพื่อเกษตรกรยั่งยืน เกี่ยวกับ “น้ำ” ว่า น้ำเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างการดำรงชีวิต รายได้ต่อหัว

ทั้งยังเป็นเรื่องพื้นฐานเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศการเกษตร และน้ำน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไป ทั้งด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือกระทั่งไทยแลนด์ 4.0

ภัทรพล ณ หนองคาย (ซ้าย)

พร้อมทั้งพาไป “เข้าใจ” ตัวอย่างชัยชนะของเกษตรกร หลังจากมี “น้ำ” ในการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ที่ฝายหนองแวง หรือหนองแวงโมเดล ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ และฝายบ้านเสาเล้า ต.กุดเพียขอม อ.ชนบท จ.ขอนแก่น

Advertisement

1 ฝาย หลายความร่วมมือ

ต้องยอมรับว่า “เครื่องมือ” ที่เกษตรกรใช้กักเก็บน้ำในฤดูแล้งอย่างฝายชะลอน้ำ หรือฝายน้ำล้น ล้วนมีปัญหา ไม่ว่าจะฝายหินทิ้ง ฝายชั่วคราวที่ชาวบ้านสร้าง หรือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้สร้างให้ ล้วนพังเสียหาย ใช้การไม่ได้ เนื่องจากการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

หากเทียบกับฝายน้ำล้นที่ก่อสร้างโดยกรมชลประทาน แน่นอนว่าย่อมมีความแข็งแรง ทนทาน ถูกต้องตามหลักวิชาการ และราคาสูงกว่าฝายทั่วไป

โดยชุมชนหนองบัวแดงที่พึ่งพาน้ำในการอุปโภค-บริโภคจากฝายหินทิ้งหนองแวง “เคย” เกิดวิกฤตฝนทิ้งช่วงนานในปี พ.ศ.2558 ทำให้ลำน้ำชีแห้งขอดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวงจึงนำ “ปัญหา” เข้าปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากศูนย์อาสาบรรเทาภัยแล้ง โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 (ศบล.คส.ชป.6) จ.ขอนแก่น ซึ่งขณะนั้นทางโครงการก่อสร้างกำลังริเริ่มโครงการ “รักษ์น้ำ รักษ์แผ่นดิน” ในพื้นที่ความรับผิดชอบ 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม

ประกอบกับคำสัมภาษณ์ของภัทรพลที่เปิดเผยว่า ช่วงไม่มีน้ำใช้ ชาวบ้านบางคนถึงกับใช้ก้อนฟางมาวางเพื่อให้น้ำสูงขึ้น ซึ่งฟางจะอุ้มน้ำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่กี่วันก้อนฟางก็เน่าเปื่อยหมดสภาพใช้งาน

ทาง ศบล.คส.ชป.6 จึงดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำอย่างยั่งยืน โดยออกแบบให้เป็นฝายดินผสมปูนซีเมนต์ผง หรือ Soil Cement ที่ใช้ดินในพื้นที่ผสมกับซีเมนต์ผง และไม่ใช้เหล็กเส้นเพื่อลดต้นทุน เพื่อทดแทนฝายหินทิ้งเดิมอย่างเร่งด่วน และให้ทันกับฤดูฝนที่จะมาถึง

ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวงและภาคเอกชน ในการจัดซื้อและบริจาควัสดุสำหรับการก่อสร้าง รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่สมัครใจร่วมเป็นแรงงาน โดยใช้เวลาก่อสร้างฝายเพียง 20 วัน ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม-10 สิงหาคม 2558

ฝายชะลอน้ำประชารัฐ หรือฝายหนองแวงโมเดล จึงถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง

นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นโอกาสมหามงคลที่จะร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558

เป็นหนึ่งฝายที่เกิดจากหลายฝ่ายให้ความร่วมมือ ที่นอกเหนือจากจะได้รับประโยชน์ในการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคแล้ว ยังเป็นการเทิดพระเกียรติแด่องค์มหาราชินีไปพร้อมๆ กัน

ขุดสระน้ำ เพิ่มบ่อบาดาล ใช้พลังงานแสงแดด
บริหารจัดการเกษตรด้วย ‘ระบบน้ำหยด’

เมื่อเกิดฝายมั่นคง มีน้ำเพียงพอ โจทย์ต่อไปคือ จะวางแผนใช้น้ำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดด้วยการใช้ต้นทุนต่ำ

สมการนี้ ทาง ศบล.คส.ชป.6 ได้น้อมนำเอาแนวทาง ศาสตร์พระราชา เข้ามาใช้ โดยการวางแผนให้ขุดสระในไร่นาเกษตรกร รวมทั้งขุดบ่อบาดาลไว้เป็นแหล่งน้ำสำรอง และใช้พลังงานแสงแดดจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยพลังงานส่วนหนึ่งให้กักเก็บไว้ในแบตเตอรี่สำหรับใช้งานอื่นๆ และอีกส่วนหนึ่งใช้ปั๊มชักสำหรับสูบน้ำเก็บเข้าถัง ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยทั้งหมดนี้ใช้ระบบ “น้ำหยด”

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยให้ปั๊มชักดึงพลังงานแสงอาทิตย์จากแบตเตอรี่สูบน้ำเก็บไว้ในถังพักน้ำ เพื่อรอใช้ประโยชน์ต่อไป

โดยพืชใช้น้ำน้อยจำนวนกว่า 228 ชนิด ที่ ศบล.คส.ชป.6 กรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำใช้ชาวบ้านเพาะปลูกด้วยระบบน้ำหยด อาทิ กล้วยหอม ข้าวโพด ดาวเรือง แตงกวา ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู มะนาว องุ่น ข้าวบาเลย์ และปาล์มน้ำมัน

‘องุ่น’ 1 ในพืชใช้น้าน้อย

ภัทรพลกล่าวว่า การเพาะปลูกพืชด้วยระบบน้ำหยดเป็นการใช้น้ำในปริมาณน้อย เมื่อเทียบสัดส่วนปกติที่พืชต้องการน้ำเพียง 1,000 คิวบิก แต่การสูบน้ำมากถึงกว่า 10,000 คิวบิก ทำให้สูญเสียน้ำอย่างไร้ประโยชน์ โดยการใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรมีความอยู่ดีกินดี และแก้ปัญหาปากท้องของเกษตรกรได้

“เข้าใจว่าปัญหาปากท้องของเกษตรกรเป็นต้นเหตุของหลายๆ ปัญหาในทุกวันนี้ เช่น ความยากจน ค่าครองชีพ การทำงานต่างๆ เมื่อเรากำจัดปัญหาปากท้องได้ ก็เท่ากับกำจัดหลายๆ ปัญหาได้ ทำให้รัฐบาลบริหารประเทศง่ายขึ้น” ภัทรพลกล่าว

‘องุ่น’ 1 ในพืชใช้น้าน้อย

เมื่อเกษตรกรเลี้ยงดูตัวเองได้ มีเงินจับจ่ายใช้สอย สามารถส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ มีเงินรักษายามเจ็บไข้ จึงก่อให้เกิดความจีรังยั่งยืน

และหากมีการส่งเสริมงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 20 ปี การบำรุงรักษาง่าย และราคาถูก จะเห็นได้ชัดว่าสามารถเพิ่มพื้นที่ทำกิน เพิ่มผลผลิต และลด
ค่าใช้จ่ายลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขอเพียงมี ‘น้ำ’

ขณะที่ คำปุน ถาวงกลาง เกษตรกรหญิงแกร่งในวัย 55 ปี เล่าพร้อมรอยยิ้มว่า ตนเองเป็นหนึ่งในแรงงานอาสาสมัครสร้างฝายหนองแวง พร้อมเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งยังไม่มีฝายชะลอน้ำอย่างยั่งยืนว่า เมื่อก่อนประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่พอใช้ และไหลเพียงน้อยนิด เนื่องจากไม่มีที่กั้น แต่หลังจากฝายนี้เกิดขึ้นทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

“ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีน้ำ มีข้าว ไม่อดข้าว มีเงินใช้จ่ายจากการขายข้าว ขายพืชไร่ ขายอ้อย แถมลูกที่อยู่กรุงเทพฯก็กลับมาช่วย แค่มีน้ำก็ไม่ขาดอะไรแล้ว” คำปุนบอกเล่า

เช่นเดียวกับ ฝายบ้านเสาเล้า ที่ ต.กุดเพียขอม อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ได้ก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรและประชาชน ทั้งยังช่วยเพิ่มแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค

อย่างยั่งยืน เนื่องจากประชาชนในหมู่บ้านเสาเล้ากว่าร้อยละ 80 ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทั้งปลูกข้าวและพืชผัก แต่เป็นการทำการเกษตรแบบ “อาศัยน้ำฝน”

ภาพมุมสูงของฝายบ้านเสาเล้า จ.ขอนแก่น

อบต.กุดเพียขอมได้ทำหนังสือร้องขอความช่วยเหลือไปยัง คส.ชป.6 ให้มาสำรวจพื้นที่ภูมิประเทศและความเหมาะสม โดยดำเนินการสร้าง ฝายทดน้ำขนาดเล็ก ปิดกั้นบริเวณลำห้วยหนองเอี่ยน ซึ่งกินเวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2559 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

โดยเสียงจาก วิระ มีนา ในวัย 54 ปี ที่เป็นทั้งคุณครูและเกษตรกรชาว ต.กุดเพียขอม ผู้ใช้น้ำจากฝายบ้านเสาเล้าและร่วมโครงการปลูกพืชด้วยระบบน้ำหยด เผยว่า ที่นี่ น้ำจะแห้งก่อนปีใหม่ และถ้าหน้าแล้งปีไหนไม่มีฝน ก็ไม่มีน้ำแม้กระทั่งจะให้วัวกิน ต้องเจาะบ่อบาดาลทดแทน พอมีฝายเกิดขึ้นแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

“ด้านการเกษตรเราใช้ระบบน้ำหยดทั้งหมด พืชที่ปลูกก็เป็นพืชใช้น้ำน้อย เช่น ฝรั่ง น้อยหน่า กล้วยหอมทอง มะพร้าว

“ผมทำด้วยใจรัก ซึ่งมีอาหารกินโดยไม่ต้องซื้อ และคาดหวังว่าที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ เยาวชน และผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาในวันข้างหน้า” ครูวิระกล่าวปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม

เหล่านี้คือสิ่งยืนยันว่า “น้ำ” คือชีวิต อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image