บอร์ดสปสช.เห็นชอบ รพ.ราชวิถี จัดซื้อยากลุ่มพิเศษปี 61 แทนสปสช. เสียงต่างหวั่นมีปัญหา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม  ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นพ.ปิยะสกลสกล สัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) นัดพิเศษวาระ “ข้อสรุปการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2561” โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการจัดซื้อยากลุ่มพิเศษ(ยาจ.2 ยาต้านพิษ วัคซีนฯลฯ) ประจำปี 2561 ให้ดำเนินการถูกต้องตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ท้วงติงโดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โอนเงินให้รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็นตัวแทนหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดซื้อยากับทางองค์การเภสัชกรรม(อภ.) โดยมีมติเห็นชอบ 11 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน และงดออกเสียง 1 คน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การที่ สตง.ทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจในการสั่งซื้อยาเพราะขัดต่อข้อกฏหมายนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดซื้อยาให้ผู้ป่วย จึงให้การดำเนินการในปี 2560 สปสช.ยังคงจัดซื้อยากลุ่มโครงการพิเศษ คือ ยาจ.2 ยาต้านพิษ วัคซีน ฯลฯ    แต่ในปีงบประมาณ 2561  ต้องทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหาทางออกให้เกิดผลดีต่อประชาชนและสามารถยืนยันกับประชาชนว่าจะไม่เกิดผลกระทบอะไรแน่นอน

“สตง.ย้ำว่าไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบเดิมได้ หากยืนยันจะทำเช่นเดิมกรรมการชุดนี้อยู่ไม่ได้แน่นอน ทั้งนี้หากคณะกรรมการไม่เห็นด้วยและยืนยันจะให้ทำแบบเดิมสามารถลงมติได้ ทุกคนมีสิทธิ แต่ผมมีทางออกที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบให้รพ.ราชวิถีจัดซื้อยาแทน แต่รูปแบบการทำงานก็ยังทำงานร่วมกัน คือ สธ. สปสช. และองค์การเภสัชกรรม(อภ.)   ซึ่งจากการหารือทุกส่วนเห็นพ้องกันว่าวิธีนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และยืนยันว่าจะไม่มีการออก ม.44 ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้อีกแน่นอน”รัฐมนตรีฯ กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. หนึ่งในกรรมการบอร์ดสปสช. กล่าวว่า  บอร์ดฯมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ประกอบด้วย กรรมการจากหน่วยบริการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน/สังกัด เพื่อเสนอประธานกรรมการหลักฯลงนาม และเสนอต่อครม. พิจารณา โดยมี รพ.ราชวิถี  เป็นหน่วยบริการตามกฎหมายที่สตง.เสนอให้เป็นผู้จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษสำหรับปีงบประมาณ 2561 จากองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามกฎหมายทั้งสิ้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าภาคประชาชนบางส่วนมองว่ารพ.ราชวิถีไม่พร้อมดำเนินการ และขณะนี้ยังมีปัญหาขาดยาต้านไวรัสเอชไอวี นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องยาต้านไวรัสเอชไอวีนั้น  ต้องถามว่าการจัดซื้อยาที่ผ่านมาใครรับผิดชอบ จะนำมาโยงกรณีการมอบให้รพ.ราชวิถี จัดซื้อยาในครั้งนี้คงไม่ใช่ ทางที่ดีนับจากนี้มาหาทางออกร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้ถูกต้องถูกกฎหมายดีกว่า เพราะสุดท้ายก็ทำงานร่วมกันทั้งสธ. สปสช. อภ.อยู่ดี ส่วนปัญหายาต้านไวรัสเอชไอวีที่บอกว่าขาดแคลนนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยไม่ได้รับยาเลย แต่เป็นในเรื่องจากเคยรับยา 3 เดือน เหลือ 1 เดือน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปตรวจสอบว่าเป็นเพราะอะไร และหาทางแก้ไขร่วมกันจะดีกว่า

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการบอร์ดสปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการครั้งนี้ เพราะ สธ.ยังไม่สามารถวางระบบที่จะจัดซื้อยาในอนาคตได้ และบางหลักการก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ หากดำเนินการไปแล้วอาจขัดต่อข้อกฎหมายได้ และตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่มอบหมายให้ รพ.ราชวิถีเป็นคนกลางในการจัดซื้อยาในปีงบประมาณ 2561 นั้น ขณะนี้ผอ.รพ ราชวิถีก็ยังไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าการจัดซื้อครั้งนี้จะทำได้จริงหรือไม่

 

Advertisement

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image