‘อเลซี’ ไพรเมท 13 ล้านปี ไขปมวิวัฒนาการมนุษย์

ภาพ-Isaiah Nengo, ถ่ายโดย Christopher Kiarie

ทีมนักขุดค้นเพื่อการวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา นำโดย อิสเซอาห์ เนนโก นักวิชาการจาก สถาบันเตอร์กานา เบซิน ของ มหาวิทยาลัยสโตนี บรูก ในเมืองสโตนี บรูก รัฐนิวยอร์ก และ เดอ อันซา คอลเลจ ในเมืองคัพเพอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งลงพื้นที่ทำงานภาคสนามในบริเวณเนพูเดท ทางด้านตะวันตกของ ทะเลสาบเตอร์กานา ซึ่งตั้งอยู่ตอนเหนือของ ประเทศเคนยา ค้นพบกะโหลกของ “ไพรเมท” อายุ 13 ล้านปี โดยบังเอิญ ขณะกำลังจะเดินทางกลับเพราะผิดหวังจากการขุดค้นทั้งวันที่ไม่ส่งผลใดๆ เลย

จอห์น เอกูซี หนึ่งในทีมขุดค้นซึ่งแยกตัวออกไปสูบบุหรี่ บังเอิญพบซากฟอสซิลน่าสงสัยอยู่ใกล้กับจุดจอดรถของคณะ เมื่อเนนโกเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าทีมขุดค้นของตนได้ค้นพบซากฟอสซิลล้ำค่าเข้าแล้ว

สิ่งที่ทีมวิจัยของเนนโกค้นพบโดยบังเอิญคือกะโหลกศีรษะขนาดเล็ก ประมาณเท่ากับลูกเลมอนเขื่องๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกะโหลกของสิ่งมีชีวิตในตระกูลไพรเมท เมื่อตรวจสอบอายุพบว่ากะโหลกดังกล่าวซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก มีอายุย้อนหลังกลับไปถึง 13 ล้านปี ทำให้น่าเชื่อว่านี่คือกะโหลกของไพรเมท ซึ่งอาจเป็นบรรพบุรุษร่วมของมนุษย์และเอพส์ หรือลิงใหญ่ ที่มีวิวัฒนาการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เอพส์หรือลิงใหญ่ที่เดิน 2 ขานั้น รวมถึงชิมแปนซี, กอริลลา, อุรังอุตัง และชะนี หลักฐานทางโบราณคดีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชิมแปนซีมากที่สุดนั้น ใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกาเมื่อ 6-7 ล้านปีก่อน

Advertisement

เนนโกกล่าวว่า ในช่วงหลายปีมานี้มีการค้นพบฟอสซิล 2-3 ชิ้น ที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงวิวัฒนาการในขั้นตอนของมนุษย์ ตั้งแต่ 6-7 ล้านปีก่อนที่ผ่านมามากขึ้น อาทิ ฟอสซิลที่ถูกเรียกว่า “เดอะ เบบี้” ในเอธิโอเปีย, ฟอสซิลของลูซี, ฟอสซิลที่เรียกว่าเตอร์กานา บอย แต่ในเวลาเดียวกัน ซากฟอสซิลในขั้นตอนที่ย้อนหลังไปมากกว่านั้นกลับค้นพบกันน้อยมาก ที่พบส่วนใหญ่เป็นเพียงกระดูกชิ้นเล็กๆ หรือไม่ก็เศษฟัน

การค้นพบกะโหลกของไพรเมท ซึ่งทีมขุดค้นตั้งชื่อให้ว่า “อเลซี” ครั้งนี้ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของกะโหลกชะนี จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการทำความเข้าใจกับวิวัฒนาการในช่วงก่อนการเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น

ทีมวิจัยนำกะโหลกที่พบมาสแกนด้วยเครื่องซีทีสแกน แบบเดียวกับที่ใช้ทางการแพทย์ และพบว่าฟันของ อเลซี ไม่ได้เป็นแบบเดียวกับฟันของลิงทั่วไป แต่เป็นแบบเดียวกับฟันของลิงใหญ่ พอล ทัฟโฟรัว หนึ่งในทีมของเนนโก ระบุว่า แนวการเติบโตของฟันที่กำลังจะกลายเป็นฟันเต็มวัยเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่อเลซีมีอายุราว 1 ปี กับอีก 4 เดือนเท่านั้น การสแกนดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงโพรงสมองซึ่งสะท้อนถึงขนาดสมองและลักษณะของหูชั้นใน

ลักษณะของกะโหลกมีการพัฒนาเป็นช่องหูเต็มที่แล้ว ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงอเลซีกับสัตว์จำพวกลิงใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้

จอห์น ฟลีเกิล ทีมงานของมหาวิทยาลัยสโตนี บรูก ระบุว่า ลักษณะฟันของอเลซีทำให้สามารถจำแนกออกได้เป็นสปีชีส์ใหม่ต่างหาก คือ สปีชีส์ “ไนยันซาฟิเธคัส อเลซี” (Nyanzapithecus alesi) จัดอยู่ในวงศ์ไนยันซาฟิเธคัส ซึ่งมีที่รู้จักกันน้อยมากเพียงจากกระดูกฟันไม่กี่ชิ้น

เนนโกเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษรวม 16 คน เข้าร่วมในการตรวจสอบและวิเคราะห์อเลซี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น

และเตรียมลงพื้นที่ขุดค้นในจุดเดิมอีกครั้ง ในราวต้นปี 2018 นี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image