คอลัมน์ thinktank : ความวุ่นวายของทำเนียบขาวในรอบ 7 เดือน

REUTERS/Jonathan Ernst

เส้นทางสัญจรผ่านไปยังประตูทางออกของทำเนียบขาวสูงอย่างน่าประหลาดใจนับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มกราคม

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา การพ้นตำแหน่งของ สตีฟ แบนนอน หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาวเป็นรายล่าสุดในรอบ 7 เดือน ท่ามกลางความวุ่นวายในสำนักงานบริหารของประเทศที่มีอำนาจอิทธิพลสูงสุดในโลก

นี่เป็นการรวบรวมรายชื่อของผู้ช่วยรายสำคัญของทรัมป์ที่เข้ามาและจากไปนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา บางรายพ้นตำแหน่งไปก่อนที่ชาวอเมริกันจะรู้จักพวกเขาเสียอีก

ไมค์ ฟลินน์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ

Advertisement

ทรัมป์ปกป้องที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเขาอย่างแน่วแน่ แม้ว่าฟลินน์จะถูกไล่ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรองกลาโหมโดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอมามา เนื่องจากไม่เป็นที่น่าเชื่อถืออย่างร้ายแรงไปทั่วประชาคมข่าวกรอง ก็ตาม

ฟลินน์ดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 22 วันเท่านั้น โดยถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จากการที่เขาอาจให้การเท็จในเรื่องการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียในระหว่างการหาเสียง

คนต่อมาคือ ฌอน สไปเซอร์ เลขาธิการด้านสื่อ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นโฆษกของทำเนียบขาว ลาออกอย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังช่วงเวลา 6 เดือนอันอึกทึกครึกโครมที่เขาตกอยู่ในความสนใจเป็นอย่างสูง

สไปเซอร์ถือได้ว่าเป็น 1 ในผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้สั้นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์แต่ก็มีช่วงเวลาที่น่าจดจำอยู่ไม่น้อย

เรื่องที่โด่งดังที่สุุดเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว ถือเป็นการเริ่มงานการเป็นโฆษกทำเนียบขาวที่ไม่ราบรื่นนัก เพียง 1 วันหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สไปเซอร์ได้เรียกบรรดาผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาวมาต่อว่าโดยกล่าวหาว่าจงใจประเมินตัวเลขผู้เข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

“นี่เป็นจำนวนผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งทั้งการเข้าร่วมงานด้วยตนเองหรือรับชมจากทั่วโลกที่มากที่สุด” สไปเซอร์กล่าว “ความพยายามที่จะลดความน่าสนใจของการสาบานตนครั้งนี้น่าอายและเป็นเรื่องที่ผิด”

สไปเซอร์จบการแถลงข่าวครั้งนี้โดยไม่ตอบคำถามใดๆ ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาวจำนวนมาก

ภาพถ่ายทางอากาศหลายรูปเป็นหลักฐานที่ยืนยันให้เห็นเป็นอย่างดีว่า จำนวนผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีทั้ง 2 ครั้งของบารัค โอบามา มากกว่าของทรัมป์อย่างชัดเจน

ถัดมาคือไรน์ซ พรีบัส หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว โดยอดีตประธานพรรครีพับลิกันผู้ได้รับการคาดหมายว่าจะต้องจัดระเบียบทำเนียบขาวและควบคุมประตูสำนักงานของทรัมป์ แต่ก็ไม่สามารถจัดการความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทำเนียบขาวได้

ขณะที่ แอนโธนี สคารามูชี อดีตผู้อำนวยการโกลด์แมนแซคส์ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของทำเนียบขาว ดำรงตำแหน่งอยู่สั้นที่สุดมากกว่าเจ้าหน้าที่คนไหนๆ ในรัฐบาลทรัมป์ คือเพียงแค่ 10 วันเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image