น้ำท่วมใหญ่ปีนี้จะมีหรือไม่ : โดย สมหมาย ภาษี

นํ้าท่วมกับฝนแล้งในประเทศเราเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซากสลับกันไปในแต่ละปี ถ้าไม่มากก็อยู่ในกำลังของชาวบ้านที่พอจะช่วยตนเองได้ เพราะคนไทยชินกับเรื่องเหล่านี้ ส่วนภาครัฐก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยตามปกติธรรมดา ซึ่งที่ทราบคุ้นหูชาวบ้านก็มีไม่กี่มาตรการ เช่น นำข้าวของที่จำเป็นไปแจก ลดหนี้ให้เกษตรกร เช่น ลดดอกเบี้ย ยืดการชำระเงินต้น จ่ายเงินเยียวยาเล็กน้อยให้ครอบครัวผู้ที่เสียหาย เป็นต้น ซึ่งก็พอผ่านไปได้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถชูหน้ายืดอกไปได้อีกปีหนึ่ง แต่หากเป็นน้ำท่วมหนักหรือฝนแล้งหนัก ประเทศนี้จะทุลักทุเลแค่ไหน ยังจำกันได้หรือเปล่า

ถ้าหากปีนี้เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นมาเหมือนปี 2554 อีก อะไรจะเกิดขึ้น ทรัพย์สินของประชาชนจะสูญเสียไปอีกแค่ไหน ผลผลิตของประเทศไทยโดยรวมจะหดหายไปอีกเท่าไหร่ แล้วรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยเหลืออีกกี่ชุด

ที่ตั้งคำถามว่า ถ้าปี 2560 นี้เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นมาจะจัดการกันอย่างไร ไม่ใช่พูดให้ตกใจกลัว แต่ข้อเท็จจริงทางธรรมชาติได้บอกเหตุไว้ให้ต้องคิดมากพอดูทีเดียว ประการแรก เพียงแค่ต้นฤดูฝนเท่านั้น พายุขนาดย่อมๆ เข้ามาโจมตีภาคอีสานไม่เท่าไหร่ จากรายงานความเสียหายด้านการเกษตรตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม เพียง 1 เดือน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการเกษตรถึง 550,000 ราย ในพื้นที่ 5.30 ล้านไร่ ใน 289 อำเภอ รวม 38 จังหวัด ประเมินความเสียหายได้ 10,000-15,000 ล้านบาท

ประการที่สอง มวลน้ำหรือปริมาณน้ำฝนสะสมที่เกิดขึ้นมีจำนวนค่อนข้างสูงมาก แม้ไม่เท่ากับช่วงต้นๆ ในปี 2554 แต่ก็มากจนเขื่อนต่างๆ มีความรู้สึกกังวลกันแล้ว และหากในช่วงมรสุมจริงๆ เดือนกันยายน-ตุลาคม เกิดมีมรสุมใหญ่เข้ามา 3-4 ลูก เหมือนปี 2554 แล้วอะไรจะเกิดขึ้นคงพอจะยังจำกันได้บ้าง คือ พายุไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแกที่ถล่มประเทศไทยทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปลายเดือนกันยายน และต้นเดือนตุลาคม

Advertisement

ถ้าจำเรื่องราวน้ำท่วมในปี 2554 สมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ได้ไม่ชัด ก็จะขอนำรายงานจากบทความวิกฤตน้ำท่วมประเทศไทย 2554 กับผลกระทบทางสังคม ที่รายงานโดย ดร.สาธิต วงศ์อนันต์นนท์ ซึ่งเป็นวิทยากรชำนาญการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มาให้อ่านฟื้นความจำดังต่อไปนี้

อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม-14 พฤศจิกายน 2554 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด 679 อำเภอ 4,885 ตำบล 43,444 หมู่บ้าน

ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,953,854 ครัวเรือน 13.19 ล้านคน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ บ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย 231,915 ไร่ ปศุสัตว์ 13.41 ล้านตัว ถนนเสียหาย 18,642 สาย ท่อระบายน้ำ 1,028 แห่ง ฝาย 1,075 แห่ง ผู้เสียชีวิต 562 ราย

Advertisement

ในด้านสังคม กระทรวงสาธารณสุขเผยว่ามีผู้ป่วยสะสมรวมทั้งหมด 1.80 ล้านราย และมีผู้มารับความเสียหายและฟื้นฟูทางจิตใจจากกรมสุขภาพจิต 26,183 ราย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบกำจัดขยะมูลฝอย ก่อผลกระทบต่อเนื่องถึงคุณภาพน้ำ และแหล่งน้ำผิวดิน ตลอดจนพื้นที่น้ำท่วมขังอีกมาก

ส่วนค่าความเสียหายที่ประเมินเป็นเม็ดเงิน ซึ่งได้มีรายงานจากฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ประเทศไทยประสบอุทุกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ในปี 2554 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ช่วงปี 2554 ที่ควรจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เหลือเพียงร้อยละ 1.8 เท่ากับหดหายไปร้อยละ 0.8 หรือประมาณเกือบ 100,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บรรดาทรัพย์สินที่เสียหายนั้น มีมากกว่าการหดตัวของ GDP หลายเท่า เพราะ GDP จะคิดเฉพาะผลผลิตที่เพิ่มหรือลดไม่รวมทรัพย์สิน เพียงแค่นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม 7 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี จะมีมูลค่าความเสียหายของเครื่องจักรและวัตถุดิบรวมกันถึง 237,410 ล้านบาท นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมใน 8 จังหวัดในภาคกลาง อาทิ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี จะมีมูลค่าความเสียหายถึง 237,340 ล้านบาท ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีความเสียหายในภาคเกษตรกรรม ทรัพย์สิน บ้านเรือนของ 4.0 ล้านครัวเรือนและถนนหนทาง และสิ่งสาธารณูปการอีกจำนวนมาก ซึ่งสรุปได้ว่าหากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ ความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 8-9 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 7-8 ของ GDP ซึ่งเป็นความเสียหายที่มหาศาลจริงๆ

เอาละครับ พอจะเห็นภาพของความหายนะเนื่องจากอุทกภัยอันร้ายแรงในรอบ 70 ปีกันแล้ว ทีนี้สมมุติว่าในปี 2560 นี้เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ไม่ต้องร้ายแรงเท่าปี 2554 เอาเป็นว่าแค่ 75% หรือสามในสี่ของปี 2554 ก็พอ ถามว่าขณะนี้รัฐบาล คสช.ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้พอเพียงบ้างหรือยัง เพราะตอนเข้ามายึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ร่วม 3 ปีแล้ว น่าจะต้องมีความพร้อมแบบรัฐบาลทหารบ้างละ

เท่าที่เห็นภาวะน้ำท่วมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดในทุกวันนี้ แค่ปลายหรือหางของฝนฤดูมรสุมธรรมดา ก็เอาไม่ค่อยอยู่กันแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงพายุเหมือนปี 2554

ขอย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2555 คือยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นฟูบ้านเมืองและผู้เดือดร้อนหลังอุทกภัยครั้งร้ายแรง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ทำอะไรกันบ้าง จากบันทึกเหตุการณ์ของหลายสื่อ เช่น Bangkok biz news พอสรุปได้ดังนี้

ในช่วงหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งในปี 2554 เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ได้เนรมิตอาคารตึกแดงในทำเนียบรัฐบาล เป็นสำนักงานใหญ่ของสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการอุทกภัยแห่งชาติ (สนอช.) สำนักงานนี้มีภารกิจยิ่งใหญ่ในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ มานั่งทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสารพัดภัยพิบัติ มีการตกแต่งสำนักงานอย่างดี มีการติดตั้งระบบสั่งงานเดี่ยว (Single Command) สามารถติดตามระดับน้ำและประตูระบายน้ำได้ทั่วประเทศ มีการติดตั้งระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังหน่วยงานทุกจังหวัด

แต่ภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. ตึกแดงแห่งนี้ก็ถูกปฏิวัติด้วย ทั้งๆ ที่ทำงานยังไม่เป็นรูปธรรม ตัวขององค์กรเกือบทั้งหมดถูกรื้อใหม่ โดย “คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 85/2557” ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้ง 3 ฉบับ เป็นอันยุติบทบาทคณะกรรมการด้านน้ำทุกชุด และโครงการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ทั้ง 9 โมดูล ที่ประมูลเสร็จแล้วก็อวสานไปพร้อมกัน คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการน้ำที่มี “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ซึ่งขณะนั้นเป็น รมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งถือเป็นคณะกรรมการด้านบริหารจัดการน้ำชุดแรกของรัฐบาล คสช.ที่ทำงานร่วมกับ 23 หน่วยงานในการจัดทำ “ยุทธศาสตร์น้ำ” ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งถือว่าภารกิจของ พล.อ.ฉัตรชัยในส่วนนี้จบแล้ว รองโฆษกรัฐบาลในสมัยนั้น “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ยืนยันว่าภารกิจคณะกรรมการฯ “พล.อ.ฉัตรชัย” จบภารกิจแล้ว และจากนี้เพียง “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.” ที่ “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะเองโดยตำแหน่ง ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ ที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดย “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ของ “ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา” ในการแก้ปัญหาภัยแล้งในตอนนั้น

นี่ก็เอาอีกแล้ว จากการออกข่าวของท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เมื่อกลางเดือนสิงหาคมนี้ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำการดูแลเรื่องน้ำอย่างจริงจัง โดยจะจัดตั้งกรมหรือหน่วยงานระดับกรมมาทำการบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะดำเนินงานนำงานที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานต่างๆ มารวมไว้ในที่เดียว

ความคิดนี้ทำให้คิดถึงคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ได้เนรมิตตึกแดงทั้งตึกอย่างอลังการเพื่อบริหารงานจัดการน้ำเป็นระบบสั่งงานเดี่ยว (Single Command) ที่ให้ระดับรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ กำกับดูแล แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็เจ๊งคาตึกแดงในบริเวณทำเนียบนั่นเอง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้จบไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดย 2 ปีหลังน้ำท่วมใหญ่ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ประชาชนได้เห็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด แต่รัฐบาล คสช.ที่ยังอยู่นับถึงตอนนี้ก็จะเข้าปีที่ 4 แล้ว ได้ทำอะไรบ้างเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม เอาเฉพาะภาคกลางตั้งแต่พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เพียงแค่นี้ซึ่งเป็นจุดอ่อนไหวที่สุดของภาคกลาง มีอะไรที่จะทำให้ประชาชนหายหวาดผวาจากภาวะน้ำท่วมแบบธรรมดาๆ ได้บ้าง

ไปเปิดดูแผนเดิมที่มีท่าทางขึงขังตั้งแต่ต้นปี 2558 พบว่าได้มีการตั้งงบประมาณและเงินกู้สำหรับโครงการตามแผนการจัดการทรัพยากรน้ำไว้ในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 119,452 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีเงินกู้รวมอยู่ด้วย 37,062 ล้านบาท ตามข้อมูลถึงเดือนกรกฎาคม 2560 นี้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 98,673 ล้านบาท หรือร้อยละ 83 ของงบที่ตั้งไว้ นี่คือเม็ดเงินที่ใช้ในเรื่องการป้องกันน้ำท่วมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ เพราะฉะนั้นรับทราบแล้วอย่าหาว่าไม่มีผลงานนะครับ

แต่เมื่อดูรายละเอียดของโครงการที่ใช้เงินจำนวนหนึ่งแสนล้านเศษข้างต้นแล้วกลับพบว่ามีการกระจายกันออกไปถึงกว่า 10 กรม เป็นเบี้ยหัวแตกไม่มีชิ้นดี เช่น งบที่ได้จัดสรรให้กรมทรัพยากรธรณี กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมแผนที่ทหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดี มีการจัดสรรให้ 2 กรมหลักมากหน่อยเป็นหลักกรมละหลายหมื่นล้าน คือ กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน แต่เมื่อดูรายละเอียดของโครงการแล้ว เช่น กรมชลประทานมีการจัดงบไปถึงกว่า 10 รายการ นับตั้งแต่ระบบผันน้ำ โครงการสำรวจออกแบบ งานเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบส่งน้ำชลประทาน ก่อสร้างฝาย ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และโครงการแก้มลิง เป็นต้น ดูๆ แล้วเห็นได้ชัดว่ากรมชลประทานเองโดยพื้นฐานได้งบไม่พอในทุกด้าน จึงต้องแจกงบกระจายออกไปให้งานละเล็กละน้อย จนดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

อยากจะถามว่า นี่หรือการจะพลิกโฉมการจัดการบริหารจัดการน้ำของไทยของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ทำเอกสารออกมาเหมือนรู้ปัญหาหมดทุกอย่าง มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการพร้อม เช่น จะทำการปรับปรุงทางน้ำสายหลักโดยกรมเจ้าท่ารวม 185 แห่ง ภายในปี 2569 จะทำแก้มลิงชะลอน้ำหลากขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ จำนวน 2 แห่ง ภายในปี 2564 เป็นต้น ซึ่งก็แปลว่าหากมีน้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นก่อนปี 2564 ก็ขอให้พึ่งสะดือลิงไปพลางก่อนก็แล้วกัน

เห็นโครงการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล คสช.ที่วางเป้าหมายไว้ดังกล่าวข้างต้นแล้วขอโปรดอย่าถามว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาล คสช.นี้ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในเรื่องป้องกันน้ำท่วมภาคกลางให้เบาใจได้ และอย่าได้คาดหวังว่าที่รัฐบาลนี้จะอยู่ต่อจากนี้ไปไม่เกินปีหน้า จะมีความสามารถทำอะไรในเรื่องนี้ออกมาให้ประชาชนชื่นใจได้บ้าง

หากดูตามการพยากรณ์ของผู้รู้จริงทางด้านน้ำท่วม ไม่ใช่ตามข่าวโซเชียลมีเดียว่าน้ำจะท่วมสูงเท่าตึก 4 ชั้น ผู้รู้ท่านนี้คือผู้ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการป้องกันอุทกภัยแห่งชาติ ท่านได้แสดงกราฟความน่าจะเป็นทางวิชาการให้เห็นว่าปี 2560 นี้จะไม่มีน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่ในปี 2563 มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นรัฐบาล คสช.จะไม่มีแล้ว ส่วนผู้ที่เคยร่วมรัฐบาลที่เหลืออยู่คงหูตึงหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์กันหมดแล้วก็ได้

เรื่องน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.นั้นสำคัญที่สุด เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศ เป็นเมืองที่มีพลเมืองจำนวนมากและหนาแน่นมากเท่าเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เป็นเมืองที่มีทรัพย์สินด้านต่างๆ มูลค่ามากที่สุดของประเทศ เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาก และนักธุรกิจทั้งคนไทยและต่างประเทศพำนักอยู่มากที่สุด อะไรๆ ก็มากที่สุด แต่ความสามารถในการดูแลบริหารจัดการทุกเรื่องของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำท่วมเท่านั้น เลวที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ที่ผ่านมาทำโครงการเกี่ยวกับการป้องกันอุทกภัยบ้างไม่กี่โครงการ แต่ดำเนินการแบบอืดอาดมาก

จริงๆ แล้วที่ควรจะทำมีมากมาย กลับทำไม่รู้ไม่ชี้ น้ำท่วมทีก็มีผู้ใหญ่ลุกจากโต๊ะทำงานมาดูที บริหารกันแบบนี้รู้หรือไม่ว่าอีกไม่นาน ลูกหลานจะต้องลุยน้ำปีละ 100 วัน เป็นอย่างน้อย

การจะทำโครงการป้องกันหรือทุเลาน้ำท่วมใน กทม.มีทั้งโครงการใหญ่และเล็ก โครงการใหญ่ใช้เงินมาก กทม.ไม่มีงบประมาณพอ จะคิดเอาแต่ของบประมาณจากรัฐบาลเรื่อยไปได้อย่างไร ต้องกู้เงินมาทำก่อนก็ต้องไปกู้มา แล้วค่อยปรับปรุงการเก็บภาษีให้เต็มประสิทธิภาพลดการทุจริตคอร์รัปชั่นรายวันที่ใครๆ เขาก็รู้ลงให้มาก

ส่วนจะโทษรัฐบาลว่าออกพระราชบัญญัติการเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สินล่าช้า ก็ขอให้โทษท่านนายกรัฐมนตรีไป เพราะมัวแต่โอ้เอ้ไม่เร่งรัดและเอาจริงเอาจังสักที ทำมา 3 ปียังไม่มีกฎหมายออกมา แต่หน้าที่ของ กทม.นั้น จะต้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ของธุรกิจเอกชน และนักท่องเที่ยวใน กทม. ทำอย่างไรให้ประชาชนเขาด่าน้อยลง

ก็ไหนปากพูดว่าจะปฏิบัติตามพระราชดำริ พูดแต่ปากแล้วไม่ทำ ระวังปากจะเปื่อยเพราะน้ำเน่าสักวัน

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image