คอลัมน์ ประสานักดูนก : ดูนกแดนอิเหนา

ประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วยหมู่เกาะมากมาย มีจำนวนนกมากที่สุดในทวีปเอเชีย และมากเป็นอันดับสองของโลก ถึง 1,688 ชนิด เป็นรองแค่ประเทศโคลอมเบียในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมากกว่า 440 ชนิด เป็นนกเฉพาะถิ่นของอินโดนีเซีย หมายความว่าไม่พบแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศอื่นใดเลย แม้ว่าอินโดนีเซียจะอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ลักษณะทางภูมิสัตวศาสตร์จะคล้ายคลึงกับประเทศอาเซียนอื่นๆ บนแผ่นดิน อาทิ ไทย ลาว เวียดนาม เมื่อพิจารณาชนิดพันธุ์ของนกที่พบในประเทศ แต่หมู่เกาะบางแห่งที่อยู่ถัดไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น สุลาเวสี ปาปัวนิวกินี กลับมีชนิดพันธุ์ที่ไม่เข้าข่ายภูมิสัตวศาสตร์ของอาเซียน แต่แสดงความใกล้ชิดไปทางภูมิภาคออสเตรเลีย เช่น นกการเวก หรือ Birds of Paradise ด้วยเหตุนี้ทำให้จำนวนนกเฉพาะถิ่น หรือนกถิ่นเดียวของอินโดนีเซียมีมากมายเป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากภูมิประเทศหมู่เกาะเอื้อต่อวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าผืนทวีปที่มีปัจจัยหรือตัวแปรมากกว่าบนเกาะ

นอกจากนกเฉพาะถิ่นแล้ว นกบางชนิดที่หายากในบ้านเรา กลับหาง่ายในคนอื่น เสน่ห์ของการดูนกส่วนหนึ่งจึงต้องเดินทางไปตามถิ่นอาศัยของนกที่เป็นเป้าหมายของนักดูนกแต่ละคน สัปดาห์ที่แล้ว คนเขียนเดินทางไปเกาะชวา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เกาะหลักของแดนอิเหนา ด้วยนกเป้าหมายเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส และ นกร่อนทะเลหางขาว ทั้งสองชนิดเป็นนกทะเล ทำรังวางไข่ และหากินในทะเลเปิดเป็นหลัก จะกลับมาแผ่นดินเมื่อจะทำรังเลี้ยงลูกเท่านั้น เพียงข้อนี้ก็ทำให้ยากต่อการค้นพบ ในบ้านเรา นกร่อนทะเลเป็นนกพลัดหลง มีรายงานพบเพียง 1 ครั้ง ซึ่งจะเป็นนกวัยเด็ก หมดแรงเพราะถูกลมพายุในทะเลพัดพาเข้าตกตามชายฝั่ง

เมื่ออยากจะดูนกเทพหายากให้ได้เห็นง่ายๆ ก็ต้องไปบ้านของเขาที่พบได้จำนวนมาก แทนที่จะรอวันฟ้าประทาน ที่ลมฝนและฟ้าจะพัดพานกมาให้ดูในเมืองไทย ซึ่งก็เป็นสภาพที่น่าสงสารนกมากกว่าจะดีใจ เพราะนกมักจะตกอยู่ในสภาพร่อแร่ใกล้ตาย ทริปนี้จึงต้องไปเกาะชวา สำหรับนกโจรสลัดมีรายงานว่านกหลายสิบตัวในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ลูกนกออกจากรังแล้วจะย้ายถิ่นจากหมู่เกาะคริสต์มาสของประเทศออสเตรเลีย มาอาศัยอยู่ในอ่าวจาการ์ตา นกจะเกาะตอไม้ไผ่ รอเวลาที่นกกาน้ำผุดขึ้น หลังจับปลาได้ เจ้าโจรสลัดจะทำตัวสมชื่อ สมนาม บินไปประชิดนกกาน้ำกลางอากาศ ข่มขู่ด้วยขนาดให้นกกาน้ำตกใจกลัวแล้วคายปลาออกมา นกโจรสลัดก็บินไปจับปลาที่ร่วงหล่นกลางอากาศหรือบนผิวน้ำมากิน โดยไม่ต้องออกแรงหาปลาเอง

ส่วน “นกร่อนทะเล” ตลอดปี จะอาศัยอยู่กลางทะเล ไม่บินเข้ามาในแผ่นดิน แต่นกจะทำรังบนชะง่อนผา ที่เป็นแอ่งหินตื้นๆ ตามแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ นกจะบินเข้ามาเลือกทำเลทำรังที่หน้าผาหิน ชื่อ Ngu Ngap ริมมหาสมุทรอินเดียในเขตเมืองยอคยาการ์ตา เมืองใหญ่มากอารยธรรมพุทธพราหมณ์ในอดีตของเกาะชวา นกร่อนทะเลที่แม้จะมีชุดขนสีขาวล้วน แต้มด้วยแถบคาดตา บนปีกและปลายปีกสีดำ แต่ขนหางยาวมากกว่าลำตัวของนก ทำให้นกร่อนทะเลเป็นนกที่มีรูปลักษณ์งดงามไม่แพ้นกป่าสีสันฉูดฉาด ยิ่งนกสามารถร่อนลมทะเล ขนหางยาวสีขาวพลิ้วไหวส่ายไปตามลม ยิ่งเป็นภาพน่าดูอย่างยิ่ง อย่างที่นักดูนกบางคนถึงกับเปรยว่า อยากเห็นก่อนตาย! (ฮา)

Advertisement

เมื่อนกร่อนทะเลบินเข้าใกล้ฝั่งจะบินตีคู่กันเข้าไปเลือกชะง่อนผา บินเข้าบินออกไปมาหลายรอบ เพื่อตรวจตราดูว่าบินเข้าสะดวก ออกสบาย เพราะต่อไปเมื่อวางไข่จนฟักเป็นตัว จะต้องบินเข้าออกนับพันรอบเพื่อส่งอาหารมาให้แม่นกและลูกในรัง พฤติกรรมนี้จึงเอื้อต่อนักดูนก ไปรอบนหน้าผาหิน

ได้เห็นนกในระยะใกล้ด้วยตาเปล่า ง่ายต่อการเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image