กรมศิลป์โชว์หลักฐานองค์พระปรางค์วัดอรุณสีขาว ปัดตอบวัดทำพระเครื่องจากเศษเซรามิก

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หลังจากการบูรณะ ว่าทำให้มีสีขาวโพลน และมีลวดลายกระเบื้องที่เปลี่ยนแปลงไป ว่า กรมศิลปากรยินดีน้อมรับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์ และถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมในฐานะที่พระปรางค์ วัดอรุณฯ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าที่สำคัญยิ่งและเป็นสมบัติร่วมของเราชาวไทยทุกคน พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นโบราณสถานเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์และปัจจุบันพระปรางค์เปรียบเสมือนมหาธาตุของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นานาชาติรับรู้ถึงความสง่างาม ฉะนั้นถือว่าเป็นโบราณสถานที่มีชีวิต มิใช่ซากโบราณสถานในแบบอยุธยา สุโขทัย หรือซากโบราณสถานอื่น ๆ โดยเรามีภาพถ่ายที่ชี้ให้เห็น ว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2409 และรัชกาลที่ 5 ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า องค์พระปรางค์เป็นสีขาวโพลน มาถึงสภาพปัจจุบัน เกิดแผ่นดินทรุดตัวบริเวณด้านหน้าพระปรางค์องค์ประธาน เมื่อปี 2554 กรมศิลปากรจึงเข้าไปตรวจสอบเรื่องความมั่นคงทางด้านโครงสร้าง ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบสภาพองค์พระปรางค์ในด้านอื่น ๆ ซึ่งพบว่า ชิ้นส่วนปูนปั้นเทวดาทรงม้าในคูหาของพระปรางค์ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ พระศอหักลงมา จึงได้เริ่มเข้าไปตรวจสอบสภาพพระปรางค์ทั้งองค์ ก็เห็นได้ชัดว่า มีสภาพเสื่อมโทรม มีตะไคร่น้ำ เชื้อราเกาะจนเป็นสีดำ รวมถึงลวดลายด้านหน้าพระปรางค์ที่ใช้เซรามิกดินเผามาประดับลวดลาย และใช้ตัดขอบเป็นรูปทรงต่าง ๆ ชำรุดแตกร้าว

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า กรมศิลปากรจึงเริ่มดำเนินการบูรณะพระปรางค์ วัดอรุณฯ โดยวางกรอบแนวคิดว่า เป็นการบูรณะเพื่ออนุรักษ์ศิลปกรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แม้ว่า หลายยุคหลายคราวมีการบูรณะเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ความเป็นพระปรางค์จำเป็นต้องบูรณะในเชิงศิลปกรรมให้คงเดิมเอาไว้ ไม่ใช่เป็นการบูรณะแบบความคลั่งถึงสิ่งเก่าๆ ซึ่งกรอบแนวคิดนี้จะต่างกับการบูรณะโบราณสถานที่อยุธยาหรือสุโขทัย ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญของการทำงาน เพราะเราต้องคงความเป็นวัดที่มีชีวิต วัดที่คนยังไปกราบไหว้ และทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือเป็นโบราณสถานที่มีชีวิต โดยเลียนแบบของเดิม สิ่งที่ชำรุดก็ทำขึ้นใหม่ พร้อมกับมีการบันทึกหลักฐานของงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไว้ทั้งก่อนดำเนินการและระหว่างกำเนินการ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างละเอียด ใช้งบประมาณ ระยะเวลาและบุคลากร ค่อนข้างมาก โดยได้นำเครื่องสแกน 3 มิติ สำรวจทุกมุมทุกด้าน โดยเฉพาะปรางค์ประธาน ปรางค์ประจำมุม และบุษบกประจำทิศ ซึ่งรวบรวมลวดลายเซรามิกทั้งหมดมีจำนวน 120 ลาย ขณะเดียวกันมีการคัดลอกลายไว้เป็นหลักฐานก่อนที่จะมีการบูรณะ สำหรับการดำเนินการอนุรักษ์ ในส่วนพื้นผิวปูนฉาบและกระเบื้องประดับพระปรางค์ ดังนี้ ทำความสะอาดพื้นผิวตะไคร่ที่ก่อให้เกิดคราบดำแก่องค์พระปรางค์ กะเทาะปูนบริเวณที่ผุเปื่อยหรือเสื่อมสภาพออก ทำความสะอาด แล้วฉาบปูนใหม่เสริมความมั่นคง โดยใช้ปูนหมักตามกรรมวิธีโบราณ ซึ่งสีของเนื้อปูนดังกล่าวเป็นสีขาวโดยธรรมชาติ เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว ภาพรวมขององค์พระปรางค์จึงเป็นสีขาว ทั้งนี้การทำความสะอาดคราบดำจากตะไคร่น้ำนั้น ทำให้เส้นรอบนอกของลวดลายกระเบื้องที่ดูชัดเจนจากคราบดำเหล่านั้นลดลง

“การบูรณะของกรมศิลป์ในครั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเก็บข้อมูลสภาพก่อนดำเนินการ ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราใช้เวลา งบประมาณ และบุคลากรในการดำเนินการค่อนข้างมาก เพราะวัดอรุณถือเป็นสัญลักษณ์ ความงามของกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผลจากการเก็บข้อมูลนำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อบูรณะในส่วนที่เสียหาย อะไรที่แตกร้าวก็จำเป็นต้องมีการกะเทาะออกแล้วฉาบเข้าไปใหม่ ในทำนองเดียวกัน ปูนและพื้นผิวที่หลุดร่อนเสื่อมสภาพก็ต้องมีการทำความสะอาดและฉาบเข้าไปใหม่ พวกแตกลายงา โป่งพอง ก็ต้องกะเทาะและฉาบปูนใหม่ รวมถึงมีการจัดทำเซรามิกที่ชำรุด สิ่งที่เผาใหม่ เพื่อนำมาเสริมลายเซรามิกที่ชำรุดผุกร่อน ยืนยันว่านอกจากคัดลอกจากรูปแบบ ให้คงเดิมแล้ว สีก็จำเป็นต้องมีความใกล้เคียงสีเดิมมากที่สุด ในการบูรณะครั้งนี้ ตัวลายเซรามิกที่เสื่อมสภาพจำเป็นต้องเซาะออก และทำใหม่ ประมาณ 40% คิดเป็นเซรามิกมากกว่า 120,000 ชิ้น จากทั้งลวดลายทั้งหมด กว่า 300,000 ชิ้น เพราะฉะนั้นลายเดิมอีก 60% ก็ยังคงอยู่ ส่วนลายใหม่ 40% เป็นผลจากการวิเคราะห์และจัดทำลายขึ้นใหม่อย่างละเอียด ”นายอนันต์กล่าวและว่าทั้งนี้ การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ดำเนินการมา 5 ปีและจะส่งมอบงานในเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งคิดว่าจะยังส่งมอบงานตามกำหนดเดิม

ผู้สื่อข่าวถามว่า เศษเซรามิก และกระเบื้องที่กะเทาะออก กรมศิลป์นำไปไว้ที่ใด นายอนันต์กล่าวว่า มอบให้ทางวัดอรุณฯไปทั้งหมด ส่วนกรณีที่มีกระข่าวว่าทางวัดนำไปทำวัตถุมงคลเพื่อให้เช่าบูชานั้น ตรงนี้ตนคงตอบอะไรไม่ได้ บอกได้แต่เพียงว่ากรมศิลปากรไม่ได้ทำ และไม่เคยทำด้วย อีกทั้งไม่แน่ใจว่าทางวัดทำหรือไม่ ส่วนที่ถามว่าหากทางวัดทำ ถือว่าผิดหรือไม่นั้น ตนคงไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะไม่แน่ใจว่าทางวัดทำจริงหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image