ส.อบจ.ตรัง พลิกสถานการณ์รวมกลุ่มชาวบ้าน ตั้งกลุ่มเปิดร้านอาหารพื้นบ้านเสนอเมนูรสเด็ด

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวได้เดินทางที่ร้านอาหารแลวิว เขาหัวแตกตรัง ม.1 ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยมี นายกิตติเดช วรรณบวร หรือ ส.จ.หมอ สมาชิกสภา อบจ.ตรัง เขต อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เป็นเจ้าของร้าน ด้วยการรวมกลุ่มสมาชิก ผู้นำ ชาวบ้านในชุมชน จัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เขาหัวแตกที่มีแหล่งน้ำล้อมรอบ บนเนื้อที่ 12 ไร่ และมีถนนรอบล้อมรอบ บรรยากาศสดชื่น และกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเดินทางมารับประทานอาหาร พร้อมรับอากาศบริสุทธิ์ ชมวิวได้ตลอด 180 องศา

อีกทั้งยังสัมผัสกับธรรมชาติแหล่งน้ำจืดไหลจากเขื่อนท่างิ้ว ลงสู่คลองเขากอบ และแม่น้ำตรัง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ทั้งถ้ำเลเขากอบ วังเทพทาโร จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และมีการจัดทริปให้นักท่องเที่ยวในหลากหลายรูปแบบ ทั้งพายเรือคายักรอบเขาหัวแตกโดยมีอุปกรณ์เสื้อชูชีพ สร้างความปลอดภัยและสร้างความอุ่นใจให้แก่ลูกค้า เน้นอาหารพื้นที่บ้านภาคใต้แบบชาวตรัง อาหารทะเลสดๆ กับอีกหลายหลายเมนู ในราคาท้องตลาดทั่วไปที่ใครๆก็สามารถทานได้ เริ่มต้นตั้งแต่อาหารจานเดียวราคา 30 บาทขึ้นไป หรือจะสั่งเป็น ส้มตำ ยำทะเล กุ้งแช่น้ำปลา แกงส้ม ผัดผักเหรียงฯลฯ นั่งทานอาหารในยามใกล้ค่ำ บรรยากาศที่ชวนให้หลงใหลในอีกมุมหนึ่ง

 

Advertisement

นายกิตติเดช กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของสถานที่ท่องเที่ยวเขาหัวแตกตรัง ปีที่ผ่านมามีการพัฒนา เขาหัวแตกตรังเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เดิมที เขาหัวแตกตรังก็มีแต่พายเรือคายัก และเล่นน้ำ เป็นเรือคายักที่เช่ามาจาก อบจ.ตรัง เพียง 7 ลำ ต่อมาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เขาหัวแตกตรังไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมีกิจกรรมเฉพาะพายเรือกับเล่นน้ำ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความต้องการ รับประทานอาหาร ต้องการที่จะนั่งพักผ่อนใช้เวลานานๆ “ผมจึงเปิดร้านอาหารแลวิวเขาหัวแตกตรังตั้งอยู่ริมน้ำ ตรงบริเวณเขาหัวแตกตรัง เพื่อรองรับและบริการให้กับท่องเที่ยวได้เที่ยวและรับประทานอาการไปพร้อมๆกัน เป็นร้านอาหารที่อยู่ริมน้ำ ตรงบริเวณเขาหัวแตกตรัง ให้ผู้มาใช้บริการได้มีโอกาสเยี่ยม สัมผัส เขาหัวแตกตรังและมาลิ้มรสอาหารพื้นบ้านอาหารใต้ อาหารทะเล อาหารที่เป็นพื้นบ้าน ก็จะเป็นแกงส้มเป็นเมนูเด็ดของที่นี้ แกงคั่วต่างๆ เป็นอาหารใต้ที่คนนิยมรับประทานกัน เช่นแกงคั่วไก่ และน้ำพริก ผักลวก ชุดเล็กชุดใหญ่ สำหรับเมนูที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ จะเป็นแกงเลียง น้ำพริก ผักเหรียงต้มกะทิกุ้งสด และยังมีอาหารหลากหลายเมนูให้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็นอาหารทานเล่น หรือ อาหารอีสาน อาหารจานเดียว ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เน้นอาหารเป็นกรุ๊ปครอบครัว กับข้าวและแกงต่างๆสำหรับวัตถุดิบที่ทางร้านอาหารต้องซื้อ ซึ่งคนในชุมชนท่านใดที่สามารถผลิตวัตถุดิบได้ก็จะมาส่งที่นี่ อย่างเช่น ผักเหมียงหรือผักเหรียง สะตอ แตกกวา ถั่ว ในฤดูที่เป็นฤดูไข่มดแดง ก็ไม่ต้องซื้อจากตลาด เขาก็มาส่งที่นี่ ทางร้านก็จะรับซื้อไว้ เป็นการอุดหนุนสินค้าจากคนในชุมชนอีกด้วย”

นายกิตติเดช กล่าวว่า ส่วนราคา เริ่มต้นที่ 40 บาท แพงที่สุดของร้านอยู่ที่ 150 บาท และสิ่งที่ตามมาคือขยะ แนวทางของเขาหัวแตกตรังในเรื่องการบริหารจัดการขยะ มี 2 แนวทาง คือ แนว 1 จะบริหารจัดการกับนักท่องเที่ยว แนวทางที่สอง บริหารจัดการกับคนในพื้นที่ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวพายเรือคายักหรือเล่นน้ำ ต้องการที่จะดื่มน้ำซื้อน้ำไป 1 ขวด ต้องขออนุญาตเปิดสลากของขวด จึงจะอนุญาตนำน้ำไปได้ แต่เราก็จะชี้แจงทางนักท่องเที่ยวว่า สามารถนำน้ำไปได้ 1 ขวด ฝามีมูลค่า 100 บาท สลากมีมูลค่า 100 บาท ขวดมีมูลค่า 100 บาท หมายถึงว่าถ้านำไปได้ แล้วนำกลับมาไม่ได้ นักท่องเที่ยวเรือลำนั้นจะโดนปรับ น้ำ 1 ขวดที่หายไปมีมูลค่า 300 บาท นักท่องเที่ยวท่านใดสามารถเก็บขยะหรือพลาสติกมาได้ 1 ชิ้น หรือขวด ใส่เรือกลับมาที่ท่าเรือ ขยะ 1 ชิ้นสามารถแลกน้ำดื่มได้อีก 1 ขวดสำหรับบริการนักท่องเที่ยว

Advertisement

“แนวทางที่ 2 คือคนในชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมขยะ การดำเนินงานของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เขาหัวแตกตรัง ที่บริการให้พายเรือคายักและเล่นน้ำ คนในพื้นไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ต้องมาแจ้งขออนุญาตพายเรือ แต่การอนุญาตแต่ละครั้ง จะต้องทำประโยชน์ให้กับชุมชน ให้กับตรงนี้ กับ แหล่งท่องเที่ยว สำหรับคนในพื้นที่ที่จะพายเรือเล่นน้ำ เช่นหากเจอขยะก็เก็บเอามาทิ้งสามารถพายเรือคายักได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นี่คือการมีส่วนร่วมของชุมชน ค่าบริการพายเรือคายัก พร้อมเสื้อชูชีพไม่จำกัดเวลา เฉลี่ยคนละ 60 บาท ลำละ 2 ที่นั่ง” นายกิตติเดช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image