‘ปอมท.’จับมือภาคี ร้องนายกฯ ขอเปิด-ปิดภาคเรียนเหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายวีรพล แสงปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอำนาจ เอี่ยมสำอางค์ เลขานุการที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ปคมทร.) ในฐานะตัวแทนประธานปคมทร. นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) และนายมนต์ชัย ดวงจินดา ประธานสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมสิริวัฒนภักดี ชั้น 11 อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เกี่ยวกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนว่า นายชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย ประธานปอมท. ได้เชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนมาประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องผลกระทบจากการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนของสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต่อไป โดยผลการหารือได้ข้อสรุปดังนี้

นายวีรพล กล่าวต่อว่า ประธาน ส.ค.ศ.ท. และคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ที่ประชุมส.ค.ศ.ท. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามหาวิทยาลัยควรกลับไปเปิดปิดภาคเรียนแบบเดิม คือ เปิดเดือนมิถุนายนของทุกปี เนื่องจากการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานของหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งในทุกหลักสูตรของการฝึกหัดครูจะมีรายวิชาการฝึกประสบการณ์ในวิชาชีพในทุก ๆ ชั้นปี เริ่มตั้งแต่แรกเข้าชั้นปีที่ 1 ซึ่งเป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูระหว่างเรียนและการปฏิบัติการสอนหรือการฝึกสอนในชั้นปีที่ 4 หรือชั้นปีที่ 5 ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพครู ดังนั้นการเปิดปิดภาคเรียนที่ไม่ตรงกันระหว่างสถานฝึกปฏิบัติวิชาชีพ ซึ่งก็คือโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ รวมแล้วเป็นเวลานานถึง 4 เดือนต่อปี ส่งผลกระทบทำให้ไม่มีสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพอย่างเพียงพอ และอาจกระทบต่อคุณภาพในการผลิตบัณฑิตครู ที่ย่อหย่อน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของอาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ซึ่งไม่มีเวลาได้พักเลย คือ ต้องเป็นทั้งอาจารย์นิเทศในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในช่วงปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย แต่เป็นช่วงเปิดภาคเรียนของโรงเรียน และยังต้องทำการสอนตามรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรที่ตนรับผิดชอบสอนในช่วงเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย เป็นวัฏจักรอย่างนี้นับตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนเป็นต้นมา และการเปิดปิดภาคเรียนที่แตกต่างกันระหว่างโรงเรียนสังกัด สพฐ. กับมหาวิทยาลัยที่สังกัด สกอ. แบบที่เป็นอยู่นั้น ยังกระทบต่อเด็กนักเรียนที่จบ ม.6 ที่รอเข้ามหาวิทยาลัยในเดือนสิงหาคมจำนวนประมาณเกือบ 7 หมื่นคนว่างงานและเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ 4-6 เดือน นับว่าเป็นความความสูญเปล่าสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งการเปิดปิดภาคเรียนปัจจุบันไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทยเนื่องจากเดือนเมษายนเป็นฤดูร้อนและเป็นข่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งอากาศยังร้อนมากท าให้ท าให้สิ้นเปลืองค่าสาธารณูปโภค มากกว่าปกติ เป็นภาระทั้งต่อตัวผู้เรียน สถาบันการศึกษา และงบประมาณแผ่นดิน

นายวีรพล กล่าวต่อว่า ขณะที่ประธานสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าในส่วนของการดำเนินงานหลักสูตรกษตรศาสตร์นั้น ก็ได้รับผลกระทบด้านลบโดยตรงจากการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนเช่นกัน เนื่องจากการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและบริการวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรนั้น จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรน้ำจำนวนมากในการจัดเรียนการสอน การเปิด-ปิดภาคเรียนแบบอาเซียนทำให้การดำเนินงานของหลักสูตรด้านเกษตรเป็นไปด้วยความยากลำบากและประสบปัญหาเนื่องจากน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ นักศึกษาเกษตรประสบปัญหาในการทำกิจกรรมการเรียนและการฝึกปฏิบัติในแปลงเกษตร รวมถึงประสบปัญหาในการเรียนการสอนด้านสัตว์น้ำ เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเวลาวางไข่ของสัตว์น้ำ ส่งผลให้นักศึกษาไม่ได้เรียนรู้และสามารถฝึกปฏิบัติได้จริง

นายวีรพล กล่าวต่อว่า ตัวแทนประธาน ปคมทร. เห็นว่าการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้นมีผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อตัวนักศึกษาทุกสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)เนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเพราะการอยู่หอพักในช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นหน้าร้อน และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักศึกษาในด้านการฝึกงานและสหกิจศึกษาซึ่งสถานประกอบการจะมีปัญหาในการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานด้วย และในการฝึกสอนของนักศึกษาที่เรียนสาขาที่เกี่ยวกับวิชาชีพครูนั้นก็จะประสบปัญหาเช่นกันเนื่องจากช่วงเวลาเปิดปิดของมหาวิทยาลัยไม่สอดคล้องกับโรงเรียนในสังกัดสถาบันอาชีวศึกษา

Advertisement

นายวีรพล กล่าวด้วยว่า ส่วน ประธาน ทปสท.เสนอให้สถานศึกษาของไทยทุกระดับเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกัน หลีกเลี่ยงการจัดการเรียนการสอนในช่วงเดือนเมษายน ปรับเปลี่ยนการศึกษาทุกประเทศในอาเซียนให้เหมือนกัน และปรับเปลี่ยนวันเกณฑ์ทหาร การสอบบรรจุครู การรับสมัครงานให้สอดคล้องกับวันสำเร็จการศึกษา ปรับเปลี่ยนปีงบประมาณให้สอดคล้องกับการเปิดปิดภาคเรียน และเปลี่ยนวงรอบการปฏิบัติราชการใหม่ให้สอดคล้องกับภาคเรียน

นายวีรพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกัน 2 ข้อ คือ 1.ปอมท.จะร่วมกับทุกองค์กรทำหนังสือและขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีภายในเดือนกันยายนนี้เพื่อแจ้งความเดือดร้อนจากการที่เปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนและขอให้กลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนเหมือนเดิม และ2.ให้สภาคณาจารย์ทำหนังสือถึงอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยเพื่อแจ้งความเดือดร้อนและขอให้กลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม

“เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ปอมท. ได้จัดทำแบบสอบถามในช่วงเดือนสิงหาคม -ตุลาคม 2558 เรื่องการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนเพื่อสำรวจความคิดเห็นไปยังกลุ่มอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกที่ประชุมปอมท. ได้แก่ คณาจารย์ 1,361 ชุด บุคลากรสายสนับสนุน 1,302 ชุด และนักศึกษา 2,877 ชุด รวมทั้งสิ้น 5,540 ชุด โดยสอบถามความคิดเห็นต่อการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่าของ Likert ชนิด 5 ตัวเลือก และแบบสอบถามที่ให้เลือกตอบความคิดเห็น 2 ตัวเลือก คือ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ได้ผลดังนี้ คณาจารณ์ ไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ร้อยละ 73.2 บุคลากรสายสนับสนุนการเรียนการสอน ไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ร้อยละ 63 นักศึกษาไม่เห็นด้วยกับการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ร้อยละ 60.9 ” นายวีรพลกล่าว

Advertisement

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการการเลื่อนเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนของสถาบันการศึกษาไทยตามอาเซียน เริ่มขึ้นในปี 2557 จากเดิมภาคเรียนที่ 1 จะเปิดเทอมเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เปลี่ยนเป็น เปิดเทอมในเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 เปิดเทอมเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เปลี่ยนเป็นเปิดเทอม คือเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม หรือเขยิบจากช่วงเวลาเดิมออกไปภาคเรียนละ 2 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image