เครือข่ายผู้ป่วยเปิดสถานการณ์วิกฤตยาต้านไวรัสเอชไอวีเริ่มขาด รพ.สั่งยาไม่ได้ยา

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ยาต้านไวรัสเอชไอวีช่วงรอยต่อปีงบประมาณ 2560-2561 เริ่มวิกฤติแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีการขาดยาอย่างแน่นอน จากที่เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับสมาชิกกลุ่มผู้ติดเชื้อ รวมถึงพยาบาลและเภสัชกรของ รพ.ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบสถานการณ์ อาทิเช่น ยาต้านไวรัส Teevir ขาด รพ.ต้องจ่ายเป็น Teno-m+EFV ให้, เภสัชกรสั่งยา LPV/r โดยคีย์ข้อมูลสั่งไปในระบบ แต่ยังไม่ได้รับ, ยา Teevir ขาด หมอนัด 3 เดือนให้ยามา 1 ขวด ค้างไว้ 2 ขวด โดยบอกว่าถ้ายามาจะตามให้มารับส่วนที่เหลือ รวมถึง รพ.อีกแห่งพบปัญหายา TDF ขาด รพ.ต้องนัดให้ผู้ป่วยมารับยาทีละอาทิตย์ ยังทราบว่า รพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี และ รพ.ชลบุรี ก็มีปัญหายาต้านไวรัสเอชไอวีขาดเช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีปัญหา รพ.สั่งยาแล้วไม่ได้ยา เช่น ยา Teevir, ยา Rilpivirine, ยา Abacavir ซึ่งเป็นยาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตไม่ได้ ตรงนี้ไม่แน่ใจติดปัญหาในจุดใด อาจจะเป็นปัญหาที่ อภ.สั่งยาไม่ได้ หรือบริษัทส่งยาไม่ทัน หรือ สปสช.ติดปัญหาไม่สามารถซื้อได้แม้ ครม.จะมีมติอนุมติให้ดำเนินการได้ในปี 2560 แต่ สตง.ยังทักท้วงจนทำให้ไม่สามารถซื้อยาได้ในขณะนี้

“ขณะนี้ทาง รพ.กังวลว่า หากยาในสต๊อกหมดลง และยาใหม่เข้ามาในระบบไม่ทันจะทำอย่างไร เริ่มมีการแนะนำให้ผู้ติดเชื้อเตรียมรับกับสถานการณ์ยาขาด ซึ่งตอนนี้ผู้ติดเชื้อกังวลมาก เพราะยาต้านไวรัสต้องกินต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเชื้อดื้อยา” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าว

Advertisement

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ข้อสรุปที่ได้จากการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่าน่าจะมีปัญหาในเชิงกฎหมายและระเบียบ และในทางปฏิบัติจะไม่สามารถทำได้จริง จะส่งผลให้ผู้ป่วยต้องขาดยาแน่นอน เนื่องจากเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สปสช.จะต้องโอนให้ รพ.ราชวิถีทำหน้าที่ซื้อยานั้น ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เงินกองทุนฯ ต้องใช้ตามจำนวนประชากรและงานของ รพ.นั้นๆ เป็นหลัก และเป็นเงินที่เข้าตามระเบียบเงินบำรุง ซึ่งเงินบำรุงของ รพ.ใด ก็ต้องใช้เพื่อกิจการของ รพ.นั้นๆ

“สุดท้ายข้อเสนอนี้ก็จะติดขัดระเบียบมากมายที่มีอยู่ จนไม่สามารถทำได้ และทำให้เกิดความเสียหายกับ รพ.ที่ไม่มียาให้ผู้ป่วย กรรมก็ตกอยู่ที่ผู้ป่วยต้อเสี่ยงกับชีวิต เสี่ยงต้องเผชิญกับปัญหาเชื้อดื้อยา ด้วยข้อระเบียบไม่จำเป็นของภาครัฐที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ หากมีปัญหายาขาด รพ.ราชวิถีจะต้องรับไปเต็มๆ แล้วจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ที่สุดจะกลายเป็นว่าติดขัดระเบียบโน่นนี่นั่น และผลกระทบตกอยู่กับผู้ป่วยเหมือนเคย” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ขอแจ้งเตือนผู้ติดเชื้อกว่า 3 แสนคนทั่วประเทศ ขอให้ใจเย็นก่อน อย่าเพิ่งมาพบนายกรัฐมนตรี แต่อาจต้องไปนอนรอรับยาที่ รพ.พร้อมๆ กัน กับผู้ป่วยไตวาย รพ.เตรียมตัวรับผู้ป่วยด้วย

ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ รมว.สาธารณสุขจะประชุมบอร์ด สปสช.นัดพิเศษวันที่ 18 สิงหาคมนี้เพื่อหาข้อสรุปการจัดซื้อยาปี 2561 ว่า กรรมการหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนจะเสนอให้ สปสช.ซื้อยาต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการขาดยาของผู้ป่วย เพราะนี่เป็นวิธีการเดียวที่จะทำได้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยขาดยา ก่อนหน้านี้ สปสช.ก็ทำหน้าที่นี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2553 เหตุใด สตง.จึงไม่ทักท้วง เพิ่งมาทักท้วงในปี 2559 หลังจากปล่อยให้ทำมา 6 ปี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image