นครพนมประกาศภัยพิบัติ11อำเภอ ชาวบ้านโอด นาข้าวเสียหายร่วม 2 แสนไร่

DCIM100MEDIADJI_0040.JPG

ประกาศเพิ่มอีก 1 พื้นที่น้ำท่วม รวม 11 อำเภอ ชาวบ้านโอดนาข้าวเสียหายร่วม 2 แสนไร่ ลำน้ำก่ำ พ้นวิกฤต เร่งรายบายน้ำขังลงน้ำโขง ส่วนน้ำอูน น้ำสงคราม ยังเร่งระบายลงโขง

นครพนม ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม เกือบทั้งจังหวัด เพิ่มอีก 1 อำเภอ รวม 11 อำเภอ นาข้าวเสียหายหนักเกือบ 2 แสนไร่ อำเภอนาแกหนักสุด เกือบ 50,000 ไร่ หนักสุดรอบ 50 ปี ชาวบ้านตำบลพิมาน อ.นาแก โอด น้ำท่วมขังเกือบเดือน นาข้าวเสียหายหมด วอนรัฐบาลหาทางแก้ไขถาวร ท่วมทุกปี

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ หลังลำน้ำก่ำ ที่รับน้ำจากหนองหาร มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะปกติ หลังมวลน้ำ ที่เกินความจุ ของหนองหาร จ.สกลนคร ไหลลงสู่น้ำโขงจนพื้นวิกฤติ ทำให้ระดับน้ำอยู่ในความจุระดับที่ปกติ แต่ยังคงต้องระบายน้ำ บริเวณประตูชลประทานน้ำก่ำตอนล่าง อ.ธาตุพนม ที่ลงสู่แม่น้ำโขงต่อเนื่อง เพราะยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มแถบลุ่มน้ำก่ำที่จะไหลระบายลงมาเพิ่ม อีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นการเตรียมพร้อมรับน้ำหากฝนตกต่อเนื่อง แต่ระดับน้ำโขงเริ่มลดลงอยู่ที่ ระดับประมาณ 9 เมตร ยังสามารถรับน้ำได้อีกจำนวนมาก

ล่าสุดทางจังหวัดนครพนม ได้มีการสำรวจผลกระทบ ความเสียหาย จากภาพรวมทั้งจังหวัด 12 อำเภอ และมีการประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่ม อำเภอเมือง อีก 1 อำเภอ จากเดิม 10 อำเภอ รวม เป็น 11 อำเภอ มี 1. อ.นาแก 2. อ.วังยาง 3. อ.นาหว้า 4. อ.ศรีสงคราม 5. อ.เรณูนคร 6. อ.โพนสวรรค์ 7. อ.ท่าอุเทน 8. อ.ธาตุพนม 9. อ.นาทม 10. อ.ปลาปาก และ 11. อ.เมืองนครพนม เหลือเพียง 1 อำเภอ ที่ยังไม่มีการประกาศคือ อ.บ้านแพง เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ตามระเบียบของทางราชการ รวมมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 82 ตำบล 677 หมู่บ้าน 22,555 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรนาข้าวได้รับความเสียหายเกือบ 2 แสนไร่ ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ พื้นที่ อ.นาแก มีพื้นที่นาข้าวเสียหายกว่า 75,000 ไร่ รองลงมาคือ อ.ศรีสงคราม นาข้าวได้รับความเสียหาย กว่า 25,000 ไร่
โดยปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าได้รับผลกระทบหนักสุดในรอบ 50 ปี และมีน้ำท่วมขังนานเกือบ 1 เดือน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เกษตรกร เป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่พื้นที่ปลูกข้าวนาปี พึ่งเริ่มปักดำได้ประมาณ 2 เดือน ทำให้ต้นข้าวเนาเสียหายเร็ว เช่นเดียวกับชาวบ้าน ในพื้นที่ บ้านพิมานท่า และบ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เกือบ 300 ครัวเรือน ถือเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากหมู่บ้าน อยู่ในจุดบรรจบของลำน้ำบัง กับลำน้ำก่ำ ลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง ที่ไหลมารวมกันก่อนไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้น้ำท่วมขังหลายวัน เกือบ 1 เดือน ล่าสุดระดับน้ำแห้ง เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ที่กระทบหนักคือ พื้นที่นาข้าว ที่พึ่งปักดำ เกือบ 5,000 ไร่ เสียหายทั้งหมด เป็นปัญหาหนักกับชาวบ้าน เพราะจะไม่มีผลผลิตข้าว ออกขาย และใช้บริโภคในครัวเรือน บางรายลงทุนสูง ปัญหาตามมาคือภาระหนี้ สิน รวมถึงต้องซื้อข้าวกินตลอดปี เพราะไม่สามารถที่จะทำนารอบสองได้

Advertisement

ด้าน นายหัน วงศ์อุคะ อายุ 69 ปี ชาวบ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร เป็นปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาทุกปี ตั้งแต่หมู่บ้านก่อตั้งมา กว่า 120 ปี เพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม บางปีไม่กระทบหนัก แต่บางปีหนักพอสมควร แต่ต้องต่อสู้อดทนตามสภาพ เดือดร้อนมากจนชิน เกิดมาเจอกับน้ำท่วมเลย แต่ปีนี้หนัก มากกว่าทุกปี น้ำท่วมสูง กว่า 1 เมตร เดือดร้อนที่สุดคือถนนหนทางสัญจร นาข้าวเสียหายหมด ปีนี้ไม่มีผลผลิตข้าวไว้กินแน่นอน ต้องซื้อข้าวกิน หากจะทำนารอบ 2 คงยาก เพราะไม่มีต้นทุนแล้ว รู้สึกเครียดบางทีคิดมาก อยากย้ายหมู่บ้าน บางทีแทบอยากผูกคอตาย เพราะท่วมทุกปี รายได้ไม่มีอายุมากแล้ว อยากให้รัฐบาลหาทางแก้ไขช่วยเหลือด้วย แบบถาวรด้วย

DCIM100MEDIADJI_0036.JPG
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image