คลังลุ้น กบช.มีผลปี’61 ดึงคนไทยออมเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณให้ได้เดือนละ 5.1 หมื่นบาท

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Future Wealth & Luxury EXPO 2017 มหกรรมการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต จัดโดยบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด ว่าขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการผลักดันกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ล่าสุด กฎหมายอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา ผ่านการพิจารณาไปแล้วกว่าครึ่ง โดยคาดว่าในปี 2561 กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดย กบช.นำมาใช้บังคับแรงงานในระบบออมเงินเพิ่มนอกจากประกันสังคม เท่าที่กระทรวงการคลังประเมินไว้พบว่าหากมีการออมเงินทั้งในระบบประกันสังคมตั้งแต่อายุ 20-55 ปี หลังเกษียณมีรายได้เดือนละ 7,500 บาท และการออมเงินระบบของ กบช.ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี ทำให้มีเงินใช้หลังเกษียณ 43,500 ล้านบาท เมื่อรวม 2 กองทุนมีเงินใช้เดือนละประมาณ 51,000 บาท

นายสมชัยกล่าวว่า คนไทยยังออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณน้อยมาก โดยแรงงานไทยกว่า 30 ล้านคน มีเพียง 10 ล้านรายที่มีเงินออมเพื่อใช้หลังเกษียณ ถือว่าน้อยมาก ที่เหลือกว่า 20 ล้านคนยังไม่ค่อยคิดถึงการออมเพื่อเกษียณเท่าไหร่ การที่ประชาชนกว่า 20 ล้านคนไม่ออมเงินเพื่อเกษียณสร้างภาระต่องบประมาณภาครัฐถึง 6-7 แสนล้านบาท ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการคลัง เพราะงบประมาณมีไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ

นายสมชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีมาตรการดูแลผู้สูงอายุ เช่น สนับสนุนแรงงานนอกระบบออมเงินภาคสมัครใจในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ยังมีคนสนใจน้อยมาก มีนโยบายสนับสนุนให้คนชราทำงาน บริษัทว่าจ้างสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า การสนับสนุนสร้างที่พักสำหรับคนชราหรือซีเนียร์คอมเพล็กซ์ การให้ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดำเนินการเรื่องนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ขอรับเงินใช้ในช่วงเกษียณ (รีเวิร์ส มอร์ทเกจ)

ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าผู้ชายมีอายุยืนเฉลี่ยประมาณ 80 ปี ผู้หญิง 83.5 ปี หากต้องการมีเงินใช้เดือนละ 15,000 บาท ต้องมีออมไม่น้อยกว่า 4 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในต่างจังหวัดเท่านั้น แต่พบว่าคนไทยยังมีเงินในระดับดังกล่าวน้อยมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image