“เลดี้ไดอาน่า” แฟชั่นนิสต้า: ผู้ปฏิวัติการแต่งกายของราชวงศ์

เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งเวลส์ ภาพจาก www.hellomagazine.com

เกือบ 20 ปีกับการจากไปอันนิรันดร์ของ “เลดี้ไดอาน่า” เจ้าหญิงแห่งเวลส์ อดีตพระชายาในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 31 สิงหาคม 2540 จากวันนั้นถึงวันนี้โลกยังไม่เคยลบลืมภาพความทรงจำอันงดงามที่มีต่อเจ้าหญิงผู้เลอโฉมซึ่งเปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์แห่งความสง่างามผู้นี้ไปได้เลย หนึ่งในภาพจำที่ชัดเจนของพระองค์ที่ยังตราตรึงโลกอยู่ถึงทุกวันนี้คือความเป็น “แฟชั่นนิสต้า” ผู้ปฏิวัติวิถีการแต่งกายของราชวงศ์ให้ทันสมัยเป็นที่น่าจับจ้องภายใต้กรอบความเหมาะสมตามกาละเทศะ

เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งเวลส์ ใน “ชุดทราโวต้า” ขณะทรงเต้นรำกับ จอห์น ทราโวต้า นักแสดงดังฮอลลีวู้ด ในงานกาล่าดินเนอร์ ทำเนียบขาวสหรํฐ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

“เจ้าหญิงไดอาน่าทรงเป็นไอค่อน เป็นผู้นำแฟชั่น เฉกเช่นเดียวกับ แจ๊กกี้ เคนเนดี้ หรือ ออเดรย์ เฮพเบิร์น สตรีผู้มีความงดงามตลอดกาล” อีเลรี ลินน์ ผู้ดูแลการจัดนิทรรศการ “ไดอาน่า: เรื่องราวแห่งแฟชั่นของพระองค์” ที่พระราชวังเคนซิงตัน ซึ่งเป็นพระตำหนักของเจ้าหญิงไดอาน่าในกรุงลอนดอนอยู่ในขณะนี้

กับจอห์น ทราโวต้า (ภาพจากวิกิพีเดีย)

“Shy Di” หรือ “สาวไดผู้ใสบริสุทธิ์” ชื่อเล่นที่เจ้าหญิงไดอาน่าถูกเรียกขาน ก่อนที่พระองค์จะทรงเสกสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในปี 2524 ขณะพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 20 พรรษาเท่านั้น เจ้าหญิงไดอาน่าทรงก้าวออกมาจากเกราะกำบังที่พระองค์ทรงเคยเก็บตัวอยู่มาสู่โลกภายนอก และตระหนักว่าการแต่งกายของพระองค์ที่เป็นที่สนใจของผู้คน กำลังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับโลกภายนอกที่ทรงพลังมากเพียงใด!!

เอเอฟพี

“โซฟี กู๊ดวิน” บรรณาธิการแฟชั่นของ “แทตเลอร์ แมกกาซีน” บอกกับนิวเยอร์กไทม์สก่อนหน้านี้ว่า “เจ้าหญิงไดอาน่าทรงเรียนรู้ที่จะทำให้เสื้อผ้าของพระองค์ทำหน้าที่สื่อสารในสิ่งที่พระองค์ทรงไม่อาจสื่อสารได้ และพระองค์ยังทรงงานกับดีไซเนอร์อย่างใกล้ชิด เช่น แคเธอรีน วอล์กเกอร์ ในการสื่อถึงบุคลิกเฉพาะตัวของพระองค์ออกมาผ่านชุดเสื้อผ้าเหล่านั้น”

Advertisement
เอเอฟพี

การแต่งกายเป็นศิลปะที่เจ้าหญิงไดอาน่าทรงดูแลด้วยพระองค์เองอย่างพิถีพิถันด้วยชุดที่เหมาะสมและเหมาะแก่กาละเทศะ พระองค์จะทรงเลือกสวมชุดสีโทนสว่าง หากพระองค์เสด็จปฏิบัติภารกิจในการเยี่ยมเยียนสถานดูแลผู้ป่วย เนื่องจากสีโทนสว่างจะให้ถึงความรู้สึกอบอุ่นและเข้าถึงพระองค์ได้อย่างง่ายๆ สำหรับผู้ที่พบเห็น

เอเอฟพี

ขณะการเสด็จเยือนต่างประเทศ เจ้าหญิงไดอาน่าจะทรงเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นสีธงชาติของประเทศที่พระองค์จะเสด็จเยือน เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร เช่นการเสด็จเยือนญี่ปุ่นในปี 2529 เจ้าหญิงไดอาน่าทรงสวมชุดฉลองพระองค์สีขาวลายจุดแดง

“พระองค์ทรงเลือกที่จะไม่สวมฉลองพระหัตถ์(ถุงมือ) เพราะพระองค์ทรงต้องการที่จะสัมผัสประชาชนที่พระองค์ได้พบปะจริงๆ” ลินน์กล่าว

Advertisement
เอเอฟพี

หลายภาพที่ปรากฏสู่สาธารณะขณะเจ้าหญิงไดอาน่าทรงใช้พระหัตถ์จับมือผู้ป่วยโรคเอดส์อย่างไม่ถือพระองค์ในปี 2530 ได้ทลายกำแพงความเชื่อในแง่ลบที่มีต่อโรคเอดส์ ที่ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงซึ่งผู้คนหวาดกลัวกันมากในห้วงเวลานั้นไปสิ้น โดยเฉพาะความกลัวอย่างผิดๆว่าโรคนี้จะติดต่อกันจากการสัมผัสเนื้อตัว

เอเอฟพี

เจ้าหญิงไดอาน่า ทรงเป็นผู้หญิงที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดในบรรดาผู้หญิงวัยเดียวกันในยุคนั้น พระองค์ทรงตระหนักถึงระเบียบการแต่งกายตามราชประเพณีปฏิบัติของราชวงศ์เป็นอย่างดี ทว่าขณะเดียวกันพระองค์ก็ไม่หวั่นที่จะมีการจับแต่งพลิกแพลงนอกกรอบไปบ้าง การทรงเลือกสวมชุดทรงบอลกาวน์สีดำใส่ในงานทั่วไปของเจ้าหญิงไดอานา เป็นการแหวกธรรมเนียมของราชวงศ์ที่หญิงราชนิกูลจะสวมใส่สีดำเฉพาะช่วงเวลาการไว้ทุกข์เท่านั้น เสื้อผ้าที่เป็นยูนิเซ็กเช่น ชุดทักซิโด้ ผูกหูกระต่ายเท่ห์ๆ เป็นหนึ่งในชุดที่เจ้าหญิงไดอาน่าทรงเลือกสวมใส่ ที่ลินน์บอกว่า “นั่นเป็นลุคห้าวๆ และดูสนุกเลยทีเดียว ที่คุณไม่จำเป็นต้องคาดหวังจากเจ้าหญิง พระองค์ยังทรงเป็นราชนิกูลหญิงพระองค์แรกในราชวงศ์ที่ทรงสวมกางเกงขายาวเสด็จออกงานตอนค่ำ”

เอเอฟพี

ชุดฉลองพระองค์ราตรียาวกำมะหยี่สีมิดไนท์บลู ของ”วิกเตอร์ อีเดลสไตน์” ดีไซเนอร์ดัง ซึ่งเจ้าหญิงไดอาน่าทรงสวมใส่ในระหว่างเสด็จร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบขาวสหรัฐในปี 2528 เป็นหนึ่งในชุดที่สร้างความฮือฮา ผู้คนโจษจันมากที่สุดชุดหนึ่งของเจ้าหญิงไดอาน่า ชุดนี้ยังถูกเรียกขานว่า “ชุดทราโวต้า” เนื่องจากเจ้าหญิงไดอาน่าที่ทรงสวมชุดนี้ ทรงได้เต้นรำกับ “จอห์น ทราโวต้า” นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง ในเพลงฮิต “You Sould Be Dancing” จากภาพยนตร์เรื่อง “Saturday Night Fever” ที่ทราโวต้าแสดงนำ ก่อนที่ชุดฉลองพระองค์นี้จะถูกนำไปประมูลในปี 2556 มีราคาสูงถึง 318,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10.81 ล้านบาท

หลังการหย่าร้างของเจ้าหญิงไดอาน่า กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ในปี 2539 เจ้าหญิงไดอาน่าทรงพลิกโฉมการแต่งตัวใหม่ของพระองค์ในทันที จากเดิมที่นิยมใช้เสื้อผ้าของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ พระองค์หันมาใช้แบรนด์ห้องเสื้อหรูระดับโลกอย่าง ดิออร์, ลาครัวซ์ และ ชาแนล

WireImage

“หลายปีที่ผ่านมา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ครอบงำวงการแฟชั่นโลกและเป็นผู้นำแถวหน้าของมนต์เสน่ห์แห่งความทันสมัยอย่างที่เรารู้กัน ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง” ซาร่าห์ มาวเออร์ จากเดลีเมล กล่าวถึงความเป็นแฟชั่นนิสต้าตัวจริงของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่ผู้หญิงจำนวนมากนำเอาไปเป็นแบบอย่างในการแต่งตัว

และจนถึงวันนี้ “สไตล์” ของเลดี้ไดอาน่า ยังคงเป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานบนแคตวอล์กของเหล่าดีไซเนอร์ในวงการแฟชั่นต่อไป

เจ้าหญิงไดอาน่า กับสองพระโอรส เจ้าชายวิลเลียม(ขวาสุด) และ เจ้าชายแฮร์รี ขณะเสด็จออกงานในกรุงลอนดอน ในปี 2538 (เอเอฟพี)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image