‘นิเทศ-วารสาร’ (ไม่)วิกฤต เมื่อสื่อเปลี่ยนไป คนเรียนสื่อต้องปรับตัว

ไม่นานมานี้เกิดกระแสข่าวที่สร้างความวิตกกังวลในวงการสื่อสารมวลชนขึ้น เมื่อมีข่าวสะพัดว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพยุติการเรียนการสอนภาควิชาวารสารศาสตร์

จนต้องออกมาประกาศชัดว่ายังไม่ยุบ!

แต่ได้ควบรวมภาควิชาวารสารศาสตร์เข้ากับภาควิชาบรอดแคสติ้ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บรอดแคสติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล” เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน

เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าพฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมรับข้อมูลข่าวสารผ่านโลกออนไลน์ ส่งผลสะเทือนถึงสื่อกระดาษที่ได้รับความนิยมลดลง ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร และหนังสือเล่ม จนหลายฉบับจำต้องปิดตัวลง

Advertisement

จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากสถาบันการศึกษาจะเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนวิชาในกลุ่มสื่อสารมวลชน เช่น คณะนิเทศศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสื่อสาร เป็นต้น

ซึ่งแต่ละแห่งล้วนได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกัน

แต่มีทางรอดเดียวคือต้อง “ปรับตัว”

Advertisement

รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในวงการศึกษาทุกมหาวิทยาลัยตื่นตัวในการปรับการเรียนการสอนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุคดิจิทัล เนื่องจากสื่อเปลี่ยน พฤติกรรมมนุษย์ก็เปลี่ยน ทั้งสองอย่างสอดรับและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้น หลักสูตรที่จะตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมก็ต้องมีการปรับตัวด้วย ทีนี้การปรับตัวจะเป็นไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่กับหลักปรัชญาของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งด้วย

“หลักปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเน้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะเดียวกันต้องมีลักษณะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเฉลียวฉลาด เพราะข้อมูลเยอะ ต้องรู้จักใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม”

ในส่วนของหลักสูตรนั้น รศ.พรทิพย์ระบุว่า ตอนนี้จุฬาฯกำลังอยู่ในกระบวนการปรับหลักสูตรปริญญาตรีในขั้นตอนของการวิพากษ์หลักสูตร ซึ่งค่อนข้างต่างจากเดิม

บางสาขาวิชามีการปรับเปลี่ยนชื่อ เพราะคนอาจจะเข้าใจชื่อผิด

“อย่างชื่อสาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เราตั้งชื่อตามมีเดีย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราก็ต้องปรับชื่อให้เป็นวารสารศาสตร์ แต่คนอาจจะเข้าใจผิดว่าวารสารศาสตร์เป็นเรื่องของหนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ แต่จริงๆ แล้ววารสารศาสตร์มีแหล่งที่มาจากคำว่า journalism เป็นเรื่องของข่าว เรื่องของหลักคิด หลักการทำเนื้อหา ซึ่งเราปรับตัวเป็นเรื่องของดิจิทัลเรื่องออนไลน์ แล้วก็ปรับเนื้อหาในหลักสูตรให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนอ่าน

“แต่ก็มีหลักการของเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวหรือนักโฆษณา เราเน้นบุคคลที่มี 3 รูปแบบ คือ 1.ต้องมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันเนื้อหา รู้เท่าทันข้อมูล 2.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 3.ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม”

ไม่เพียงแต่คณะที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ทุกสาขาวิชาจะต้องปรับตัวใหม่ทั้งหมด

รศ.พรทิพย์ระบุว่า สาขาที่อาจจะได้รับผลกระทบน้อยหน่อย อย่างสาขาเกี่ยวกับการออกอากาศ (broadcast) ที่รูปแบบรายการอาจจะไม่แตกต่างจากเดิม แต่วิธีคิด หลักการคิด ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย และเปลี่ยนการนำเสนอใหม่

“จริงๆ คิดว่าเราอาจจะตระหนกตกใจเกินไป เพราะศาสตร์ด้านสื่อสารมันยังอยู่ เพียงแต่มันเปลี่ยนแพลตฟอร์มเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่มีอะไรยึดติดอยู่กับที่ เช่น สมัยก่อนการทำโฆษณาก็เป็นแบบหนึ่ง มาสมัย 10 ปีที่แล้วก็เป็นรูปแบบหนึ่ง มาสมัยนี้ก็เปลี่ยนรูปแบบตามสื่อของมัน ทุกอย่างมันมีพัฒนาการ” รศ.พรทิพย์อธิบาย

อีกมุมมองจาก “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ซึ่งเป็นหนึ่งสถาบันที่มีปรับตัวอย่างเด่นชัด ด้วยการยุบรวมภาควิชาเข้าด้วยกัน

ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า ในส่วนเนื้อหาและการเรียนการสอนต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะธุรกิจและภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แล้วคำว่าเปลี่ยนในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนแล้วมันจะหยุดอยู่กับที่ แต่มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งโลกในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงในทุกภูมิทัศน์

“แต่เรื่องของสื่อเป็นอะไรที่ใกล้ชิดกับคนที่สุด ทุกวันนี้เราตื่นนอนขึ้นมาเราหยิบโทรศัพท์ก่อนแปรงสีฟันเสียอีก ดังนั้น เราจึงไม่รอให้การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้วจึงปรับ หรือรอให้เด็กน้อยแล้วค่อยปิดหลักสูตร แต่เราพยายามเปลี่ยนทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอนให้สามารถปรับตัวเองไปตามสภาพความเป็นจริง เเต่อาจจะต้องใช้เวลา”

ดร.พีรชัยบอกอีกว่า เดิมคณะนิเทศศาสตร์ยืนพื้นตัวเองไว้กับสื่อมวลชน ด้วยโมเดลที่ว่าเวลาจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสื่อมวลชน เราก็จะศึกษาเรื่องหนังสือพิมพ์มีไว้ทำไม เพื่ออะไร มีหน้าที่ต่อสังคมอย่างไร กระบวนการวิธีผลิตทำอย่างไร เป็นโมเดลที่เรียกว่าแมสมีเดีย ตอนนี้สิ่งที่สถาบันด้านนิเทศศาสตร์จะต้องทำความเข้าใจสูงมากก็คือ โมเดลของแมสมีเดียมันไม่ได้สำคัญที่สุดอีกแล้ว แต่จะเป็นเรื่องของคอมมิวนิเคชั่น หรือการสื่อสาร

“ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า นิเทศศาสตร์ของประเทศไทยเกิดขึ้นในยุคที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ รากเหง้าของนิเทศศาสตร์มาจากตรงนั้น แล้วทำงานอยู่บนพื้นฐานความคิดของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว มีเป้าหมายชี้นำสังคม

“ขณะที่ปัจจุบันสื่อมวลชนลดบทบาทลง ในที่นี้หมายความว่าพลังของสื่อมวลชนมันไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่คำว่าสื่อมันยังอยู่ เพราะฉะนั้น คณะนิเทศศาสตร์จะต้องโมเดลตัวเองใหม่ จะไปยืนพื้นความคิดแบบสื่อมวลชนแบบเดิมคงไม่ได้ ดังนั้น โมเดลการสอนและทักษะวิชาชีพที่ถูกสอนในคณะนิเทศศาสตร์จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรุนแรง”

สำหรับการปรับตัวครั้งนี้ ชี้เป้าไปที่การสื่อสาร ในทุกแพลตฟอร์ม

“ที่ผ่านมาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ในประเทศไทยมีลักษณะที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ แพลตฟอร์มไม่ใช่ตัวต้น ไม่ใช่เป้าหมายในการผลิตบัณฑิตอีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนเป็นเรื่องการสื่อสาร การทำความเข้าใจ โดยเน้นการผลิตเนื้อหาแล้วมาดูว่าเนื้อหาจะเข้าไปอยู่ในแต่ละแพลตฟอร์มอย่างไรถึงมีประสิทธิภาพ”

ดร.พรชัยบอกอีกว่า ขณะนี้เรากำลังทำงานเรื่องนี้กันอย่างเข้มข้น ให้เด็กที่มาเรียนได้มากกว่าความรู้ เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในยุคหนึ่งเรื่องนี้มันอาจจะสำคัญ แต่ตอนนี้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอีก 4 ปีเมื่อเรียนจบ เรื่องนี้จะสำคัญที่สุดอีกหรือเปล่า ยิ่งปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงมันเร็วมาก ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ เพราะการที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานการณ์ไหน หรืออยู่ในความเปลี่ยนแปลงแบบไหน เด็กที่มีการเรียนรู้ก็จะเอาตัวรอดได้มากกว่า

“เรายังพยายามกำหนดทักษะวิชาชีพประมาณ 7 ทักษะที่คิดว่าจำเป็นมากที่เด็กนิเทศศาสตร์ต้องมี เช่น ทักษะการเล่าเรื่อง ทักษะการผลิต ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น แล้วจะมีการวัดผลตามทักษะวิชาชีพเหล่านี้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าสอบ เพราะการสอบคือการจับเด็กนักเรียนมานั่งตอบข้อสอบที่ส่วนใหญ่มาจากการท่องจำ บางคนอาจจะท่องอยู่ไม่กี่วันก่อนสอบ แล้วทันทีที่ออกจากห้องสอบก็อาจจะลืมความรู้ในข้อสอบนั้นไปแล้วก็ได้”

ดร.พรชัยทิ้งท้ายว่า “ผมยังมีความมั่นใจว่าศาสตร์ด้านนิเทศเป็นศาสตร์ที่จำเป็นมากที่จะต้องเรียนรู้ การที่คณะนิเทศศาสตร์จะล้มหายตายจากไปนั้นผมคิดว่าไม่เกิดขึ้นแน่นอน ยกเว้นสถาบันไม่สามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะล้มหายไปได้”

สําหรับ “มหาวิทยาลัยรังสิต” อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ก็มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ดร.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ตอนนี้มีเรื่องความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เหล่านี้ส่งผลไปยังกลุ่มที่เลือกเรียน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือตัวเด็กนักเรียน

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนที่ติดตามข่าวสารไม่ได้วิเคราะห์หรือติดตามอย่างลึกซึ้ง คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่คนทำอาชีพด้านนี้ต้องมีการปรับตัวไปสู่รูปแบบใหม่หรือแพลตฟอร์มใหม่ แต่ความรู้หรือจิตวิญญาณของวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์มันเป็นเรื่องจำเป็น ที่ต้องมีเป็นความรู้พื้นฐาน ที่จะนำเอาไปใช้กับอาชีพด้านนี้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน นั่นคือเรื่องของการค้นคว้าหาข้อเท็จจริง การวิเคราะห์ การแสวงหาข้อมูลที่เป็นจริงก่อนนำไปสู่ผู้รับสาร

“ดังนั้น ถ้าถามว่าอาชีพนักข่าวจะตายไปไหม ผมว่าไม่ ตัวนักข่าวเองเขาก็จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานใหม่ให้มันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ นักข่าวที่ทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไปจะลดลงเรื่อยๆ แต่จะไปทำในอีกรูปแบบหนึ่งคือสื่อออนไลน์ เพราะโลกทุกวันนี้คนสามารถรับข่าวสารได้เร็ว สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือศักยภาพและความสามารถ ต้องมีวิธีคิดและมุมมองใหม่ ถ้ายังคิดว่าเราเป็นนักข่าวลงหนังสือพิมพ์แบบเดิมๆ ก็คงจะไปต่อได้ยาก”

เพราะโลกในยุคต่อจากนี้ไป จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไปสู่แพลตฟอร์มใหม่มากขึ้น

แน่นอนว่าสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนี้จะต้องปรับตัว

“ถ้าเราจะใช้คำว่าสาขาวิชาวารสารศาสตร์ หรือใช้คำว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไปผมว่าอยู่ยาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนค่าใช้จ่ายมาจากค่าหน่วยกิตของนักศึกษา ถ้าเด็กเรียนน้อยจะมีเรื่องของความคุ้มทุน ที่จะทำให้อยู่ต่อได้หรืออยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ชื่อผมคิดว่าจะต้องมีการปรับให้ทันสมัยขึ้นตามแพลตฟอร์มใหม่ของสื่อตอนนี้ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะเรียน ในขณะเดียวกันควรจะสอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ เช่นเรียนด้านนี้แล้วจะทำอะไรได้บ้าง และต้องสามารถนำเสนอได้หลายแพลตฟอร์ม ไม่ใช่นำเสนอในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียว”

นอกจากสาขาวารสารศาสตร์ ดร.อนุสรณ์ยังมองว่า ทุกสาขาวิชาในคณะนิเทศศาสตร์จะต้องปรับทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ขณะนี้การโฆษณาไม่ได้อยู่ตามสื่อหลักอย่างเดียวอีกต่อไป รวมถึงจะต้องมีโฆษณาประเภทไวรัลแอด ต้องมีรูปแบบการนำเสนอโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างประทับใจในระยะเวลาสั้นๆ แล้วต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.อนุสรณ์ได้วิเคราะห์อนาคตของการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ยังคงได้รับความนิยมอยู่ และแนวโน้มก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นกลุ่มวิชาที่คนนิยมเลือกเรียนมากที่สุดในอันดับต้นๆ

ขณะที่ ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เเละที่ปรึกษาสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ระบุว่าวงการสื่อสารมวลชนตอนนี้เปลี่ยนแปลงมาก เพราะภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการเปลี่ยนแปลงกันแทบทุกวัน คนทำงานก็ต้องทำงานแบบปรับตัวกันตลอดเวลา

“แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าคนที่ทำงานสื่อมีโอกาสที่จะยังอยู่ได้ ถ้าสามารถหาคอนเทนต์ที่ดีและหาช่องทางในการเผยแพร่ได้”

นอกจากคนในวงการสื่อต้องปรับตัวแล้ว มหาวิทยาลัยที่ต้องผลิตคนทำงานสื่อต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการและแนวคิดทั้งหมดด้วย

“เมื่อก่อนเราเน้นผลิตคนเข้าไปอยู่ในสื่อกระแสหลัก ทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร แต่ปัจจุบันคนเสพสื่อกระแสหลักน้อยลง หันมาเสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น รูปแบบการสอนจึงต้องปรับเปลี่ยน การสอนการสร้างเนื้อหาก็ต้องเปลี่ยนให้เหมาะกับการเผยแพร่ลงแพลตฟอร์มนั้นๆ รวมถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยี ซึ่งคนที่ทำหลักสูตรจะต้องเข้าใจและศึกษาในเชิงลึกให้ได้ แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งของประเทศไทยคือระบบหลักสูตร ถูกวางกรอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การปรับแต่ละครั้งยากมาก ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการที่ใจกล้า จะหาวิธีออกนอกกฎกติกาเหล่านี้อย่างถูกต้องให้ได้และให้ทัน”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคต ผศ.ดร.ทัณฑกานต์มองว่า แน่นอนที่บางสาขาวิชาอาจจะต้องปิดตัวลงไป ในบางมหาวิทยาลัยสาขาวิชาวารสารศาสตร์หรือสาขาที่ผลิตเนื้อหาลงในสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มมีการปิดตัวมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว แต่มีหลายมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกรอบที่ไม่สามารถปิดได้ ก็จำเป็นต้องผลิตออกมา

“แต่ผลิตออกมาแล้ว บัณฑิตที่ออกมาแล้วจะไปทำงานอะไรครับ ในเมื่อเห็นอยู่แล้วว่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทยอยปิดตัวลง วันนี้ประเมินว่าเหลือไม่ถึง 50% จากที่เคยมี ในอนาคตก็มีแนวโน้มจะปิดตัวลงอีก แต่ก็ยังมีอีกหลายหลักสูตรที่ยังพอไปได้ เช่น หลักสูตรทางด้านวิทยุ ถึงแม้คนจะฟังวิทยุน้อยลง แต่การทำงานบนเสียงเพื่อออกในสื่อยังสามารถทำงานได้ นอกจากนี้ บางชุมชนในประเทศไทยก็ยังมีวิทยุชุมชนอยู่”

ส่วนสาขาในนิเทศศาสตร์ที่ดูมีอนาคตที่สุด ผศ.ดร.ทัณฑกานต์มองว่า เป็นสาขาที่เกี่ยวกับสื่อใหม่ทั้งหมด เช่น สาขาการสื่อสารการตลาดดิจิทัล ที่มีการควบรวมงานประชาสัมพันธ์ งานโฆษณา และงานด้านการตลาดทั้งหมด ซึ่งสาขานี้ผมมองว่ามันจะโลดแล่นไปได้ และเชื่อมั่นว่ามันจะอยู่ต่อได้อีกเป็น 10 ปี

เป็นหลักสูตรใหม่ของ “นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์” ที่รองรับอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image