เปิดตัวอรหันต์ 11 คณะ สำรวจทิศทางปฏิรูปประเทศ

หมายเหตุ – คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ รวม 11 ด้าน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เพื่อจัดทำแผนปฏิรูปภายใน 8 เดือน รวมทั้งติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามแผนงาน จากนี้เป็นความเห็นบางส่วนของกรรมการปฏิรูปต่อแนวทางการดำเนินงานหลังจากนี้

วิเชียร ชวลิต
กรรมการการปฏิรูปประเทศด้านสังคม อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทุกชุดต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนี้จะต้องมาคิดต่อว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยมององค์รวมของการแก้ปัญหา หยิบยกประเด็นใหม่ที่ สปท.อาจยังไม่ได้หยิบยกมานำมาทำไปพร้อมกัน

หากมองปัญหาสังคมปัจจุบัน ต้องบอกว่าเป็นปัญหาที่เป็นผลลัพธ์จากปัญหาอื่น อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง ที่ก่อตัวเป็นสารพัดปัญหาสังคม ฉะนั้นกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหม่ต้องมาดูว่าภารกิจที่ทำมาแต่เดิมติดขัดอะไร ระหว่างทำก็จะมองภาพรวมการปฏิรูป มองไปข้างหน้า และสะท้อนไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อปลดล็อกและแก้ไขที่ต้นทาง

Advertisement

ทั้งนี้ มี 2 ประเด็นด้านสังคมที่ห่วงใยและจะหยิบยกในการปฏิรูปด้านสังคมคือ โครงสร้างและความเหลื่อมล้ำของประชากร

เรื่องโครงสร้างประชากรไทย ตอนนี้พูดกันเสมอเรื่องสังคมผู้สูงอายุ จะทำอย่างไรให้สังคมสูงอายุตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ทำอย่างไรจะผนวกเข้ากับธุรกิจการค้าสมัยใหม่ นับเป็นเรื่องยากพอสมควร

เรื่องความเหลื่อมล้ำของประชากร ปัจจุบันแม้การเติบโตของประชากรชนชั้นกลางไปในทิศทางที่ดี แต่ยังมีประชากรกลุ่มคนรวยและคนจนอยู่อีกจำนวนมาก นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำส่งต่อเป็นปัญหาต่างๆ หากลดช่องว่างตรงนี้ได้มากเท่าไร ปัญหาต่างๆ ก็จะดีขึ้น จึงเห็นว่าขณะที่ดูแลคนจน ก็จะต้องพัฒนาด้วย เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

การลดความเหลื่อมล้ำ ยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มากขึ้น เพื่อโอกาสในการพัฒนาตัวเอง สร้างรายได้ อย่างการรวมกลุ่มประชาชนทำสินค้า ตั้งสหกรณ์ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี สนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ ให้เข้าถึงแหล่งเงิน ที่ดิน คิดว่าจะต้องปลดล็อก เพื่อให้คนเหล่านี้มีโอกาสมากขึ้น ก็จะเป็นต้นทางปัญหาสังคมที่ต้องช่วยกันดู

วิเชียร ชวลิต

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

สําหรับกรอบการทำงานเบื้องต้นคงต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ เพราะจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ ไว้ ว่าเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศมีสิ่งใดบ้าง ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะกรรมการ

ปฏิรูปฯ จะต้องประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ต่อจากนั้นจะยกร่างแผนการปฏิรูปก่อนส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

ขั้นตอนต่อไปก็จะนำแผนที่ได้รับการเห็นชอบไปปฏิบัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ หมวดการปฏิรูป กำหนดการปฏิรูปด้านการเมืองไว้ด้วยกัน 5 ประเด็นประกอบด้วย คือ การให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองคือการทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมีความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ มีกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ควรจะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่าต่างๆ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องได้บุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นหลัก ส่วนจะมีประเด็นใดเพิ่มเติมก็คงต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง หรืออาจจะต้องไปดูแผนพัฒนาการเมืองที่สภาพัฒนาการเมืองเคยมีมติเห็นชอบไว้

หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเมืองให้เกิดความสำเร็จนั้น ประเด็นข้างต้นทั้ง 5 ประการ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะการเลือกตั้งต้องมีองค์ประกอบว่าพรรคการเมืองต้องเป็นพรรคการเมืองของประชาชน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และมีกระบวนการคัดสรรสมาชิกและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่คำนึงถึงบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความซื่อสัตย์ สุจริต และการกำหนดนโยบายต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปได้ ไม่เสี่ยงต่องบประมาณ

ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องเป็นบุคคลที่เป็นคนดี มีความสามารถ เป็นต้น ขณะที่ประชาชนจะเลือกบุคคลได้อย่างถูกต้อง มีความสามารถ ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งหมดถือว่ามีความเกี่ยวพันกันหมด

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสิ่งแวดล้อม

เรื่องการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มียุทธศาสตร์อยู่แล้ว ทำมาตั้งแต่ชุดสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) คณะกรรมการชุดนี้ก็ต้องนำยุทธศาสตร์จากตรงนั้นมาใช้ มีเรื่องหลักที่จะต้องทำอยู่ 4 ด้านคือ 1.น้ำ 2.ป่า 3.ทะเล และ 4.การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 4 เรื่องมีความแตกต่างกัน การตั้งคณะอนุกรรมการแต่ละชุดขึ้นมาทำงานนั้น แต่ละคนต้องมีความชัดเจน

ในเรื่องการดูแลทรัพยากรทางทะเลที่รับผิดชอบอยู่ หลักการทำงานก็คือ การกำหนดจุดไข่แดงและไข่ขาวเป็นหลัก ไข่แดงคือพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ใช่เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มปฏิรูปไปแล้วคือ การเก็บรายได้จากการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าน่าจะได้ถึง 2,400 ล้านบาท กรมอุทยานฯจะต้องนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปศึกษาการทำงานด้านการอนุรักษ์เป็นหลัก ต้องมีความโปร่งใส มีตัวดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีเลย

ส่วนพื้นที่ไข่ขาวคือ พื้นที่ทะเลทั่วไป มีการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวก็ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

การอนุรักษ์ดูแลทะเล สำคัญที่สุดคือ ปะการัง ตั้งเป้าระยะสั้นตามอายุของกรรมการปฏิรูปชุดนี้ คือ 5 ปี โดยภายใน 5 ปี พื้นที่ปะการังที่มีความสมบูรณ์จะต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% สิ่งสำคัญที่จะทำให้ทะเลวิกฤตอีก คือ น้ำเสียและขยะทะเล แม้จะมีการแก้ไขกันมาบ้าง แต่ปัญหายังอยู่ในขั้นวิกฤตอยู่ดี

ขั้นตอนการทำงานหลังจากนี้คือ ต้องคุยกับทางอธิบดีกรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่องแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มีตัวดัชนีชี้วัดเป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

สมชาย หาญหิรัญ
กรรมการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ตอนนี้กำลังรอการประสานจากคณะทำงานในการนัดประชุม และเดินหน้าทำงานตามยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี เมื่อได้รับโอกาสก็พร้อมจะทำงาน ใช้ความสามารถในการจัดวางสิ่งต่างๆ ในประเทศให้มีความสอดคล้องกัน ประสานกัน ทำให้เกิดความสำเร็จ เพราะปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดทิศทางประเทศในด้านต่างๆ ไว้แล้ว

จึงต้องอาศัยความตั้งใจของทุกฝ่ายในการผลักดันให้สำเร็จ

สมชาย หาญหิรัญ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image