“ดอน ปรมัตถ์วินัย” มอง 50 ปีอาเซียนกับความท้าทายในอนาคต

หมายเหตุ”มติชน” – ชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพิ่งร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เราจึงถือโอกาสพูดคุยกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายของอาเซียนในอนาคต

ความท้าทายมีอยู่เสมอเทียบเท่ากับโอกาสที่เราพูดกันมาตลอด ความร่วมมือของอาเซียนที่ผ่านมาเป็นการปูพื้นฐานในกระบวนการความร่วมมือต่างๆ (process oriented) แต่จากนี้ไปจะเป็นขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมขึ้น (action oriented) ในสารพัดเรื่องต่างๆ

ยกตัวอย่างเรื่องความมั่นคงซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งความมั่นคงในรูปแบบดั้งเดิม และประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย พลังงาน หรือกระทั่งประเด็นที่พบในช่วงนี้ อาทิ ทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี กลุ่มหัวรุนแรง

เป็นที่รับรู้กันว่าเรื่องทั้งหมดเป็นประเด็นความมั่นคงที่ต้องหาทางช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิด หรือหากเกิดแล้วต้องจัดการอย่างไร เราจะร่วมมือกันอย่างไร มีหลายมิติที่ต้องช่วยกัน ในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้นเพราะอาเซียนก็มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ นี่คือความท้าทายที่ต้องเจอ

Advertisement

อีกเรื่องคือสถานภาพของอาเซียน เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือใครต่อใรก็กำลังมาพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่ต้องรับรู้ และเป็นที่ยอมรับว่าอาเซียนมีสถานภาพพิเศษอยู่ในความสนใจของประเทศที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเรา

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ผู้นำของประเทศต่างๆ จะเดินทางมาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียน เราต้องรักษาสถานะนี้ต่อไปให้อาเซียนมีความน่าเชื่อถือ เพราะหากเราทำไม่ได้ ความต้องการที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนจะลดลง ประเทศใหม่ๆ ที่สนใจจะเข้ามาเป็นประเทศคู่เจรจากับอาเซียนก็จะลดลงด้วย เวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรืออีเอเอส เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งที่อาเซียนต้องรักษาไว้หรือทำให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับไทย เราอยู่กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก และอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ค่อนข้างมาก บทบาทของไทยในฐานะที่อยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์ และศูนย์กลางของความเชื่อมโยง ก็ล้วนเป็นสิ่งท้าทายสำคัญสำหรับไทยว่าเราจะเพิ่มมูลค่าให้กับมันได้อย่างไร

Advertisement

ความยั่งยืนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นความท้าทายสำหรับอาเซียน เพราะเรื่องต่างๆ ที่เรากำลังทำอยู่ สิ่งท้าทายคือไม่ใช่ทำแล้วค่อยๆ เหี่ยวแห้งไป แต่ต้องให้เกิดความยั่งยืน ทั้งหมดนี้อยู่ที่อาเซียนจะมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้ไม่แย่ลงแต่ต้องให้เข้มแข็งต่อไป

ที่สุดแล้วคนที่จะทำได้คือประชาชน คนของอาเซียนเองที่จะต้องเสริมสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และต้องทำให้มีแรงบวกเพิ่มขึ้นต่อไป ต้องส่งเสริมให้ทุกอย่างที่ดำเนินการอยู่ยั่งยืน

อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มมาตรฐานของเราให้สูงขึ้นให้ดีขึ้นตลอดเวลา เป็นภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ เราต้องยกมาตรฐานของเราให้เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งในด้านการศึกษา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพราะวันนี้โลกกำลังเปลี่ยนไปเข้าสู่โลกยุคดิจิตอล การเชื่อมโยงเป็นจุดสำคัญของยุคนี้

ประเทศไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเทศไทย 4.0 ส่งเสริมนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงระหว่างกันซึ่งเรากำลังดำเนินนโยบายในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนเพื่อรองรับเมกะโปรเจคที่จะเกิดขึ้น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) การเชื่อมโยงเข้ากับจีนและฮ่องกง เป็นต้น ทุกเรื่องที่ทำเป็นการเดินไปข้างหน้า สร้างความตื่นตัวให้เพิ่มมากขึ้น และยกระดับมาตรฐานของเราตามภารกิจของการสร้างประชาคมอาเซียนต่อไป

สิ่งที่ท้าทายและถือเป็นโอกาสคือต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ซึ่งไม่ใช่แค่ภายในประเทศแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานร่วมกันกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และภาคประชาสังคม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายต่างคนต่างทำ แต่ทั้งหมดต่างยึดถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชาติสมาชิกอาเซียน สุดท้ายทุกประเทศต้องทำงานร่วมกันและช่วยเสริมกันและกัน เดินหน้าไปพร้อมกันแบบไร้รอยต่อ ต้องถามตัวเองว่าทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไร

ถ้าเราเชื่อว่านี่เป็นเส้นทางสู่อนาคตก็จะเกิดความฮึกเหิมให้ทำต่อไป และทั้งหมดนี้ที่สำคัญที่สุดคือเอกภาพภายในอาเซียนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image