ปีหน้าไปดวงจันทร์ ใช้สมาร์ทโฟนโทรกลับบ้านได้

(ภาพ-ptscientists)

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่บริษัท “พาร์ท ไทม์ ไซนซ์ทิสตส์” (พีทีไซนซ์ทิสตส์) วางเอาไว้ นักบินอวกาศที่เดินทางไปลงยังพื้นผิวดวงจันทร์ปลายปี 2018 จะสามารถใช้สมาร์ทโฟนเพื่อโทรศัพท์กลับบ้านได้ เพราะจะมีการติดตั้งสถานีฐานสถานีแรกสุดสำหรับถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์ที่ใช้เทคโนโลยีแอลทีอี หรือเทคโนโลยี 4จี ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในเวลานี้สำหรับเป็นเครื่องมือถ่ายทอดข้อมูลกลับมายังโลก

คาร์สเตน เบคเกอร์ หัวหน้าแผนกพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์แบบฝังตัวของบริษัท เปิดเผยว่า สถานีฐานที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับบริษัทโวดาโฟน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรป โดยทางพีทีไซนซ์ทิสตส์ ได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างบริษัทสเปซเอ็กซ์ ไว้แล้วสำหรับการใช้จรวดส่งฟัลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ จัดส่งยานอวกาศ “อาลีนา” ของบริษัท เพื่อนำไปปล่อยไว้บริเวณจุดสูงสุดของ “วงโคจรค้างฟ้า” หรือ “จีโอสเตชันนารี ออร์บิท” ที่ระดับความสูง 42,000 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก โดยหลังจากนั้นอาลีนาจะเดินทางด้วยตัวเองต่อไปยังดวงจันทร์

เบคเกอร์กล่าวว่า เมื่อลงจอดบนดวงจันทร์แล้ว อาลีนาจะปล่อยยานออดี ลูนาร์ ควอโทร โรเวอร์ ยานโรเวอร์เพื่อสำรวจพื้นผิว 2 ลำ ที่พัฒนาร่วมกับบริษัทออดี ผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังให้เดินทางต่อไปยังจุดลงดวงจันทร์ของยานอพอลโล 17 ซึ่งถูกส่งจากโลกไปเมื่อปี 1972 และเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา โดยเป้าหมายก็เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวยานอพอลโล 17 บ้างหลังจากที่ถูกทิ้งไว้บนพื้นผิวดวงจันทร์นานถึง 45 ปี

เบคเกอร์ระบุว่า ยานโรเวอร์ทั้ง 2 ลำ จะสำรวจและส่งข้อมูลมายังยานอาลีนา เหมือนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน 2 เครื่องส่งข้อมูลกลับสถานีฐาน โดยยานอาลีนาจะทำหน้าที่ติดต่อโดยตรงกับหอบังคับการภาคพื้นดินของพีทีเอส และอธิบายเพิ่มเติมว่าการใช้โมเด็มแอลทีอีในการส่งข้อมูลกลับมายังโลกนั้นจะสิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่าและคุ้มประโยชน์กว่าวิธีการใช้การยิงสัญญาณจากโรเวอร์ติดต่อโดยตรงกับโลก เพราะตัวโรเวอร์แต่ละตัวมีพลังงานราว 90 วัตต์ ที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ ครึ่งหนึ่งจะถูกใช้เพื่อการขับเคลื่อน ถ้าใช้การติดต่อจากโรเวอร์โดยตรงมายังโลก ต้องใช้พลังงานอีกครึ่งที่เหลือทั้งหมด แต่การใช้แอลทีอีประหยัดได้มากกว่านั้นมาก

Advertisement

นอกจากนั้น ยังไม่มีปัญหาในการปรับจูนเสาอากาศของโรเวอร์อยู่ตลอดเวลาเพื่อสื่อสารกับโลก เพราะการปรับเสาอากาศดังกล่าวบนพื้นผิวเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนดวงจันทร์นั้นทำได้ยากมาก

พีทีเอสคาดหมายว่า ทั้งโรเวอร์และอาลีนาจะทำงานได้เพียงระยะสั้นๆ ไม่สามารถทนความเย็นจัดของกลางคืนบนดวงจันทร์ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากภารกิจนี้ จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสถานีฐานแอลทีอีถาวรหรือที่เหมาะกับการใช้งานระยะยาว ที่จะส่งขึ้นไปในปี 2020 เป้าหมายเพื่อใช้เป็นช่องทางบริการการสื่อสารบนพื้นผิวของดวงจันทร์ในอนาคตที่บริษัทตั้งเป้าจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าไปและกลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์ต่อไป

แผนงานพีทีเอส เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการจัดตั้ง “มูนวิลเลจ” หรือ “หมู่บ้านบนดวงจันทร์” ของสำนักงานอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ที่จะเป็นการจัดตั้งอาณานิคมในอวกาศแห่งแรกของโลกต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image