คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ‘สมบัติ’ ไฉไล

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว ภาพจาก matcha-jp.com

ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมา 130 ปี

นิตยสารญี่ปุุ่นฉบับภาษาไทยที่ชื่อ “จากญี่ปุ่น” ฉบับที่ 2/2560 ระบุไว้ในหน้าท้าย

ประชาสัมพันธ์นิทรรศการพิเศษในโอกาสเฉลิมฉลอง 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

กิจกรรมหนึ่งที่ญี่ปุ่นจัดคือการนำโบราณวัตถุที่งดงามด้านพุทธศิลป์ตามยุคสมัยในไทยไปออกแสดงในพิพิธภัณฑ์ของญี่ปุ่น

Advertisement

กำหนดการเปิดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชู

ระหว่างวันที่ 11 เมษายน ถึงวันที่ 4 มิถุนายน ซึ่งผ่านเลยไปแล้ว

อีกครั้งจัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว ระหว่างวันที่ 4 กรกฎาคม ถึงวันที่ 27 สิงหาคม

Advertisement

อันนี้ก็กำลังจะผ่านไป

วัตถุโบราณที่ญี่ปุ่นจัดแสดงมีอาทิ พระพุทธสำริดปางลีลาศิลปะสมัยสุโขทัย ช่วงศตวรรษที่ 14-15

ธรรมจักรศิลาทวารวดี ศิลปะสมัยทวารวดี ศตวรรษที่ 7

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย ศตวรรษที่ 15

จุลมงกุฎทรงน้ำเต้า ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา ต้นศตวรรษที่ 15

ช้างทรงเครื่องทองคำ ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา ต้นศตวรรษที่ 15

เหตุผลที่ญี่ปุ่นนำเอาวัตถุโบราณไทยไปจัดแสดงเนื่องในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น 130 ปี

เพราะไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา

95 เปอร์เซ็นต์ของชาวไทยนับถือพุทธ

ชาวไทยจึงใกล้ชิดกับพุทธศาสนา และถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน

การจัดแสดงโบราณวัตถุของไทย คือ การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของไทย

เป็นการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในเชิงวัฒนธรรม

การทำความเข้าใจในวัฒนธรรมจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

การแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ญี่ปุ่นใช้วัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์

งานการต่างประเทศคงเป็นเช่นนี้ คือ นำเอาสิ่งต่างๆ มาสร้างความสัมพันธ์

การให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม และรู้จักใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม ถือเป็นความชาญฉลาด

ภายในนิตยสาร “จากญี่ปุ่น” ฉบับเดียวกัน ยังได้นำเสนอเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในญี่ปุ่น

พิพิธภัณฑ์ที่แบ่งเป็น พิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อีกเยอะแยะ

ญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์

พลิกไปดูพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุของไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี

พบว่าพิพิธภัณฑ์โตเกียว มีจุดเด่นตรงที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน

เก็บรักษาสมบัติของชาติและโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ

รวมถึงผลงานด้านศิลปะของประเทศ และชาติตะวันตกด้วย

รวมกันแล้วมีมากกว่าแสนชิ้น

ส่วนพิพิธภัณฑ์คิวชูก็เป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านประวัติศาสตร์เหมือนกัน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจุดเด่นคือ มีโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุด

นำเสนอความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างภูมิภาคคิวชูกับภูมิภาคเอเชีย

เขามีแนวคิด “เข้าใจรากหญ้าของวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านมุมมองด้านประวัติศาสตร์เอเชีย”

มีการจัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น

วัฒนธรรมของญี่ปุ่นย่อมผูกโยงกับเกาหลี ผูกโยงกับจีนด้วย

มีการจัดแสดงสมบัติทางวัฒนธรรม 30-50 ชิ้นในทุกเดือน

หมุนเวียนไปจนครบ 800-900 ชิ้น

แถมด้วยนิทรรศการพิเศษที่จัดประมาณ 4-5 ครั้งต่อปี

เข้าใจว่านิทรรศการแสดงวัตถุโบราณของไทยเนื่องในโอกาส 130 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นก็คงจัดขึ้นในรูปแบบนี้

ขณะที่พิพิธภัณฑ์ทางด้านวัฒนธรรม มีทั้งพิพิธภัณฑ์ละครโนคานาซาวะ ใน

จังหวัดอิชิกาวะ ที่เคยรุ่งโรจน์ทางการละคร

พิพิธภัณฑ์จิบลิ กรุงโตเกียว ที่เก็บรวบรวมภาพยนตร์แอนิเมชั่นของสตูดิโอจิบลิ

พิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีเมืองฮะมะมัทซึ จังหวัดชิซึโอกะ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีแนวคิด นำเสนอเครื่องดนตรีและดนตรีจากทั่วโลกด้วยความเท่าเทียม

ปราศจากอคติ !

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงเครื่องดนตรีจากทั่วโลกกว่า 1,300 ชิ้น

จัดแสดงภาพเคลื่อนไหว เพลง และสามารถฟังการบรรเลงดนตรีภายในห้องได้อย่างอิสระ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมีจุดเด่นที่ดนตรี ผู้คนสามารถรับฟังบทเพลงไปพร้อมๆ กับเรียนรู้วัฒนธรรม

สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านเครื่องดนตรี

มองดูจากจุดนี้ ญี่ปุ่นได้ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นโรงเรียนการเรียนรู้

เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรียนรู้วัฒนธรรม ฯลฯ

เรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองมี เรียนรู้จากสิ่งที่ผู้อื่นมี

เรียนรู้จาก “สมบัติเก่า” ที่มีอยู่

“สมบัติเก่า” เหล่านี้มีทุกชนชาติ ญี่ปุ่นมี เกาหลีมี ไทยเราก็มี

หลายคงเคยได้ยินมาแล้วว่า เกาหลีใต้ใช้วัฒนธรรม ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปทัวร์ สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล

ในเมื่อญี่ปุ่นสามารถใช้วัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์ เกาหลีสามารถใช้วัฒนธรรมสร้างรายได้

ไทยเราก็น่าจะทำได้

ไทยมีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีเอกลักษณ์

ไทยมี “สมบัติเก่า” เป็นของตัวเอง

ไทยจึงน่าจะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ดีเท่าหรือดีกว่าประเทศอื่น

ไทยน่าจะทำได้ ถ้าเลิกประวัติศาสตร์บาดหมาง แล้วเริ่มต้นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์

ทำได้ถ้าเลิกทำลายวัฒนธรรม แล้วหันมาทำให้วัฒนธรรมมีคุณค่า

หันมาเอาใจใส่ เติมชีวิตเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ อย่าปล่อยทิ้งร้าง

ไทยน่าจะขัดถู “สมบัติเก่า” ให้ไฉไล แล้วนำมาใช้ประโยชน์

ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

หากทำได้ดีมากๆ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image