คอลัมน์ โลกสองวัย : เริ่มต้นที่ MMP จุฬาฯ

หลักสูตรเสริมสร้างผู้จัดการยุคใหม่ MMP.-Modern Manager Program-เป็นโครงการในลักษณะ mini MBA. หรือหลักสูตรการบริหารธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งนิยมไปเรียนกันในสหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จปริญญาตรีในประเทศไทยหรือต่างประเทศแล้ว ส่วนใหญ่มักไปเรียนต่อหลักสูตร MBA

ก่อนหน้านั้น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดโครงการหรือหลักสูตรมินิเอ็มบีเอขึ้น รับสมัครผู้บริหาร ผู้จัดการ ระดับสูงของบริษัทและกิจการใหญ่รวมถึงบรรดาข้าราชการระดับสูงเข้าเรียน เป็นหลักสูตรระยะสั้น 4 เดือน มีผู้นิยมเรียนจำนวนมาก

เมื่อมีผู้ต้องการเรียนจำนวนเพิ่มมากขึ้น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มจัดโครงการเสริมสร้างผู้จัดการยุคใหม่ รุ่นแรกขึ้นเมื่อ พ.ศ.2527 มีผู้เข้าเรียนในรุ่นนี้กว่า 30 คน กำหนดเวลาเรียนทุกเย็น และวันเสาร์อีกครึ่งวัน มีอาหารเย็น ทำให้ผู้เรียนมีความสนิทสนมมาจนถึงทุกวันนี้

โครงการนี้มี รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี เอกะหิตานนท์ เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานโครงการ มีวัตถุประสงค์

Advertisement

1.เพื่อเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการวินิจฉัยและตัดสินใจการบริหารภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

2.เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ เสริมทักษะและความชำนาญในการใช้เหตุผล และการวิเคระห์ปัญหาของธุรกิจเชิงลึก

3.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านบริหาร โดยเน้นการนำหลักทฤษฎีมาประยุกต์กับประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะด้านเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำระดับสูง

Advertisement

4.เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการอบรมพัฒนาตนเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของธุรกิจ และความสามารถในการพัฒนาผู้อื่นที่อยู่ในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ

5.เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมและวิทยากรได้แลกเปลี่ยนทัศนคติ และแนวความคิดซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกัน แนวความคิดของความต้องการความรู้พื้นฐานและกรอบแนวคิดด้านธุรกิจที่จำเป็นในการทำงาน ผู้ประกอบการและผู้บริหารยุคใหม่กลับไม่มีเวลาศึกษาทฤษฎีและกรอบแนวคิดใหม่ๆ ผู้บริหารเหล่านั้นล้วนต้องการความรู้ที่ได้ไปใช้แก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ หรือเพื่อเสาะหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาด

ผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นแรกส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ เป็นประธาน เป็นผู้จัดการ และเป็นผู้บริหารที่ส่งตัวเองมาเรียน หรือบริษัทส่งเข้ารับการออบรม มีคุณหญิงวรรณี วิริยะสิรินันทน์ เจ้าของโทรทัศน์และวิทยุธานินทร์ อันมีชื่อเสียงขณะนั้น มีนายแพทย์วิชาญ พิทักษ์สิทธิ์ แห่งกิจการน้ำตาล และโรงพยาบาลมเหสักข์ และใครต่อใครอีกหลายคน รวมทั้ง เอนก จงเสถียร

เมื่อจบการอบรมยังพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำ มีความคิดเกิดขึ้นมาว่า การเข้ารับอบรมในโครงการนี้น่าจะร่วมทุนกันดำเนินกิจการทางธุรกิจที่ตรงไปตรงมา ทำบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมาย และดำเนินการทุกอย่างให้โปร่งใส ขณะที่เพื่อประโยชน์ของสังคม

ที่สุดจึงเกิดกิจการฟิล์มถนอมอาหารด้วยการร่วมทุนของผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นเดียวกันและรุ่นต่อมาอีกบางคน กับบริษัทที่ทำกิจการฟิล์มถนอมอาหารในญี่ปุ่น

บริษัท เอ็มเอ็มพี เจ้าของ M Lap ฟิล์มถนอมอาหารเป็นชื่อแรก และผลิตภัณฑ์ที่มีออกมาอีกหลายประเภท ที่สุดวันนี้ เอ็มเอ็มพีผลิตถ้วยใส่กาแฟร้อนที่ไม่ร้อน คือกาแฟยังร้อน แต่ถ้วยเพียงอุ่นๆ ถือดื่มได้โดยไม่ต้องมีกระดาษหรือวัสดุอื่นใดรองอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อบริษัทเอ็มเอ็มพีเติบโตมียอดขายขยายกิจการออกไป เอนกจึงกลับมาที่ความคิด คืนกำไรสู่สังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image